ประวัติย่อ ‘วันเข้าพรรษา’ 2566 เปิดที่มาความสำคัญ ประเพณีไทย
เปิดประวัติ “วันเข้าพรรษา” ประจำปี 2566 ชวนรู้จักความเป็นมาของประเพณี วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของศาสนิกชนชาวไทย ตั้งแต่ครั้งโบรณกาลจวบจนปัจจุบัน
“วันเข้าพรรษา” ปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2566 หรือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่ต่อเนื่องมาจาก “วันอาสาฬหบูชา” (1 ส.ค. 66) ซึ่งประวัติวันนี้พระสงฆ์จะประจำอยู่ที่วัดใดวัดหนึ่งตลอดช่วง ฤดูฝน เริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (2 ส.ค. 66) ไปจนถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (29 ต.ค. 66)
นอกจากนี้ในวันเข้าพรรษาทุกปี ก็จะมีประเพณี พิธีการแห่เทียนพรรษา และ ประเพณีการหล่อเทียนพรรษา เพื่อให้สามารถใช้เป็นแสงสว่างได้นาน ตลอดช่วงฤดูฝนนั่นเอง
ประวัติ “วันเข้าพรรษา” ความสำคัญ
สำหรับประวัติแบบย่อ “วันเข้าพรรษา” หรือ “จำพรรษา” คือวันสำคัญที่พระสงฆ์เถรวาท จะทำการสวดมนต์อธิษฐาน ว่าจะพักประจำอยู่ที่แห่งหนึ่งช่วงฤดูฝน ตลอดระยะเวลา 3 เดือนตามที่พระวินัยปิฎกได้กำหนดบัญญัติไว้
การเข้าพรรษา นับเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรงไม่สามารถละเว้นได้ หากพระสงฆ์รูปใดไม่จำพรรษาถือว่าต้องอาบัติทุกกฎตามพระวินัย โดยปีนี้วันเข้าพรรษา ตรงกับวันพุธที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (หรือเดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน) และสิ้นสุดในวันออกพรรษา หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2566
สาเหตุของการกำหนดให้จำพรรษานั้น เกิดจากเมื่อครั้งที่ พระพุทธเจ้า ทรงอนุญาตให้มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งตรงกับช่วงฤดูฝน
เพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักจากการจาริกแสวงบุญ หรือการเดินทางไปเผยแผ่ศาสนายังสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งมีความยากลำบากในการเดินทางตลอดช่วงหน้าฝน และเพื่อการป้องกันความเสียหายจากการเดินเหยียบแปลงพืชการเกษตรของชาวบ้านในฤดูฝนนั่นเองครับ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าวันเข้าพรรษาจะเป็นหนึ่งในวันพระใหญ่ และวันสำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชนคนไทย แต่ก็ไม่ได้เป็นวันหยุดหน่วยงานเอกชน โดยล่าสุดทาง ครม. ได้แจ้งเพิ่มวันหยุดสำหรับข้าราชการและหน่วยงานรัฐบาลให้หยุดเพิ่มเติมในวันพุธที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2566 อีกด้วย
พิธีกรรมของพุทธศาสนิกชน อันเนื่องในวันเข้าพรรษานั้น
สำหรับพิธีกรรมของ พุทธศาสนิกชน จะมีการกระทำบุญตักบาตรกัน 3 วัน คือวันขึ้น 14 – 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 และขนมที่นิยมทำกันในวันเข้าพรรษาได้แก่ ขนมเทียน และท่านสาธุชนที่มีความเคารพนับถือพระภิกษุวัดใด ก็จัดเครื่องสักการะ เช่น น้ำตาล น้ำอ้อย สบู่ แปรง ยาสีฟัน พุ่มเทียน เป็นต้น นำไปถวายพระภิกษุวัดนั้น
ยังมีสิ่งสักการะบูชาที่พุทธศาสนิกชนนิยมกระทำกันเป็นงานบุญน่าสนุกสนานอีกอย่างหนึ่งคือ “เทียนเข้าพรรษา” บางแห่งจะมีการบอกบุญเพื่อร่วมหล่อเทียนแท่งใหญ่ แล้วแห่ไปตั้งในวัดอุโบสถ
เพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัยตลอด 3 เดือน การแห่เทียนจำนำพรรษาหรือเทียนเข้าพรรษาจัดเป็นงานเอิกเกริก มีฆ้องกลองประโคมอย่างสนุกสนาน และเทียนนั้นมีการหล่อหรือแกะเป็นลวดลายและประดับตกแต่งกันอย่างงดงาม
เทศการเข้าพรรษานี้ ถือกันว่าเป็นเทศกาลพิเศษ พุทธศาสนิกชนจึง ขะมักเขม้นในการบุญกุศลยิ่งกว่าธรรมดาบางคนตั้งใจรักษาอุโบสถตลอด 3 เดือน บางคนตั้งใจฟังเทศน์ทุกวันพระตลอดพรรษา มีผู้ตั้งใจทำความดีต่าง พิเศษขึ้น ทั้งมีผู้งดเว้นการกระทำบาปกรรมในเทศกาลเข้าพรรษา
คนอาศัยสาเหตุแห่งเทศกาลเข้าพรรษาตั้งสัตย์ปฏิญาณเลิกละอายมุกและความชั่วสามานย์ต่าง ๆ โดยตลอดไป จึงนับเป็นบุคคลที่ควรได้รับการยกย่องสรรเสริญและได้รับสิ่งอันเป็นมงคล
พิธีกรรมของสงฆ์ ก่อนจะถึงวันเข้าพรรษา
ทั้งนี้ พิธีกรรมของสงฆ์ ก่อนจะถึงวันเข้าพรรษา พระสงฆ์จะทำการซ่อมแซมเสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมให้อยู่ในสภาพที่ดีที่ใช้อยู่อาศัยได้ จัดการปัดกวาดหยากไย่ เช็ดถูให้สะอาด สาเหตุที่ต้องกระทำเสนาสนะให้มั่นคงและสะอาด ก็เพื่อจะได้ใช้บำเพ็ญสมณกิจในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาได้เต็มที่
พร้อมกับกล่าวอธิษฐานตั้งใจเพื่ออยู่จำพรรษา ตลอดฤดูฝนในวันของท่านที่ตั้งใจจะอยู่ คำกล่าวอธิษฐานพรรษาเป็นภาษาบาลีว่า
“อิมัสะมิง อาวาเส อิมัง เตมาสัง วัสสัง อุเปมิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าขออยู่จำพรรษาในวัดนี้ ตลอด ๓ เดือน”
โดยกล่าวเป็นภาษาบาลีดังนี้ 3 ครั้ง ต่อจากนั้นพระผู้น้อยก็กระทำสามีกิจกรรม คือ กล่าวขอขมาพระผู้ใหญ่ว่า “ขอขมาโทษที่ได้ล่วงเกินไปทางกาย วาจา ใจ เพราะประมาท”
ส่วนพระผู้ใหญ่ ก็กล่าวตอบว่า ลดโทษให้เป็นอันว่าต่างฝ่ายต่างให้อภัยกัน นับเป็นอันเสร็จพิธีเข้าพรรษาในเวลานั้น ครั้นวันต่อไปพระผู้น้อยก็จะนำดอกไม้ธูปเทียนไปกราบพระเถรานุต่างวัด ผู้ที่ตนเคารพนับถือ
อ้างอิง : 1