อดีตเจ้าของย้ำชัด “พลายศักดิ์สุรินทร์” ไม่ได้ถูกทรมาน ร่วมขบวนแห่งานเบากว่าลากซุง
ลูกสาวอดีตเจ้าของโพสต์เฟซบุ๊กร่ายยาว “พลายศักดิ์สุรินทร์” ไม่ได้ถูกทรมาน ยันช้างขบวนแห่งานเบากว่าลากซุง เปิดอีกมุมมองท่ามกลางกระแสปลุกปั่นช้างทรมานนับ 22 ปี
ตามต่อกับกรณี พลายศักดิ์สุรินทร์ ช้างไทยที่ถูกส่งมาเป็นทูตสันถวไมตรีให้กับศรีลังกา เมื่อ 22 ปีก่อน แต่ตอ่มาต้องถูกส่งตัวกลับประเทศไทยบ้านเกิดอีกครั้งเนื่องจากช้างถูกนำไปเดินในขบวนแห่ทางศาสนาจนขาซ้ายด้านหน้างอเข่าไม่ได้ และมีฝีขนาดใหญ่ด้านหลังทั้งสองแห่ง
ล่าสุด คุณพัชรพร คูกิจติเกษม บุตรสาวของ นายสมโรจน์ คูกิจติเกษม เจ้าของอาณาจักรพิพิธภัณฑ์ช้างจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นเจ้าของเดิมของพลายศักดิ์สุรินทร์ ได้โพสต์ข้อความชี้แจงถึงสาเหตุการมีบาดแผลของพลายศักดิ์สุรินทร์ ยืนยันว่า พระที่วัดศรีลังกาเมตตาช้างมาก และไม่ได้มีการทรมานช้างแต่อย่างใด แต่สาเหตุที่บาดเจ็บเพราะช้างมีอาการตกมัน และควาญคนใหม่ไม่มีความรู้ในการดูแลช้างมากเท่าควาญคนเก่าที่เสียชีวิตไป
ข้อความระบุว่า “อีกมุมมองนึง ท่ามกลางกระแสปลุกปั่น ว่า ช้างทรมานนับ 22 ปี เป็นเรื่องที่ผิดค่ะ โพสต์นี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำช้างกลับหรือไม่กลับ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของทางราชการ เพียงแต่อยากนำเสนอว่า พระที่วัดศรีลังกาเมตตาช้างมาก เมื่อช้างไปถึงศรีลังกาก็ได้รับการดูแลต้อนรับเลี้ยงดูอย่างดี อ่านให้จบนะคะ ยาวหน่อยแต่เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่บิดเบือน ว่าช้างกับศาสนาพุทธอยู่คู่กันมายาวนาน #พลายศักดิ์สุรินทร์ สาเหตุเกิดจากควาญช้างเก่าเสียชีวิต ควาญช้างใหม่ไม่รู้วิธีจัดการช้างตกมันที่ถูกต้อง จึงได้กลับมารักษาที่ไทย”
“ถ้าเทียบกับการเอาช้างไปลากซุงในไทย เรียกว่า #ช้างงาน ที่มีงาสั้นแล้ว การร่วมพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ เป็นงานเบาเลยนะคะ ปีนึงมีไม่กี่ครั้ง เช่นเดียวกับการในสุรินทร์ที่มีการบวชนาคช้าง ซึ่งเป็นการประกอบพิธีมงคลทางศาสนา ช้างที่เราเลี้ยงไว้เรียกว่า #ช้างบ้าน สังเกตุได้ว่างาช้างมีความสง่างามคงรูปเดิม เพราะถ้างานหนักแล้วนั้น งาไม่มีทางยาวสวยได้ขนาดนี้ งาช้างคือของรักของช้างเลยค่ะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ความบริสุทธิ์ เป็นมงคล จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าทางศรีลังกาดูแลช้างได้อย่างดี ไม่มีการใช้งานเยี่ยงทาส แต่”
“ขยายความเรื่องแผลและขาในช่วงหลัง ทราบว่าเกิดจากควาญช้างคนใหม่ที่ไม่รู้วิธีดูแลเหมือน #ควาญช้างเดิมที่เสียชีวิตไป และการจัดการให้ถูกต้องในขณะที่ #ช้างตกมัน ด้วยธรรมชาติของพลายศักดิ์สุรินทร์มีความเชื่อง แสนรู้ตั้งแต่ยังเล็ก (เหมือนวิดีโอวันส่งช้าง) แทบไม่จำเป็นต้องใช้ตะขอและโซ่ หากสื่อถึงกัน #ควาญชาวกูย มีวัฒนธรรมเลี้ยงช้างที่ควรค่าแก่การศึกษายิ่ง ช้างสุรินทร์จึงมีความแสนรู้ ฉลาด และเป็นเหมือนคนในครอบครัว แต่การตกมันของช้างพลายที่มีร่างกายอุดมสมบูรณ์มากในช่วงเจริญพันธุ์ (ทานอาหารจนอ้วนท้วนแล้วหงุดหงิดกลัดมัน) เป็นธรรมชาติสภาวะชั่วครั้งชั่วคราวในช้างพลาย ปีละ 1-3 ครั้ง หรืออาจเป็นได้ทั้งปีถ้าได้รับอาหารจนสมบูรณ์ ระยะเวลาของการตกมันอยู่ที่อายุของช้าง ถ้าเป็นวัยรุ่นจะตกมันบ่อยครั้ง และนานประมาณ 3 เดือน อันมีลักษณะของพฤติกรรมก้าวร้าวอย่างสูง และการหลั่งฮอร์โมนสืบพันธุ์มากผิดปกติ”
“ในขณะที่ช้างกำลังตกมันนั้น จะแสดงอาการดุร้าย และทำร้ายสิ่งที่ขวางหน้าทุกสิ่งทุกอย่าง นอกจากนั้นยังมีความจำเสื่อม จึงอาจทำร้ายควาญหรือเจ้าของได้ ดังนั้นควาญคนใหม่จึงควบคุมช้างไม่อยู่ เพราะขาดองค์ความรู้ในจุดนี้ และหากควบคุมในวิธีที่ผิด หนามยอกเอาหนามบ่ง จึงทำให้เกิดบาดแผลต่างๆ การจัดการที่ถูกต้องขณะช้างตกมัน นี่เป็น #คชศาสตร์ในการเลี้ยงช้าง ที่ต้องใช้ความรู้และความเข้าใจ ศาสตร์และศิลป์ เปรียบเทียบหากเด็กดื้อยังต้องถูกอบรม แต่อบรมวิธีไหนนั้น ต้องคำนึงถึงผลที่ตามมาค่ะ แม้แต่ที่ไทยเราก็ต้องกั้นเขตดูแลรักษาช้างตกมัน แยกจากคนและช้างเชือกอื่น”
“สุดท้ายนี้ขอท้าวความพระไตรปิฎกในศาสนาพุทธ มีตำนาน #ช้างปาลิไลยกะ ที่เลื่อมใสเข้ามาปรนนิบัตรองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งเมื่อล้มไปก็ได้เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ การแห่พระเขี้ยวแก้ว ที่ วัดพระเขี้ยวแก้ว หรือ วัดศรีทัลฒามัลลิกาววิหาร เป็นวัดในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท (สยามวงศ์) ตั้งอยู่ริมทะเลสาบกัณฏิ เมืองกัณฏิ หรือ แคนดี ประเทศศรีลังกา”
“เป็นวัดที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวาของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้รับขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก พระทันตธาตุเพียงองค์เดียว ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลังกา มีหลักฐานรองรับความถูก ต้องตรงตามพระคัมภีร์มหาวังศา”
“ด้วยว่าพระทันตธาตุหลังจากการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ และ นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 9 จึง ถือเป็นบุญแก่พี่ พลายศักด์สุรินทร์ และ พลายศรีณรงค์ ของเราชาวไทย ที่ได้รับใช้ในการประกอบพิธีทางพุทธศาสนา ประชาชนทั่วสารทิศได้กราบสักการะบูชาตลอดขบวนแห่นี้ กราบสาธุในหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ค่ะ”
“หลังจากนี้เราขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธ์ ครูปะกำ เทวด้า และบรรดาบรรพชนหมอช้างชาวกูย ดลให้พลายศักดิ์สุรินทร์มีชีวิตที่มีความสุข รับการรักษากาย สบายใจในการคุ้มครองของสภาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ขอให้พลิกวิกฤตินึ้เป็นแสงนำทางให้คนไทยช่วยกัน #อนุรักษ์ช้าง”
“ตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์สัญลักษณ์ของประเทศไทย ให้ช้างในไทยทุกเชือกอยู่ดีมีสุข ได้รับ การอนุรักษ์และการจัดการที่ถูกต้อง ต่างมุมมอง ต่างความคิด ต่างวัฒนธรรมประเพณี ศาสนา และความเชื่อ ใครมีความคิดเห็นใดช่วยกันผลักดันด้วยถ้อยคำที่เป็นประโยชน์นะคะ เคสนี้เห็นได้ว่าคนไทยรักช้างมากจริงๆ ไม่แพ้เราที่เป็นเจ้าของช้างที่คลุกคลีกับช้างตั้งแต่เล็ก ขอบคุณที่อ่านจบนะคะ”.
- บุญของ พลายศักดิ์สุรินทร์ ในหลวง ทรงรับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์
- พลายศักดิ์สุรินทร์ แกว่งหัวไปมา มีความสุขมาก
- เปิดเลขเครื่องบิน ขน พลายศักดิ์สุรินทร์.