ข่าวการเมือง

หน้าที่ ‘ประธานสภา’ สำคัญแค่ไหน ก้าวไกล-เพื่อไทย ทำไมถึงต้องการเป็น

ไขสงสัย หน้าที่ประธานสภา สำคัญอย่างไรในรัฐสภา ชนวนทำ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ฝ่ายประชาธิปไตย ก้าวไกล และ เพื่อไทย หาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้เสียทีเพื่อครองตำแหน่งนี้

ตำแหน่ง ประธานสภา สำคัญอย่างไร ทำไมก้าวไกล-เพื่อไทย ต้องการครอง

ประธานสภา หรือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร คือ บุคคลที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา โดยประเทศไทยซึ่งใช้ระบบสภาคู่ ดังนั้นจึงต้องมีทั้งประธานรัฐสภาและรองประธานรัฐสภา

โดยให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ส่วนประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา แต่มีเงื่อนไขแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

1. กรณีไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาได้ ให้ประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานรัฐสภาแทน

2. กรณีไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้รองประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ถ้าไม่มีรอง ประธานวุฒิสภา ให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งมีอายุมากที่สุดในขณะนั้นทำหน้าที่ประธานรัฐสภาและให้ดำเนินการ เลือกประธานวุฒิสภาโดยเร็ว

หน้าที่ประธานสภามีอะไรบ้าง

ประธานสภา มีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญดังต่อไปนี้

1. เป็นประธานของที่ประชุม โดยประธานรัฐสภาจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง

2. ควบคุมและดำเนินกิจการของรัฐสภา

3. รักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุม

4. เป็นผู้แทนสภาในกิจการภายนอกสภา

5. มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการเพื่อดำเนินกิจการต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อสภา

6. มีหน้าที่และอำนาจอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

หน้าที่ประธานสภา
ภาพจาก : www.thaigov.go.th

คุณสมบัติประธานสภา

ผู้ที่สามารถดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

1. เป็นผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อยู่ในปัจจุบัน

2. เป็นผู้ที่ไม่มีตำแหน่งในพรรคการเมืองใด รวมถึงไม่เป็นกรรมการบริหารของพรรคการเมืองใด ๆ

3. เป็นผู้ที่ไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ๆ เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี รวมถึงรับราชการทางการเมือง

ขั้นตอนเลือกประธานสภา

ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 หมวด 1 ระบุขั้นตอนการเลือกประธานสภาและรองประธานสภา ว่าต้องดำเนินการทั้งหมด 5 ขั้นตอน ดังนี้

1. เลือกประธานสภาชั่วคราว โดยให้สมาชิกที่มีอายุสูงสุดในที่ประชุมรับหน้าที่ ประธานสภาชั่วคราว เพื่อดำเนินการเลือกประธานสภาและรองประธานสภา รวมถึงดำเนินการประชุมวาระอื่น ๆ ที่ต้องปรึกษาหารือในการประชุมครั้งนี้ทั้งหมด

2. ออกเสียงเลือกประธานสภา โดยให้สมาชิก ส.ส. แต่ละคนเสนอชื่อประธานสภาเพียง 1 ชื่อ โดยการเสนอนั้นจะต้องมี ส.ส. ร่วมรับรองชื่อไม่น้อยกว่า 20 คน

3. ส.ส. ผู้ถูกเสนอชื่อ ออกมากล่าววิสัยทัศน์ต่อการดำรงตำแหน่งประธานสภา หากได้รับเสนอ 1 ชื่อ ผู้นั้นก็จะได้ตำแหน่งประธานสภาไป แต่หากเสนอมากกว่า 1 ชื่อ จะต้องมีการลงคะแนนลับ

4. ประธานสภาชั่วคราว ประกาศชื่อผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานสภา จากนั้นเลือกรองประธานสภาต่อ โดยใช้วิธีเช่นเดียวกับการเลือกประธานสภา

5. หลังจากเลือกประธานสภาและรองประธานสภาได้แล้ว เลขาธิการจะทำหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป

เลือกประธานสภา 2566 วันไหน

การเลือกประธานสภาของรัฐบาลชุดปัจจุบัน 2566 จะมีขึ้นในวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 เวลาประมาณ 09.00 – 09.30 น. ต่อจากวันที่ 3 กรกฎาคม ซึ่ง ส.ส. ชุดปัจจุบันจะเข้าสภาวันแรก เพื่อประกอบรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภา เวลา 17.00 น.

สำหรับการชิงเก้าอี้ประธานรัฐสภาคนล่าสุด ที่จะมารับไม้ต่อจาก พรเพชร วิชิตชลชัย รักษาการประธานสภาที่ทำหน้าที่แทน ชวน หลีกภัย ซึ่งเป็นประธานสภาคนที่ 31 จะเป็น หมออ๋อง ปดิพัทธ์ สันติภาดา แคนดิเดตประธานสภาก้าวไกล หรือจะเป็น สุชาติ ตันเจริญ แคนดิเดตประธานสภาเพื่อไทย ประเด็นนี้ยังคงจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป

ข้อมูลจาก : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

Lalita C.

นักเขียนคอนเทนต์ SEO แห่งทีมไทยเกอร์ไทย คลุกคลีกับการเขียนตั้งแต่สมัยเรียน ชอบการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ติดตามข่าวสารจากโลกออนไลน์ นำมาสรุป เล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย ผ่านมุมมองน่าสนใจที่คนมักจะมองข้าม ทั้งข่าวบันเทิง บทความ งานเขียนแนวไลฟ์สไตล์ รวมถึงทุกอย่างที่อยากให้นักอ่านได้รู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button