ชาวเน็ตขุด ‘ปดิพัทธ์’ ตัวแทนชิงประธานสภาก้าวไกล งดออกเสียง ‘สมรสเท่าเทียม’
ชาวเน็ตขุด ปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือ หมออ๋อง ตัวแทนชิงประธานสภาก้าวไกล งดออกเสียงให้ สมรสเท่าเทียม เผยเหตุผล
ชาวเน็ตได้ตั้งคำถามในสื่อสังคมออนไลน์ หลังจากที่พรรคก้าวไกลเสนอชื่อ ปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือ หมออ๋อง ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 ในฐานะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล สัดส่วนภาคเหนือ เป็นประธานสภา
โดยชาวเน็ตขุดขึ้นมาว่า หมออ๋อง เคยงดออกเสียงสมรสเท่าเทียม ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่พรรคก้าวไกลผลักดันเป็นอย่างมากหากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
หมออ๋อง ปดิพัทธ์ เคยกล่าวในไลฟ์สดหลังงดออกเสียงว่า “ก่อนอื่นต้องขอโทษทุกท่านที่ผิดหวังและโกรธกับการตัดสินใจของผม ความรู้สึกเหมือนเป็นวันดีๆ ของชาว LGBTQ และคนที่สู้เรื่องนี้อย่างยาวนานที่จะฉลอง
แต่เกิดเรื่องหงุดหงิดต่อการที่ผมงดออกเสียง ขอโทษอย่างเป็นทางการที่ไม่ได้เป็นเสียงของท่านในสภาด้วยการงดออกเสียง ทำให้ผิดหวัง โกรธ รู้สึกงุนงงว่าจะยังไง ไม่มีปัญหาเลยที่จะมีคนด่าทอต่างๆ รู้ว่าสู้มาขนาดไหน รู้ว่าโดนอะไรมาบ้าง
นายปดิพัทธ์กล่าวอีกว่า เรียนด้วยความตรงไปตรงมาว่าผมมีทางเลือกอยู่ 2-3 อย่าง คือต้องลาป่วยไปเลย แต่คิดว่าการทำแบบนั้นขี้ขลาด ไม่กล้าเผชิญหน้าความจริง จึงเลือกมา พอมาแล้วอยู่เงียบๆ แล้วโหวตให้จบก็ได้ แต่ผมตัดสินใจอภิปราย เหตุผลที่อภิปรายคือตอนนั้นมี 3 โทน โทนสนับสนุน โทนขัดแย้ง แต่โทนที่ขัดแย้งเป็นโทนเดียวคือไม่เห็นด้วย 10 เปอร์เซ็นต์
โดยอ้างหลักคำสอนของศาสนา ซึ่งรุนแรง พอผมนั่งฟังอยู่คิดว่าถ้ารัฐสภาเป็นพื้นที่แทนประเทศ ก็ควรมีเสียงของคริสเตียนด้วย ผมจึงตัดสินใจลุกขึ้นพูด และพูดตรงๆ ว่าผมซัพพอร์ตการที่กฎหมายจะเป็นแบบที่หากทุกศาสนาจะเสมอภาคกัน จะต้องทำให้กฎหมายไม่มีศีลธรรมของศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาเป็นตัวกำหนด แม้แต่ในรัฐธรรมนูญด้วย เพื่อเราจะไม่เป็นรัฐศาสนา ซึ่งตอนนี้เราเป็นรัฐศาสนากลายๆ
นายปดิพัทธ์กล่าวอีกว่า “กฎหมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องการค้าประเวณีถูกกฎหมาย ผมก็เป็นที่ปรึกษา กมธ.ชุดเดียวกับครูธัญ เพื่อผลักดันให้ถูกกฎหมาย เรื่องหนังโป๊ เซ็กซ์ทอย ทำให้ถูกกฎหมาย ประเด็นคือในวงการคริสเตรียน เมื่อเซอร์เวย์ทั่วโลกแล้วมีเรื่องเป็นตายกับผ่านไปเรื่อยๆ โดยเรื่องที่ค่อนข้างเป็นตายสรุปแล้วมีอยู่ 2 เรื่อง คือ การทำแท้ง และ การสมรสของเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่แตกหักกันอยู่ในหลายประเทศ
ประเด็นนี้ผมพร้อมรับผลที่ตามมา เมื่อโหวตไปก็มีผลตอบรับที่ไม่ดีแน่นอน พอเราคิดอย่างนี้ได้ คิดว่าวาระ 1 จำเป็น การลงมติในสภามีการลงบันทึกตลอดไป อาจเป็นตราบาปของผมก็ได้ แต่มันจะได้เป็นบันทึกไว้ว่าคริสเตียน 1 คน หรือ 1 เปอร์เซ็นต์ ออกความคิดเห็นเรื่องนี้ ตอนนี้กลายเป็นว่าเรื่องเสรีอื่นๆ ที่เราจะผลักดันต่อ คนจะพูดว่าผมจะพูดดีไปเท่าไหร่ก็แค่นั้น เมื่อผมกดก็แปลว่าไม่เห็นด้วย แต่ผมกดงดออกเสียง งดออกเสียงคือผมเห็นด้วย แต่เห็นข้อห่วงกังวลที่จะทำให้รับหลักการที่ 1 ไม่ได้
หมออ๋องกล่าวว่า ประเด็นคือเราจะไปทำงานต่อในวาระ 2 และ 3 จากนั้นเนื้อหาในการที่ผมจะทำงานก็จะไปอยู่ในรายมาตรา ผมก็จะพูดในสิ่งที่ผมเชื่อและอภิปรายไปในวาระ 1 คือจะเน้นเรื่องสิทธิทางแพ่งต่างๆ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน”