ไฟเขียว “ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลือง” 15-45 บาท เริ่มเก็บ 3 กรฎาคม 66
ชัดเจนแล้วสำหรับค่ารถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่จะเริ่มเก็บเดือนหน้า 3 กรกฎาคม คนที่ใช้บริการต้องจ่ายสถานีละกี่บาท ล่าสุดวันนี้ 27 มิถุนายน 2566 มติคณะรัฐมนตรีวันนี้ (ครม.) เห็นชอบการกำหนดอัตราค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง (MRT) ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร เริ่มต้น 15-45 บาท โดยออกเป็น
เคาะแล้ว อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลือง 15-45 บาท มีเฮ จ่ายแรกเข้าเพียงครั้งเดียว เชื่อมต่อ 4 สาย
ในร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวม 5 ฉบับ รถไฟฟ้าสายสีเหลืองในปัจจุบันมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 4 แห่ง และมีการจัดเก็บค่าแรกเข้าต่างกัน แต่ในร่างข้อบังคับกำหนดให้ผู้ที่เปลี่ยนถ่ายระบบรถไฟฟ้าของรฟม. จะได้รับส่วนลดค่าแรกเข้าระบบภายใต้การจัดเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว
“ตัวอย่างการเดินทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้าในจุดต่าง ๆ ทั้ง 4 จุดของสายสีเหลือง ที่ รฟม.ดูแลอยู่จะไม่คิดค่าแรกเข้าเพิ่มเติม ส่วนกรณีเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างรถไฟฟ้าของรฟม. กับรถไฟฟ้าสายอื่น นอกความรับผิดชอบของรฟม. ก็ให้คณะกรรมการ รฟม. ประกาศระยะเวลาสูงสุดของการเปลี่ยนถ่ายระบบ ถ้าเชื่อมต่อในระยะเวลาที่กำหนดก็ไม่คิดค่าแรกเข้า เช่น ถ้าเข้ามาใช้บริการภายใน 30 นาทีก็ได้ส่วนลดค่าแรกเข้า” นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
ส่วนลดค่าเดินทางสำหรับนักเรียน-นักศึกษาที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
ขณะเดียวกันยังกำหนดหลักเกณฑ์ส่งเสริมการเดินทางส่วนลดกลุ่มบุคคล เช่น นักเรียน นักศึกษา ส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบตามประเภทผู้ถือบัตร การจัดทำโปรโมชัน กิจกรรมทางการตลาด การจำหน่ายตั๋วรายเดือน ตั๋วแบบชุด ตั๋วราคาพิเศษ ความร่วมมือกับพันธมิตร สวัสดิการพนักงาน และการสนับสนุนนโยบายภาครัฐ ทางคณะกรรมการ รฟม. จะไปพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารที่ต่ำกว่าค่าโดยสาร หรือยกเว้นค่าโดยสารตามที่กำหนดในข้อบังคับ เพื่อส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดหลักเกณฑ์อื่นเพื่อสนับสนุนกิจกรรมพิเศษ เช่น งานเฉลิมฉลองพระราชพิธี คณะกรรมการ รฟม. จะไปพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารที่ต่ำกว่าค่าโดยสาร หรือยกเว้นค่าโดยสารตามที่กำหนดในข้อบังคับได้เป็นครั้งคราว
สำหรับการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ซึ่งเริ่มต้น 15-45 บาทนั้น จะเริ่มจัดเก็บตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป
นายอนุชา กล่าวว่า ในส่วนของร่างข้อบังคับที่เหลืออีกจะเป็นเรื่องการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และกำหนดบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสาร สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง โดยเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมถึงการเปลี่ยนถ่ายระบบกับรถไฟฟ้าสายอื่น เช่น สายสีน้ำเงิน จะคงอัตราค่าโดยสารไว้ที่ 17-43 บาท ส่วนสายสีม่วง คงอัตราค่าโดยสารไว้ที่ 14-42 บาท
นอกจากนี้ยังมีร่างข้อบังคับการกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม โดยให้ส่วนลดกรณีการเปลี่ยนถ่ายระบบภายใต้การจัดเก็บค่าแรกเข้าภายในครั้งเดียว ซึ่งเป็นการแก้ไขระเบียบเดิมที่มีอยู่ ขณะเดียวกันยังมีเรื่องของการจัดเก็บอัตราค่าจอดรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ รวมถึงค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ตามจุดจอดรถ ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎหมายฉบับเดิมให้มีความทันสมัยมากขึ้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รวมพิกัด รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ทั้ง 23 สถานี มีแลนด์มาร์กอะไรบ้าง
- เปิดราคา ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลือง MRT ครบทั้ง 23 สถานี
- รถไฟฟ้าสายสีเหลือง เปิดบริการเที่ยวสุดท้ายถึงเที่ยงคืน คนเลิกงานดึกมีเฮ