รู้ทัน ‘มะเร็งลำไส้ใหญ่’ โรคร้ายคร่าชีวิต ‘ณรงค์ศักดิ์’ ผู้ว่าหมูป่า
กรมการแพทย์ แนะวิธีเลี่ยงเสี่ยงเป็น มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคร้ายคร่าชีวิต ผู้ว่าณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร หรือ ผู้ว่าหมูป่า ชี้สัญญาณเตือน
เหลือไว้เพียงผลงาน สำหรับการเสียชีวิตของ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี อดีตหนึ่งในผู้ให้ความช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมหมูป่า ติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เมื่อปี 2561 เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2566 ด้วยโรค มะเร็งลำไส้ใหญ่
สำหรับการเสียชีวิตของ ผู้ว่าณรงค์ศักดิ์ สร้างความตื่นตัวให้ประชาชน หันมาสนใจในเรื่องของสุขภาพ และโรคมะเร็งกันมากขึ้น โดยเฉพาะพ มะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่เป็นโรคมะเร็งอันดับต้น ๆ ที่เกิดขึ้นกันคนทั้งโลก ส่วนใหญ่มากจากวิถีชีวิต และอาหารการกิน จนเมื่อล่าสุด กรมการแพทย์ ได้ออกมาแนะนำวิธีเลี่ยง เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งร้ายชนิดนี้
รู้ทัน มะเร็งลำไส้ใหญ่ รู้ก่อนป้องกันได้ เพียงปรับการกิน
มะเร็งลำไส้ใหญ่ และไส้ตรง เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับต้น ๆ ของหลายประเทศทั่วโลก ด้วยวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของประชากรส่งผลให้แนวโน้มอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำมาสู่สาเหตุการตายและปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี
สำหรับประเทศไทย มะเร็งลำไส้ใหญ่ และไส้ตรง เป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบมากในคนไทย มีอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นทุกปี ปัจจุบันพบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง
สาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณลำไส้ส่วนปลาย แบ่งออกเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ช่วงแรก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนท้าย ยังไม่ทราบสาเหตุในการเกิดที่แน่ชัด แต่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาหาร สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตประจำวัน
การรับประทานอาหารที่ให้พลังงาน ไขมันและน้ำตาลสูงซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเป็นสาเหตุของโรคอ้วน และพบว่าผู้ที่เป็นโรคอ้วนจะมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ มากกว่าคนปกติประมาณ 1.2 เท่า ปัจจัยเสี่ยงอื่นคือ ผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปี มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่า 2 คนขึ้นไป เคยมีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ เคยเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง และการสูบบุหรี่
สถานการณ์ มะเร็งลำไส้ใหญ่ ในประเทศไทย
แพทย์หญิงนภา ศิริวิวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันวิถีชีวิตของคนไทย เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากโดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภค เช่น อาหารไขมันสูง อาหารฟาสต์ฟู้ดต่าง ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น การกินอาหารปิ้งย่างไหม้เกรียม อาหารจากน้ำมันทอดซ้ำ และเนื้อสัตว์แปรรูป ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรค อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การขาดการออกกำลังกาย การมีภาวะอ้วนน้ำหนักเกิน ตลอดจนการมีประวัติครอบครัวหรือตนเองเป็นติ่งเนื้อในลำไส้ เป็นต้น
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เริ่มจากการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ (polyp) และพัฒนาจนเป็นมะเร็งโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 10-15 ปี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงมักจะไม่มีอาการในระยะเริ่มแรกของโรค จะมีอาการก็ต่อเมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจนถึงระยะสุดท้าย ส่งผลทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
อาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
อาการมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่พบในระยะแรกคือ มีมูกเลือดปะปนมากับอุจจาระ โดยจะสังเกตได้ว่าอุจจาระมีสีคล้ำคล้ายสีของเลือดหมู หรือมีลักษณะการถ่ายอุจจาระที่ผิดปกติ อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่อื่น ๆ
- อุจจาระเหลวกับอุจจาระแข็งสลับกัน บางครั้งเหมือนถ่ายไม่หมด
- เลือดปนอุจจาระ
- อุจจาระลำเล็กกว่าปกติ
- ท้องอืดแน่นท้องตลอดเวลา
- น้ำหนักลด
- อาเจียน
- ในระยะที่รุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นท้อง ท้องอืด ปวดท้อง อาเจียน อ่อนเพลีย และน้ำหนักลดลงผิดปกติ
การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่
สำหรับการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของโรค และระยะเวลาการฟักตัว รวมถึงความพร้อททั้งด้านสภาพร่างกายที่การเงินของผู้ป่วย โดยวิธีการรักษาที่ดีที่สุดคือ การผ่าตัดเอาลำไส้ส่วนที่มีก้อนมะเร็งออก มีโอกาสหายได้สูงกว่าการใช้ เคมีบำบัดหรือการฉายรังษี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของแพทย์
อย่างไรก็ตาม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และไส้ตรง เป็นมะเร็งที่สามารถตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรกได้ ส่งผลให้การรักษาได้ผลดีและมีโอกาสหายจากโรคสูง
ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระปีละครั้ง หากผิดปกติควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ กรณีพบติ่งเนื้อหรือความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าวเพื่อวินิจฉัยต่อไป.
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมการแพทย์