แบบทดสอบ OCD เช็กอาการโรคย้ำคิดย้ำทำ ยิ่งคิดยิ่งกังวลใจ คุณเข้าข่ายหรือไม่
แจกบททดสอบ OCD เช็กอาการย้ำคิดย้ำทำ คุณมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำจากการทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ เพื่อลดความไม่สบายใจหรือไม่
โรคย้ำคิดย้ำทำ หนึ่งในโรคที่สามารถพบได้ในร้อยละ 2-3 ในประชากรทั่วไป มีโอกาสพบได้ทั้งชายและหญิง ซึ่งเกิดจากความคิดซ้ำๆ ที่ทำให้เกิดความกังวลใจ ย้ำแล้วย้ำอีก ในวันนี้ The Thaiger จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับแบบทดสอบ OCD การทำแบบสอบถามเพื่อเช็กอาการ OCD ให้หายกังวลใจ รวมทั้งเปิดที่มาโรคย้ำคิดย้ำทำ เกิดจากอะไร มีวิธีการเช็กตัวเองอย่างไรบ้าง ถ้าพร้อมแล้วมาดูไปพร้อม ๆ กันเลย
แบบทดสอบ OCD คืออะไร
แบบทดสอบ OCD เป็นเครื่องมือประเมินตนเองที่สามารถใช้เพื่อระบุว่าคุณเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำหรือไม่ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการประเมินผ่านการทำแบบทดสอบด้วยคำถาม หากได้คะแนนสูงในแบบสอบถามไม่ได้หมายความว่าท่านจะต้องเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ ต้องเป็นการประเมินผลโดยผู้เชี่ยชาญทางการแพทย์เท่านั้นจึงจะรุบุได้ว่าท่านเป็นโรค OCD หรือไม่
การทดสอบโรคย้ำคิดย้ำทำ จะเป็นการทดสอบผ่านแบบสอบถาม เพื่อประเมินอาการเบื้องต้นว่าคุณมีความรุนแรงของอาการ OCD มากน้อยเพียงใด สามารถเข้าไปทำแบบทดสอบ OCD เพื่อเช็กอาการกันได้ที่ rama.mahidol.ac.th จากนั้นเราจะมาดูกันว่าโรคดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร มีวิธีการรักษาเบื้องต้นได้อย่างไรบ้าง
โรคย้ำคิดย้ำทำ เกิดจากอะไร
โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ Obbessive-Complusive Disorder (OCD) เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีความคิดซ้ำ ๆ ที่ทำให้เกิดความกังวลใจ และมีการตอบสนองต่อความคิด ด้วยการทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ เพื่อลดความไม่สบายใจที่เกิดขึ้น ซึ่งบางทีอาจเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล แต่ผู้ป่วยก็ไม่สามารถหยุดความคิดและการกระทำดังกล่าวได้ ทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานกับอาการดังกล่าว
หลายคนอาจจะสงสัยว่าโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) เกิดจากอะไร สาเหตุของการเกิดอาการดังกล่าว มักมาจากการทำงานของสมองส่วน Orbitoforntal cortex, Cingulate cortex, Caudate และ Thalamus ที่มากเกินกว่าปกติ รวมถึงความผิดปกติในระบบซีโรโตนิน ที่ส่งผลต่อการควบคุมถาวะอารมณ์ความรู้สึก
นอกจากนี้ โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) อาจเกิดได้จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือปัจจัยสภาพแวดล้อมอย่างประสบการณ์เลวร้ายที่พบเจอในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงต่าง ๆ ที่เคยเจอในชีวิต หรือปัญหาชีวิตรุนแรงก็ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน
อาการหรือพฤติกรรมของโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) มีอะไรบ้าง
1. ความรังเกียจต่อสิ่งสกปรกแปดเปื้อน (Contamination)
อาการย้ำคิดชนิดนี้ พบได้มากที่สุดในผู้ป่วยโรค OCD เนื่องจากสิ่งแปดเปื้อนมักเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงในชีวิตประจำวันได้ยาก ไม่ว่าจะเป็น อุจจาระ ปัสสาวะ เชื้อโรค หรือฝุ่น เมื่อผู้ป่วยสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความรู้สึกรังเกียจหรือกังวลเป็นอย่างมาก จนทำให้เกิดอาการล้างมือซ้ำ ๆ จนมือเปื่อยลอก หรือไม่อยากออกไปเจอโลกภายนอกเพราะกลัวเชื้อโรค
2. ความสงสัย (Pathological Doubt)
ความสงสัยมักเป็นม่อเกิดความกลัวที่จะเกิดเรื่องร้าย ๆ ขึ้น เช่น สงสัยว่าตนเองล็อกประตูบ้านแล้วหรือไม่ สงสัยว่าปิดแอร์แล้วหรือยัง เมื่อเกิดการสงสัยในสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดพฤติกรรมกลับไปตรวจสอบซ้ำ ๆ บางท่านอาจต้องตรวจเช็ก 3 รอบถึงออกจากบ้านได้ ถ้าหากยังไม่ตรวจเช็กให้ถี่ถ้วนจะเกิดความกังวลอย่างมาก
3. ความคิดที่น่ารังเกียจผุดขึ้นมา (Intrusive Thought)
อาการย้ำคิดย้ำทำประเภทนี้ มักเกี่ยวกับความรุนแรงหรือเรื่องทางเพศซ้ำ ๆ เช่น คิดว่าตนเองไปทารุณกรรมสัตว์หรือไม่ คิดว่าตนเองไปล่วงละเมิดทางเพศคนอื่นหรือไม่ อาการย้ำทำจึงแสดงออกมาในลักษณะการถามว่าตนเองได้ทำไปหรือไม่ การสารภาพผิดซ้ำ ๆ เพื่อให้คนรอบตัวปลอบใจลดความรู้สึกผิด
4. ความสมมาตร (Symmetry)
อาการย้ำคิดชนิดนี้ เป็นลักษณะที่ผู้ป่วยต้องการความแม่นยำอย่างมาก เช่น ต้องวางของแบบนี้ ตรงนี้ เคลื่อนไปจากจุดเดิมไม่ได้ หรือสองข้างต้องเท่ากัน ถ้าไม่เท่ากันก็ต้องทำให้เท่ากัน จึงจะปล่อยผ่านไปได้ ทำให้ผู้ป่วยทำอะไรช้าไปหมด เช่น กินอาหาร หรือโกนหนวด ก็จะใช้เวลาเป็นชั่วโมง
วิธีการเช็กตัวเอง ที่เป็นอยู่ใช่โรคย้ำคิดย้ำทำหรือไม่
หากคุณยังไม่แน่ใจว่านิสัยชอบทำอะไรซ้ำ ๆ เข้าข่ายโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) หรือเปล่า ให้ลองพิจารณาดูว่า หากการย้ำคิดย้ำทำนั้นเริ่มกระทบกับชีวิตประจำวัน สร้างความวิตกกังวล ไม่สามารถหยุดคิดได้ หรืออาจมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป และที่สำคัญอาการย้ำคิดย้ำทำ มักจะทำให้ท่านต้องเสียเวลาโดยไม่จำเป็นกับพฤติกรรมดังกล่าวมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวันด้วย
สำหรับใครที่เข้าข่ายพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้น สามารถลองทำแบบทดสอบโรคย้ำคิดย้ำทำ เพื่อพิจารณาว่ามีแนวโน้มเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ควรรีบไปพบแพทย์และหาทางรักษาต่อไป เพื่อรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง หรือรับการบำบัดจากนักจิตบำบัด อาการย้ำคิดย้ำทำจะบรรเทาลงและสามารถควบคุมได้
ขอบคุณข้อมูลจาก – คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล