WHO เตือนภาวะโลกร้อน ทำให้โรคเกี่ยวกับยุง เสี่ยงระบาดหนักขึ้น

องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกคำเตือน สภาพอากาศและอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น ทำให้ โรคที่มียุงเป็นพานะ มีความเสี่ยงที่จะระบาดหนักมากขึ้น!
อากาศที่ร้อนขึ้น ทั้งจากปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การเผา และการใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุใหญ่ของโรคที่มียุงเป็นพาหะ เช่น ไข้เลือดออก ไข้ซิกา และชิคุนกุนยา ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกจนล่าสุด องค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องออกมาประกาศเตือนถึงภัยแฝง ที่คนทั้งโลกอาจมองข้าม
จากการศึกษา ระบุว่าการติดโรคที่เกิดจาก ยุงเป็นพาหะ ทั้งไข้เลือดออก, ไข้ซิกา และชิคุนกุนยา จะสามารถแพร่ระบาดได้ดีในสภาพอากาศแบบร้อน และกึ่งร้อน โดยเฉพาะในสภาวะโลกร้อนที่กำลังรุนแรงขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา
ตามรายงานระบุว่าผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นจากกว่าครึ่งล้านคนทั่วโลกในปี 2543 เป็น 5.2 ล้านคนในปี 2562 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรโลกกำลังเสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่พบได้บ่อยที่สุดซึ่งแพร่กระจายจากยุงสู่คน โดยมีผู้ติดเชื้อประมาณ 100 ถึง 400 ล้านคนเกิดขึ้นทุกปี
“ขณะนี้ 129 ประเทศมีความเสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออก และเป็นโรคเฉพาะถิ่นในกว่า 100 ประเทศ” รามัน เวลาอุดฮัน หัวหน้าหน่วยโครงการด้านการควบคุมโรคเขตร้อน ซึ่งประสานงานโครงการริเริ่มด้านโรคไข้เลือดออกและอาร์โบไวรัส กล่าว
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ทำให้ปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น อุณหภูมิสูงขึ้น และความชื้นสูงขึ้น ซึ่งเป็นสภาวะที่ยุงสามารถเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนได้ดี จากการวิจัยแสดงให้เห็นว่าแม้สภาพอากาศที่แห้ง ยุงก็ยังสามารถแพร่พันธุ์ได้ โดยที่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า สภาพอากาศที่แห้งทำให้ยุงกระหายน้ำ และเมื่อยุงขาดน้ำ ก็ต้องการกินเลือดเพิ่มขึ้น
ส่วนใหญ่ไข้เลือดออกเป็นโรคที่ไม่รุนแรง แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่บางรายอาจมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ และมีผื่นขึ้น คนส่วนใหญ่จะหายใน 2-3 สัปดาห์ แต่ไข้เลือดออกอาจถึงแก่ชีวิตได้สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง
ไวรัสชิคุนกุนยา แพร่กระจายโดยยุงลายและพบได้ในเกือบทุกทวีป ปัจจุบันมีรายงานผู้ป่วยประมาณ 115 ประเทศ อาจทำให้เกิดความพิการเรื้อรังในบางคน และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างรุนแรง โดยที่ในอเมริกา มีผู้ป่วยโรคชิคุรกุนยา เพิ่มขึ้นจาก 50,000 ในปี 2022 เป็น 135,000 ในปี 2023
ขอบคุณที่มา voanews