เลือกตั้ง 2566 : เข้าคูหา ใส่กางเกงขาสั้น ใส่เสื้อสีได้ไหม เปิดข้อห้ามการแต่งตัวที่ควรรู้
เลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ใส่กางเกงขาสั้นได้ไหม ใส่เสื้อสีอะไรได้บ้าง ใส่หมวกได้ไหม ห้ามแต่งตัวอย่างไรบ้าง หากแต่งกายผิดอาจเจอโทษตามกฎหมายทั้งจำคุก-ปรับ มาเช็กข้อควรระวังในการแต่งตัวไปพร้อมกันได้ที่นี่
เข้าสู่วันเลือกตั้งครั้งสำคัญของประเทศไทย ประชาชนคนไทยที่มีสิทธิเลือกตั้ง สามารถออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. โดยการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกที่มีอายุ 18 – 22 ปี ซึ่งมีจำนวนราว 4 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 7.67 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด หลายคนอาจจะยังกังวลหรือไม่แน่ใจว่า ต้องแต่งกายอย่างไรไปเข้าคูหา ใส่กางเกงขาสั้นได้ไหม มาดูข้อห้ามการแต่งตัวเข้าคูหาเลือกตั้งไปด้วยกันได้เลยค่ะ
เลือกตั้ง 2566 : ใส่กางเกงขาสั้น ใส่เสื้อสีได้ไหม เปิดข้อกฎหมายที่ควรรู้
วันเลือกตั้งใส่กางเกงขาสั้นได้ไหม ห้ามใส่เสื้อสีอะไรบ้าง ใส่หมวกได้ไหม ควรแต่งตัวอย่างไร คำถามเหล่านี้อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยในช่วงวันเลือกตั้ง 2566 ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2561 มาตรา 79 ได้ระบุไว้ดังนี้
ห้ามสวมใส่เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย กระเป๋า หมวก ที่มีสัญลักษณ์ โลโก้พรรค หรือหมายเลขของผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองใด ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 จนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง ตลอดจนห้ามสวมใส่เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายดังกล่าวเข้าไปยังคูหาเลือกตั้ง และบริเวณเขตพื้นที่ที่มีการจัดเลือกตั้งโดยเด็ดขาด
หากผู้ใดสวมใส่เสื้อพรรคการเมืองไปเลือกตั้ง จะเข้าข่ายการโฆษณาหาเสียงที่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การแต่งกายที่ควรหลีกเลี่ยงก่อนเข้าคูหา เลือกตั้ง 2566
แม้จะไม่มีกฎกติกาที่ชัดเจนว่าควรแต่งกายแบบไหนถึงจะเหมาะสมแก่การเข้าคูหาเลือกตั้ง มีเพียงข้อเดียวที่ควรพึงระวัง คือ ห้ามสวมใส่เสื้อยืด เสื้อเชิ้ต กางเกง หมวก ที่มีโลโก้ สัญลักษณ์ทางการเมือง จะไม่ได้รับอนุญาตให้สวมใส่เข้าไปในคูหาการเลือกตั้ง เพราะจะเป็นการเข้าข่ายการหาเสียง ผิดกฎหมายการเลือกตั้งตามที่ระบุไว้ข้างต้น
นอกจากนี้ เสื้อผ้าที่มีลายสกรีนพาดพิงถึงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ว่าไม่ชอบ หรือให้ร้าย ก็ถือว่าเข้าข่ายการสร้างความปั่นป่วน เกลียดชัง ถือว่ามีโทษตามกฎหมายเช่นกัน
สรุปแล้ว การสวมกางเกงขาสั้นไปเลือกตั้งสามารถสวมได้ ไม่ถือเป็นการทำผิดกฎหมายในการเลือกตั้ง แต่ไม่ควรสั้นจนเกินไปเพื่อเป็นการให้เกียรติสถานที่ และสามารถใส่เสื้อสีได้ เพื่อเป็นการระมัดระวังควรเลือกเสื้อผ้าสีพื้น และตรวจสอบความหมายของลายสกรีนต่าง ๆ ว่าเป็นคำสุภาพ หรือพาดพิงในเชิงสัญลักษณ์หรือไม่
ขอบคุณข้อมูลจาก – 1