ประวัติ ITV ช่องทีวีเสรี ที่อยู่คู่คนไทยนานนับสิบปี ก่อนกลายเป็น ThaiPBS
เปิดประวัติ ITV สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ช่องทีวีเสรี ที่ถือกำเนิดขึ้นหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ด้วยแนวคิดที่ไม่เหมือนใคร ปัจจุบันแทนที่โดยไทยพีบีเอส วันนี้ไทยเกอร์เลยจะถือโอกาสพาทุกท่านไปดูพร้อมกันว่า ช่องไอทีวีมีประวัติความเป็นมาอย่างไร และอะไรเป็นสาเหตุที่ปิดตัวลง ใครพร้อมแล้วไปดูด้วยกันได้เลย
ย้อนประวัติ ITV ช่องทีวีเสรี หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535
ช่องโทรทัศน์ไอทีวี (ITV) ย่อมาจาก Independent Television แปลว่า “สถานีโทรทัศน์เสรี” หรือ ทีวีเสรี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2539 โดย บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เคยออกอากาศในระบบยูเอชเอฟ กระทั่งในยุคปัจจุบัน สถานีโทรทัศน์แห่งนี้คือ “สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส” (Thai PBS) นั่นเอง
สำหรับแนวคิดเรื่องการก่อตั้งช่องไอทีวี ได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงสมัยที่ อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกนัฐมนตรี เนื่องจากต้องการให้มีช่องโทรทัศน์ที่ประชาชนเข้าสัมปทานได้ นำไปสู่การนำเสนอข่าวสารที่ไม่ถูกบิดเบือนโดยภาครัฐ เลี่ยงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงพฤษภาทมิฬ 2535 ที่ผ่านมา
ไอทีวีเริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อเวลา 19.00 น. ของค่ำวันที่ 1 กรกฎาคม 2539 ประเดิมช่องด้วยรายการข่าวภาคค่ำ โดยได้ผู้ประกาศข่าวมากความสามารถอย่าง กิตติ สิงหาปัด และ เทพชัย หย่อง มารับหน้าที่ดำเนินรายการ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้คนชาวไทยอย่างล้นหลาม จนในปี 2540 ได้ปรับโครงสร้างบริษัท กลายมาเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งมีแนวคิดว่า ความสุขของทุกคนในครอบครัว ทว่ากลับต้องเจอปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักในช่วงต้มยำกุ้งหรือปี 2540
เป็นผลให้ในยุคของนายกรัฐมนตรี ชวน หลักภัย ได้มีการแก้สัมปทานของช่องไอทีวี เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถถือหุ้นได้เกิน 10% โดยมีกลุ่มชินคอร์ปอเรชั่นเข้ามาถือหุ้นในครั้งนี้ด้วย โดยชินคอร์ปได้ทำการซื้อหุ้นต่อจากธนาคารไทยพาณิชย์ไปกว่า 106 ล้านหุ้น และได้มีการยื่นแก้ไขสัญญาสัมปทานในปี 2547 เพื่อลดค่าสัมปทานลงเป็นปีละ 230 ล้านบาท โดยกำหนดสัดส่วนว่า ต้องมีรายการบันเทิง 50% และรายการสาระความรู้อีก 50% จนทำให้ไอทีวีขึ้นแท่นอันดับ 3 ของช่องฟรีทีวีเลยทีเดียว
สาเหตุที่ทำให้ช่อง ITV ปิดตัวลง กลายเป็น ThaiPBS
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2549 ได้มีการพิพากษาปมลดค่าสัมปทานแก่สถานีฯ เป็นเงิน 230 ล้านบาท โดยเพิกถอนคำสั่งของอนุญาโตตุลาการเนื่องจากไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ไอทีวีต้องจ่ายค่าสัมปทานสูงถึง 1 พันล้านบาทต่อปี จนต้องขอยื่นอุทธรณ์ต่อไป แต่ท้ายที่สุดเมื่อ ITV ไม่สามารถจ่ายได้ กิจการจึงตกไปเป็นของกรมประชาสัมพันธ์ในเวลาต่อมา
หลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้มีการหารือเรื่องไอทีวีกันอีกรอบ โดยมติจากการหารือและลงคะแนนเสียงครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยน ที่ทำให้ช่อง ไอทีวี กลายมาเป็นทีวีสาธารณะ หรือ ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) จนถึงปัจจุบัน
ทำให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้มีกำหนดวันออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551 ก่อนแพร่ภาพอย่างเป็นทางการในอีก 1 เดือนต่อมา โดนนับเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งแรกของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ดำเนินการโดยองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) และยังเป็นการออกอากาศด้วยระบบโทรทัศน์ความละเอียดสูงแห่งแรกอีกด้วย.