กรมอนามัย เตือนกระแส ‘อิ๊วโซดา’ น้ำตาล-โซเดียมสูง อันตรายต่อสุขภาพ
รองอธิบดีกรมอนามัย เตือนประชาชนถึงกระแส อิ๊วโซดา ชี้น้ำตาล-โซเดียมสูง ระคายเคืองกระเพาะอาหาร เสี่ยงสุขภาพพัง
นายแพทย์ สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ออกมาเตือนประชาชนถึงกระแส อิ๊วโซดา หรือการนำซีอิ้วดำผสมกับโซดา โดยระบุว่ามีปริมาณน้ำตาลสูงและอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ โดยการนำซีอิ๊วดำสูตรเฉพาะ 3 ช้อนโต๊ะผสมกับเครื่องดื่มโซดา 1 กระป๋อง เพื่อดื่มคลายร้อน ซึ่งซีอิ๊วนี้มีส่วนประกอบหลัก คือ น้ำตาลทรายร้อยละ 56 กลูโคสไซรัป ร้อยละ 13.4 และซีอิ๊ว ร้อยละ 13.6 จากส่วนผสมดังกล่าว หากผสมซีอิ๊ว 3 ช้อนโต๊ะ เครื่องดื่มแก้วนั้น จะมีปริมาณน้ำตาลสูง
สำรวจพบคนไทยกินน้ำตาลมากถึง 25 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด คือ ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งหากประชาชนนำซีอิ๊วดำที่ผลิตสำหรับใช้เป็นเครื่องปรุงรสมาทำตามอัตราส่วนดังกล่าว เครื่องดื่มแก้วนั้นจะมีโซเดียมสูงถึง 3,600 มิลลิกรัม (ซีอิ้วดำ 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียมประมาณ 1,200 มิลลิกรัม)
ถือเป็นจำนวนเกินกว่าปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกาย ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก เพื่อการมีสุขภาพที่ดี กำหนดให้บริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชา หรือ 5 กรัม หรือน้ำปลาไม่เกิน 4 ช้อนชา หรือคิดเป็นปริมาณซีอิ๊วดำไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน
รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่อไปว่า ปกติร่างกายจะได้รับน้ำตาล โซเดียมจากอาหารที่บริโภคทั่วไปในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ประชาชนจึงควรระมัดระวังการดื่มเครื่องดื่มที่จะทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลและโซเดียมเพิ่มขึ้น อีกทั้ง โซดา (Soda) เป็นเครื่องดื่มที่มีการอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ละลายอยู่ในน้ำ ทำให้มีความซ่า
จึงช่วยให้รู้สึกสดชื่น กะปรี้กะเปร่า แต่โซดายังมีฤทธิ์เป็นกรด หากดื่มตอนท้องว่างจะทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร และโซดายังเต็มไปด้วยก๊าซที่ทำให้อิ่มเร็ว การดื่มเครื่องดื่มที่ผสมโซดามากเกินไป อาจทำให้ร่างกายได้รับน้ำเปล่าไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อนจัด ควรดื่มน้ำเปล่าที่ไม่เย็นจัด เพื่อคลายร้อน และช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย ป้องกันโรคลมแดด (heat stroke)
“ทั้งนี้ ประชาชนควรทำความเข้าใจให้ดีก่อนตัดสินใจทำตามกระแส แม้ว่าจะมีการผลิตซีอิ๊วดำสูตรเฉพาะเพื่อนำมาใช้ แต่การนำซีอิ๊วชนิดนี้มาใช้มีข้อควรระวังสำหรับผู้ที่แพ้ถั่วเหลือง หรือกลูเต้น สำหรับซีอิ๊วดำทั่วไปจัดเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องปรุงรสที่มีรสเค็ม แม้ว่าจะมีปริมาณโซเดียมน้อยกว่า เกลือและน้ำปลา ก็ควรจะใช้เพื่อปรุงรสอาหารเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่หากนำมาทำเป็นเครื่องดื่มอาจทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมสูงมากเกินไป
ซึ่งจะส่งกระทบกับสุขภาพ ปัจจุบันมีการผลิตซีอิ๊วออกมามากมายหลายสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค จึงควรเลือกใช้ให้เหมาะตามวัตถุประสงค์ การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ครื่องปรุงรส ควรอ่านฉลากก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพและบริโภคได้อย่างปลอดภัย สำหรับผู้ที่เป็นโรคไต หรือโรคความดันโลหิตสูง ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีเกลือในปริมาณสูงหรือบริโภคในปริมาณที่จำกัด” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว