ข่าวข่าวการเมือง

มหาดไทย ส่งหนังสือตอบกลับ “วัชระ” ปมให้สัญชาติ ตู้ห่าว

กระทรวงมหาดไทย ส่งหนังสือตอบกลับ วัชระ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ปมให้สัญชาติ ตู้ห่าว ยืนยันการอนุมัติให้สัญชาติมีหลายขั้นตอน รัดกุม โปร่งใส ตรวจสอบได้

วันที่ 30 มีนาคม 2566 มีรายงานว่า นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดเผยหนังสือชี้แจงจาก กระทรวงมหาดไทย กรณีการให้สัญชาติกับ “ตู้ห่าว” หรือ “หาว เจ๋อ ตู้” หรือชื่อไทย ชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์

Advertisements

โดย นายสุทธิพงศ์ จุลเจริญ ในฐานะปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือตอบกลับนายวัชระ หลังจากอดีตส.ส. ประชาธิปัตย์ ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2565 และยื่นถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2565 ที่ผ่านมา เพื่อสอบถามและขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการอนุมัติสัญชาติไทยให้บุคคลต่างด้าว

ซึ่งเป็นผลจากคดีนายตู้ห่าวกับพวกคนจีน (จีนสีเทา) มาก่อคดีอาญาร้ายแรงทั้งเรื่องยาเสพติดและบ่อนการพนันผิดกฎหมาย โดยเป็นผู้ที่แปลงสัญชาติ

วัชระ เพชรทอง
แฟ้มภาพ @ข่าวสารจากอดีต ส.ส.วัชระ เพชรทอง

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว โดยรายละเอียดทั้งหมดในหนังสือแจงของปลัดกระทรวงมหาดไทย ระบุดังนี้

  • การอนุมัติให้สัญชาติไทยแก่บุคคลต่างด้าวตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 ถึงปัจจุบันจำนวนรวมทั้งสิ้น 4,960 ราย ในจำนวนนี้ มีจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมากที่สุดจำนวน 1,221 คน และไต้หวันจำนวน 1,155 คน
  • กระทรวงมหาดไทย มีการติดตามพฤติกรรมผู้ได้สัญชาติไทยหรือไม่ เมื่อบุคคลได้รับอนุมัติให้แปลงสัญชาติเป็นไทยแล้ว ย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

การกระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงหรือขัดต่อประโยชน์ของรัฐ จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในการติดตามตรวจสอบ พฤติกรรมและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อยู่แล้ว หากปรากฏว่า มีการกระทำความผิดที่ชัดแจ้ง กระทรวงมหาดไทยจะได้ถอนสัญชาติไทยแก่ผู้ได้สัญชาติไทยต่อไป

ต้องมีการจ่ายเงินจำนวนมากในการโอนมาเป็นสัญชาติไทยจริงหรือไม่นั้น ขั้นตอนของการแปลงสัญชาติมีขั้นตอนการตรวจสอบหลายขั้นตอน และมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ

Advertisements

การพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอแปลงสัญชาติไทยดำเนินการในรูปของคณะอนุกรรมการ/คณะกรรมการ ซึ่งมีองค์ประกอบจากหลายภาคส่วน มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน และการใช้ดุลพินิจเป็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

การอนุมัติให้แปลงสัญชาติเป็นไทยของคนต่างด้าว ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบหลายขั้นตอน จึงยากต่อการแสวงหาผลประโยชน์ในการดำเนินการดังกล่าว

หนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติไทย

  • กระทรวงมหาดไทย มีมาตรการป้องกันไม่ให้อาชญากรจากต่างประเทศโอนเป็นสัญชาติไทย โดยมีการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม พฤติการณ์ทางการเมือง ยาเสพติด พฤติการณ์เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ และผ่านการสัมภาษณ์เพื่อสอบถาม เจตนารมณ์ และสังเกตพฤติการณ์ของคู่สมรส
  • กรณีสวมบัตรประชาชนคนไทยที่เสียชีวิตไปแล้ว จะตรวจสอบทั้งประเทศอย่างไร เมื่อใด กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ตรวจสอบและปรับปรุงรายการของบุคคล ในฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎร เพื่อป้องกันการสวมรายการบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2559 โดยแจ้งให้จังหวัดทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ถือปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินการ

กรณีมีการทุจริตทางทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน โดยหากตรวจพบหลักฐานหรือได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตทางทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน ให้เพิกถอนหลักฐานเอกสารที่มีการดำเนินการโดยมิชอบ

รวมทั้งคืนสถานะทางทะเบียนให้แก่เจ้าของรายการที่แท้จริง และให้ดำเนินคดีอาญาโดยร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษกับบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อพนักงานสอบสวน

กรณีปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับ และพิจารณาโทษสถานหนักตามควรแก่กรณี

หากพบว่าผู้บังคับบัญชามีการปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต หรือ ดำเนินการแก้ไขปัญหาล่าช้าจนเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ราชการหรือประชาชน ให้ถือเป็นความผิดวินัยหรือความผิดอาญา กรณีผลตรวจสอบเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนรู้เห็น หรือ มีการกระทำผิดเป็นขบวนการและมีจำนวนมากผิดปกติ ให้กรมการปกครองรวบรวมหลักฐานส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีคนสัญชาติจีนรออนุมัติเป็นบุคคลสัญชาติไทยอีกจำนวนเท่าใดและจะอนุมัติหรือไม่-อย่างไร ขณะนี้มีคำร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทยและคำขอถือสัญชาติไทยตามสามีให้แก่คนสัญชาติจีนอยู่ระหว่างรอนำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการขอแปลงสัญชาติเป็นไทย

โดยการขอถือสัญชาติไทยตามสามีและการขอกลับคืนสัญชาติไทย และคณะกรรมการกลั่นกรองเกี่ยวกับสัญชาติ เพื่อพิจารณาเสนอแนะและให้ความเห็นประกอบการใช้ดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 439 คน แยกเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน 142 คน และไต้หวันจำนวน 297 คน.

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button