การเงิน

ตรวจสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 66 ยุบสภาแล้ว ยังได้เงิน 1 เม.ย. หรือไม่

หลังประกาศ ยุบสภา บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2566 สิทธิเปลี่ยนไปหรือไม่ กระทรวงการคลัง ชี้แจงแล้วล่าสุด เช็กสิทธิบัตรคนจน มีอะไรบ้าง

หลังรัฐบาลประกาศยุบสภา โครงการต่าง ๆ รวมถึง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2566 จะเปลี่ยนเงื่อนไขหรือระยะเวลาโครงการหรือไม่ ล่าสุดปลัดกระทรวงการคลัง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ได้ออกมาชี้แจงเพื่อคลายข้อสงสัยให้แล้วว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังคงเริ่มใช้สิทธิ 1 เมษายน 2566 ตามเดิม รวมถึงยังคงเงื่อนไขไว้เช่นเดิมตามที่มีประกาศอนุมัติการ ครม. ออกมาก่อนหน้านี้ทั้งหมด

เช็กสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หลังรัฐยุบสภา ไทม์ไลน์แจกเงินยังเหมือนเดิม

กระทรวงการคลัง เปิดให้ประชาชนที่ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตรวจสอบผลการลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป ถึง 3 ช่องทาง ดังนี้

1. เว็บไซต์ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ welfare.mof.go.th

2. หน่วยงานรับลงทะเบียน ทั้ง 7 หน่วยงาน ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, สำนักงานคลังจังหวัด, ที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอ, สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร และสำนักงานเมืองพัทยา พร้อมแสดงบัตรประชาชนให้เจ้าหน้าที่

3. ตรวจสอบผลทางโทรศัพท์กับหน่วยงานที่กำหนด ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ Call Center ในช่วงเวลาราชการ

สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหลังรัฐยุบสภา
ภาพจาก : บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th

ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐผ่าน จากนี้ต้องทำอย่างไร

ผู้ที่ลงทะเบียนผ่าน หรือผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติ จะต้องทำการยืนยันตัวตน โดยนำบัตรประชาชนไปยื่นที่ 3 หน่วยงานนี้ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2566 ยุบสภา
ภาพจาก : บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th

โดยเริ่มยืนยันตัวตนได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป ไม่สามารถยืนยันตัวตนผ่านตู้ ATM ด้วยตนเองได้ จะต้องไปทำรายการที่ธนาคารเท่านั้น

นอกจากนี้ผู้ใช้สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะต้องผูกพร้อมเพย์กับเลขบัตรประจำตัวประชาชนธนาคารใดก็ได้ เพื่อรับเงินที่รัฐจะโอนให้ในอนาคต

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2566 ยุบสภา
ภาพจาก : บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th

เอกสารที่ใช้สำหรับยืนยันตัวตนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2566

1.กรณีเดินทางมาด้วยตัวเอง

  • บัตรประจำต้องประชาชน (ผู้ลงทะเบียน)
  • ใบสำคัญการหย่า หรือ ใบมรณะบัตร หรือ หนังสือรับรองการตาย หรือทะเบียนบ้านที่มีการจำหน่ายการตาย (เฉพาะผู้ผ่านเกณฑ์แบบมีเงื่อนไข)

2.กรณีมอบอำนาจ ผู้พิการผู้ป่วยติดเตียง หรือ ผู้สูงอายุ ที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมายืนยันตัวตนแทนได้ โดยใช้เอกสาร

ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ผ่าน จากนี้ต้องทำอย่างไร

สำหรับผู้ที่ไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ 2 วิธี คือ ยื่นด้วยตนเองที่หน่วยงานรับลงทะเบียน หรือยื่นอุทธรณ์ผ่านเว็บไซต์ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ welfare.mof.go.th

ผู้เข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ลงทะเบียนไม่ผ่าน อาจจะต้องพิจารณาว่าคุณสมบัติของท่านตรงตามเกณฑ์เหล่านี้หรือไม่ เช่น

– มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี

– มีบัญชีเงินฝากไม่เกิน 100,000 บาท

– ไม่มีบัตรเครดิต หรือไม่มีวงเงินกู้บ้าน/รถ

– ถือครองที่กินเกินกว่าที่โครงการกำหนด

ขณะนี้ (21 มีนาคม 2566) มีผู้ยื่นอุทธรณ์แล้วกว่า 1,122,950 ราย

สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหลังรัฐยุบสภา
ภาพจาก : บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th

เอกสารที่ใช้ในการยื่นอุทธรณ์ กรณียื่นอุทธรณ์ด้วยตนเองที่หน่วยงาน

กรณียื่นอุทธรณ์ด้วยตนเอง

  • บัตรประจำตัวประชาชนผู้ลงทะเบียน
  • กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นยื่นอุทธรณ์แทนตนเอง

บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ลงทะเบียน

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ลงทะเบียน พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง
  • หนังสือมอบอำนาจ ดาวน์โหลดได้ที่ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ได้รับมอบอำนาจ และลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง
  • สำเนาบัตรประจำตัวคนพิการ (ถ้ามี)
  • ใบรับรองแพทย์ (ถ้ามี)
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2566 ยุบสภา
ภาพจาก : บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th

สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2566 รอบใหม่

สำหรับสิทธิที่ผู้ลงทะเบียนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน จะได้รับในรอบนี้ มีดังนี้

  • ส่วนลดค่าหุงต้ม จากเดิม 100 บาท เหลือเพียง 80 บาท
  • ค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะจาก 500 บาท เพิ่มเป็น 750 บาท
  • เงินซื้อสินค้า จากเดิมที่ให้ 200-300 บาท ปรับเป็น 300 บาท

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดเงินที่จะโอนให้แก่ผู้มีบัตร ดังนี้

– วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นจากร้านธงฟ้า 300 บาท/เดือน/คน สามารถใช้จ่ายได้ตั้งแต่เวลา 05.00 – 23.00 น. ของทุกวัน

– วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 80 บาท/3 เดือน/คน สามารถใช้จ่ายได้ตั้งแต่เวลา 05.00 – 23.00 น. ของทุกวัน

– วงเงินค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะ 750 บาท/เดือน/คน

– เงินคืนค่าไฟฟ้า 315 บาท/เดือน/ครัวเรือน

– เงินคืนค่าน้ำประปา 100 บาท/เดือน/ครัวเรือน แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องใช้น้ำไม่เกิน 315 บาท/เดือน/ครัวเรือน

ระยะเวลาในการรายงานตัวบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ผู้ที่ตรวจสอบผลแล้วพบว่าคุณสมบัติผ่าน ท่านจะต้องรีบไปรายงานตัวในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้สามารถใช้สิทธิ์ได้ทันตั้งแต่รอบแรก แต่สำหรับผู้ที่คุณสมบัติไม่ผ่านจะต้องยื่นอุทธรณ์ เพื่อขอให้พิจารณาคุณสมบัติอีกครั้ง โดยระยะเวลาในการรายงานตัวจะส่งผลโดยตรงต่อเวลาที่ได้รับสิทธิ์ในบัตรคนจน ดังนี้

  • 1 มีนาคม – 26 มีนาคม 2566 เริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566
  • 27 มีนาคม – 26 เมษายน 2566 เริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566
  • 27 เมษายน – 26 พฤษภาคม 2566 เริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566
  • 27 พฤษภาคม – 26 มิถุนายน 2566 เริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566
  • ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป เริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2566

โดยผู้ที่รายงานตัวตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม – 26 มิถุนายน 2566 จะได้รับสิทธิย้อนหลังไม่เกิน 3 เดือน นับจากวันแรกที่ใช้สิทธิได้ โดยให้เฉพาะวงเงินซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคจากร้านธงฟ้าเท่านั้น

ส่วนผู้ที่รายงานตัวตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไปจะไม่ได้รับสิทธิย้อนหลังเลย

สรุปว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2566 รอบล่าสุด ซึ่งเริ่มเปิดให้ใช้สิทธิวันที่ 1 เมษายน 2566 สามารถใช้สิทธิได้ดังเดิมทุกประการ แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศยุบสภาไปแล้วก็ตาม ดังนั้นประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ควรรีบดำเนินการรายงานตัวหรือยื่นอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จ ก่อนวันที่ 26 มีนาคม 2566 เพื่อที่จะสามารถเริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันแรกของโครงการ.

Lalita C.

นักเขียนคอนเทนต์ SEO แห่งทีมไทยเกอร์ไทย คลุกคลีกับการเขียนตั้งแต่สมัยเรียน ชอบการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ติดตามข่าวสารจากโลกออนไลน์ นำมาสรุป เล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย ผ่านมุมมองน่าสนใจที่คนมักจะมองข้าม ทั้งข่าวบันเทิง บทความ งานเขียนแนวไลฟ์สไตล์ รวมถึงทุกอย่างที่อยากให้นักอ่านได้รู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button