การเงิน

ชวนรู้จัก Silicon Valley ธนาคารใหญ่ของอเมริกา ทำไมเสี่ยงล้มละลาย

ชวนรู้จัก ธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ธนาคารยักษ์ใหญ่ติดอันดับ 16 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ทรงอิทธิพลในวงการสตาร์ทอัพ ก่อนเจอวิกฤต Bank Run ผู้คนแห่ถอนเงินสดจำนวนมหาศาล จนหวั่นประสบปัญหาล้มละลาย วันนี้เราเลยจะถือโอกาส พาทุกคนไปดูพร้อมกันว่า SVB มีประวัติความเป็นมาอย่างไร และทำไมถึงเสี่ยงล้มละลาย กลายเป็นตัวกระตุ้นวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก

Silicon Valley Bank (SVB) คืออะไร? ทำไมเสี่ยงล้มละลาย

Silicon Valley Bank (SVB) เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการธุรกิจ โดยมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นหลัก รวมถึงยังสนับสนุนนักลงทุน สตาร์ทอัพ (Start-up) และพันธมิตรอีกมากมาย

ประวัติ Silicon Valley Bank (SVB)

ธนาคาร SVB ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2526 ณ เมืองซานตาคลารา รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งตั้งอยู่ในใจกลางของซิลิคอนวัลเลย์ ก่อนจะเริ่มขยายการให้บริการลูกค้าทั่วโลกผ่านเครือข่ายสำนักงานและบริษัทในเครือต่าง ๆ โดย SVB เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 16 ในสหรัฐอเมริกาและเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในด้านเงินฝากในซิลิคอนแวลลีย์

SVB ให้บริการด้านการธนาคารที่หลากหลาย รวมถึงการจัดการเงินสด การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ การให้กู้ยืม และการให้บริการด้านการลงทุน ธนาคารแห่งนี้มีชื่อเสียงในด้านการสนับสนุนเงินร่วมลงทุนและหุ้นเอกชน รวมทั้งยังมีส่วนร่วมในการร่วมจัดหาเงินทุนให้บริษัทเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง

นอกจากบริการด้านธนาคารแล้ว SVB ยังมีบทบาทในการจัดหาทรัพยากรและการสนับสนุนความช่วยเหลือแก่ลูกค้าผ่านทางกิจกรรม โปรแกรมการศึกษา และความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ ที่อยู่ในระบบนิเวศนวัตกรรมอีกด้วย

ทำให้ธนาคารซิลิคอนแวลลีย์เป็นที่รู้จัก จากความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าต่อนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการ ผู้มีบทบาทสำคัญในการเติบโตของบริษัทเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จมากมาย

SVB ล้มละลาย
ภาพจาก wikipedia.org

สาเหตุที่ทำให้ SVB เกิดเหตุการณ์ Bank Run เสี่ยงล้มละลาย

อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า Silicon Valley Bank มีบทบาทสำคัญในแวดวงธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้น ในช่วงการระบาดของโควิด 19 ตั้งแต่ช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้คนหันมาทำงานบริษัทสตาร์ทอัพและบริษัทเทคโนโลยี เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เป็นเหตุให้ธนาคาร SVB กลายเป็นหมุดหมายในการเก็บเงินสดของหลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็นบัญชีจากการใช้จ่ายทั่วไปและบัญชีเงินเดือน ส่งผลให้มีเงินฝากหลั่งไหลเข้าไปในระบบของ SVB เป็นจำนวนมาก แต่ภายหลังเมื่อการปล่อยกู้ให้เหล่า start-up มีอัตราส่วนที่ลดลง ทางธนาคารจึงหันไปลงทุนในรูปแบบตราสารหนี้ และพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้นแทน

ทว่าการหันไปลงทุนครั้งนี้ของธนาคารซิลิคอนแวลลีย์ กลับเป็นเหมือนชนวนที่ก่อให้เกิดวิกฤตครั้งใหญ่ เนื่องจากพันธบัตรรัฐบาลที่ลงทุนนั้น มีความสัมพันธ์แบบผกผันกับอัตราดอกเบี้ย เพราะเมื่อ FED มีการประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ก็จะทำให้มูลค่าของพันธบัตรลดลงอย่างรวดเร็ว

แม้ว่าหากธนาคาร SVB สามารถอดทนถือพันธบัตรไปได้ครบตามกำหนด ก็จะไม่ส่งผลกระทบอะไรกับเงินต้น แต่ลูกค้าจำนวนมาก ที่อยู่ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง และขาดความเชื่อมั่นต่อธนาคาร ได้พากันแห่เข้ามาถอนเงินฝากออกจาก SVB

ทำให้ทางธนาคาร ต้องเร่งขายพันธบัตรทั้งที่กำลังขาดทุน เพื่อนำเงินสดมาคืนให้แก่ลูกค้า กลายเป็นผลกระทบแบบลูกโซ่ ที่ทำให้นักลงทุนหลายคนหวาดกลัว จนเกิดเหตุการณ์โกลาหล นับตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2023 เป็นต้นมา ส่งผลให้ราคาหุ้นของธนาคารร่วงลง 60% ภายในชั่วข้ามคืน

SVB ล้มละลาย

ตัวกระตุ้นที่ทำให้ประชาชนกลัว SVB ล้มละลาย

ในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ BANK Run หรือภาวะที่ผู้คนพากันถอนเงินสดจนธนาคารจนเกิดวิกฤตสภาพคล่อง หลายคนได้ทราบกันอยู่แล้วว่า ธนาคารซิลิคอนแวลลีย์ได้หันมาถือพันธบัตรและตราสารหนี้ ซึ่งกำลังขาดทุนจากการที่ FED ปรับขึ้นดอกเบี้ย

หลังจากขาดทุนอย่างหนัก ทางธนาคาร SVB เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ คิดหาวิธีแก้ปัญหา ด้วยการประกาศระดมทุนกว่า 1.75 พันล้านดอลลาร์ เพื่ออุดรอยรั่วของการขาดทุนที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 เพียงแค่ 2 วันก่อนเกิดวิกฤตครั้งใหญ่ แต่กลับกลายเป็นชนวนสำคัญ ที่ทำให้หลายคนสงสัยเกี่ยวกับสภาพคล่องของธนาคาร จนมีข่าวลือเรื่องการล้มละลายกลายเป็นกระแสไปทั่วโลก

ด้านผู้อำนวยการสถาบัน Global Finance อย่าง Fariborz Moshirian ศาสตราจารย์แห่ง UNSW ได้กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “ทันใดนั้น ทุกคนก็ตื่นตระหนกว่าธนาคารขาดเงินทุน”

จากเหตุการณ์นี้ทำให้ธนาคารซิลิคอนแวลลีย์ทรุดตัวลงอย่างหนัก จนเรียกได้ว่าเป็นความล้มเหลวด้านธนาคารครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศสหรัฐอเมริกา ในวิกฤตการเงินโลก โดยรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น สหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย ได้เข้ามาตรวจสอบความเสี่ยงของ SVB แล้วในขณะนี้

อย่างไรก็ดีได้มีการกล่าวว่า หากรัฐบาลไม่ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ Silicon Valley Bank ก็มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารจะล้มละลายลง หรืออาจอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงสูงเพราะต้องคืนเงินให้กับลูกค้า

แต่นับเป็นข่าวดีเพราะหน่วยงานของสหรัฐฯ ได้ขยายการรับประกันให้ครอบคลุมเงินฝากทั้งหมดที่ธนาคารมี โดยจะให้ลูกค้าเข้าถึงเงินได้ในวันถัดไป เว้นแต่กรณีผู้ถือหุ้นในธนาคารและเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันบางรายที่จะไม่ได้รับการคุ้มครองนี้

อ้างอิง 1

Eye Chanoknun

นักเขียนประจำ Thaiger จบจากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์เขียนงานผ่านเว็บไซต์ด้านความงามและแฟชั่นชื่อดังของไทยมากกว่า 3 ปี ปัจจุบันชื่นชอบการเขียนข่าวบันเทิง ภาพยนตร์ ซีรีส์ k-pop และไลฟ์สไตล์ เพื่อนำมาบอกเล่าผ่านตัวอักษร ด้วยมุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ชวนให้ติดตาม ช่องทางติดต่อ eye@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button