สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย แถลงค้านเรต ฉ 20- ‘หุ่นพยนต์’ ชี้ปิดกั้นเสรีภาพ
หลังมีกระแสข่าวภาพยนตร์ “หุ่นพยนต์” ถูกเลื่อนฉายอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากทางคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (กองเซ็นเซอร์) จัดเรตภาพยนตร์ดังกล่าว ฉ 20- จึงทำให้มีผู้เข้าชมได้น้อยเนื่องจากต้องตรวจบัตรประชาชนก่อนดูหนังในโรง ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของผู้ชม และทีมงานที่ร่วมกันสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย
ด้านคนทำงานในวงการภาพยนตร์หลายคนก็ได้ออกมาพูดถึงประเด็นดังกล่าวกันมากมาย โดยวิพากษ์วิจารณ์ว่าการกระทำของกองเซ็นเซอร์นั้นเป็นการปิดกั้นความสร้างสรรค์ของวงการภาพยนตร์ไทย จึงทำให้ทางสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยต้องออกแถลงการณ์คัดค้านต่อการจัดเรตติ้งดังกล่าว พร้อมเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายภาพยนตร์ไทย ความว่า
“แถลงการณ์สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย
เรื่อง ผลการพิจารณาจัดเรทภาพยนตร์เรื่อง” หุ่นพยนต์”
จากกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม ได้มีคำสั่งให้ภาพยนตร์เรื่อง “หุ่นพยนต์” ของภณธฤต โชติกฤษฎาโสภณ ต้องตัดทอนฉากต่างๆออก เพื่อให้ได้รับ เรท ฉ. 20 มิฉะนั้น ภาพยนตร์จะถูกห้ามฉาย ซึ่งคำสั่งที่เกิดขึ้น นอกจากจะส่งผลกระทบต่อผู้สร้างภาพยนตร์ คนทำงานแล้ว ก็ยังส่งผลกับผู้ชมภาพยนตร์ทั่วไปที่ถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการชมภาพยนตร์ ด้วยคำสั่งที่มาจากดุลยพินิจของคนเพียงไม่กี่คน เพราะแม้จะมีการจัดเรตติ้งภาพยนตร์แล้ว แต่คณะกรรมการก็ยังสามารถสั่งตัดทอนเนื้อหาภาพยนตร์และสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ได้โดยยึดดุลยพินิจของคณะกรรมการเป็นหลัก
สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยเห็นด้วยกับการใช้ระบบเรตติ้งภาพยนตร์ เพื่อจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์สำหรับผู้ชมภาพยนตร์ตามช่วงวัย แต่สมาคมฯ ขอคัดค้านการใช้อำนาจของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ในการตัดทอนเนื้อหาของภาพยนตร์และการแบนภาพยนตร์ในทุกกรณี และขอคัดค้านผลการพิจารณาภาพยนตร์ในครั้งนี้ และจะร่วมมือกับผู้ผลิตภาพยนตร์และผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “หุ่นพยนต์” ในการคัดค้านผลการพิจารณา และดำเนินการในขั้นต่อไป
และสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ขอเรียกร้องให้มีการปฎิรูปกฎหมายภาพยนตร์ จากการที่ พระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. 2551 ไม่เพียงแต่ไม่ก่อให้เกิดการสนับสนุนวงการภาพยนตร์ไทยอย่างเป็นรูปธรรมเท่านั้น ยังเน้นเพียงแต่ให้ภาพยนตร์ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบราชการ จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปกฎหมายนี้เพื่อคืนสิทธิเสรีภาพในการผลิตและรับชมภาพยนตร์ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ และเพื่อให้กฏหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์กับวงการภาพยนตร์และประชาชนอย่างแท้จริง”
ทั้งนี้ภาพยนตร์เรื่องหุ่นพยนต์มีกำหนดเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ วันที่ 9 มีนาคม 2566 แต่ทางค่ายหนังผู้สร้าง Five Star Production ต้องการให้ผู้ชมสามารถเข้ามาดูหนังเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ได้มากขึ้น โดยไม่ถูกจำกัดการเข้าชมเนื่องด้วยอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ตามเรตติ้งของหนังที่ถูกกองเซ็นเซอร์จัดไว้ จึงได้ทำการเลื่อนกำหนดวันฉายไปอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาและถูกพิจรณาการจัดเรตติ้งใหม่อีกครั้งจากกองเซ็นเซอร์.