22 ก.พ. 66 เงินบาทอ่อนค่า ระดับ 34.66 บาทต่อดอลลาร์ มีเกณฑ์ดิ่งลงอีก
“ค่าเงินบาทไทย” วันพุธนี้ 22 กุมภาพันธ์ 2566 แตะที่ระดับ 34.66 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง คาดการณ์ว่าอาจลงไปแตะที่ระดับ 34.50-34.80 บาทต่อดอลลาร์
นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย นายพูน พานิชพิบูลย์ กล่าวว่า ค่าเงินบาทวันนี้ 22 กุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ระดับ 34.66 บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มอ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.56 บาทต่อดอลลาร์ มองว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว คือ ปัจจัยที่กดดันให้ เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง
วิเคราะห์ว่าหากตลาดยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากปัจจัยความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ “เฟด” เงินบาทไทยอาจเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงจนใกล้กับโซนแนวต้านแถว 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ที่ประเมินไว้ได้
ทำให้ต้องจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ว่ายังคงขายสุทธิสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่องหรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนของฟันด์โฟลว์ในฝั่งตลาดหุ้น ซึ่งอาจได้รับอานิสงส์จากข่าวการเลือกตั้งได้บ้าง
ในระยะสั้น มองว่า ปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลต่อเงินบาทในช่วงที่เหลือของสัปดาห์นี้ คือ รายงานการประชุมเฟดล่าสุด, รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ และความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ทั้งนี้แม้จะประเมินว่า เงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านดังกล่าวได้ ทว่าเริ่มเห็นสัญญาณการขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาดที่เป็นฝั่ง Long USDTHB (เชื่อว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง) โดยเฉพาะในช่วงโซน 34.70-34.75 บาทต่อดอลลาร์
นอกจากนี้ ในมุมมองของผู้เล่นในตลาดก็อาจไมอยากเพิ่มสถานะดังกล่าวมากขึ้น เนื่องจาก Risk-Reward อาจเริ่มไม่คุ้ม ทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้ จะไม่รุนแรง ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้เผชิญปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าใหม่ๆ นอกเหนือจากสิ่งที่ตลาดกำลังกังวล
ทางฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด หลังจากรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการในเดือนกุมภาพันธ์ ออกมาดีกว่าคาด สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงสดใส นอกจากนี้ ความกังวลดังกล่าวได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นแตะระดับ 3.95% (สูงสุดนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนปีก่อนหน้า) สร้างแรงกดดันต่อหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ growth ทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงแรง -2.50% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -2.00%
จากสถานการณ์แบบนี้ แนะนำว่าผู้ส่งออก ควรขายเงินตราต่างประเทศ เพื่อปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 34.80 บาทต่อดอลลาร์นั่นเองครับ