ข่าว

รู้จัก “ตาพรานบุญ” วัดยางใหญ่ ช่วยเรื่องอะไร นายกตู่ไปไหว้ก่อนประกาศยุบสภา

รู้จัก “ตาพรานบุญ” วัดยางใหญ่ นครศรีธรรมราช ช่วยเรื่องอะไร นายกตู่ไปไหว้ สักการะเพียง 1 วัน ก่อนประกาศยุบสภา

ไม่รู้ว่าเป็นเพียงเรื่องบังเอิญหรือว่าตั้งใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมราชการที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ดูการแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก หนึ่งในสถานที่ที่ไปเยี่ยมชมคือ วัดยางใหญ่ เป็นที่ประดิษฐาน ตาพรานบุญ หลังจากนั้นเพียง 1 วัน ก็ประกาศชัดเจนกับสื่อมวลชนว่า จะยุบสภาในเดือนมีนาคม 2566 นี้ ทำให้ชื่อของ ตาพรานบุญ แห่งวัดยางใหญ่ได้รับความสนใจขึ้นมาทันที

เปิดประวัติ ตาพรานบุญ วัดยางใหญ่ นครศรีธรรมราช คนนิยมไปสักการะขอพร ให้ช่วยเหลือ

ตาพรานบุญ คือรูปปั้นชายชราขนาดใหญ่ ผิวกายออกไปทางสีชมพู นุ่งห่มเสื้อผ้าอย่างคนโบราณ กางเกงสีแดง มีผ้าขาวม้าพาดไหล่ และทาหน้าด้วยสีแดงสดซึ่งแท้จริงแล้วคือหน้ากากมโนราห์ นั่งท่าชันเข่าด้านขวา มือขวาถือไม่ตะพด มือซ้ายกุมถุงทองที่เขียนว่ารวย ตั้งอยู่ในอุโบสถหลังหนึ่งของวัดยางใหญ่ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

อุโบสถทั้งหลังจะทาด้วยสีชมพูแปลกตา ตั้งโดดเด่นอยู่ภายในวัด มีผู้เข้ามาไหว้สักการะตลอดทั้งวันไม่ขาดสาย ทำให้สังเกตได้ง่าย

ประวัติตาพรานบุญ วัดยางใหญ่

ในอดีตตาพรานบุญถูกเรียกขานในหลายชื่อ ทั้ง หน้ากากพรานบุญ หน้ากากมโนราห์ หรือน้าพราน เป็นตัวละครในวรรณคดีเรื่องมโนราห์ มีเอกลักษณ์การแสดงที่ดูตลกขบขัน

ตามตำนานกล่าวว่า พรานบุญเป็นพรานที่มีวิชาดี สามารถเดินทางท่องเที่ยวในป่าหิมพานต์ได้ ครั้งหนึ่งพรานบุญได้ใช้วิชาช่วยเหลือพญานาคราชนามว่า ท้าวชมพูจิต ให้รอดพ้นจากความตาย ท้าวชมพูจิตจึงได้พาพรานบุญไปที่นาคพิภพเป็นเวลา 7 วัน มอบแก้ววิเศษให้ พร้อมคำสัญญาว่าหากวันข้างหน้าพรานบุญประสงค์สิ่งใดก็ให้มาหา เมื่อขออะไรก็จะให้ เพื่อเป็นการตอบแทนที่ได้ช่วยชีวิตท้าวชมพูจิตไว้ได้

ต่อมา พรานบุญได้พบนางกินนรทั้งเจ็ดผู้เป็นธิดาท้าวทุมราช และต้องการนำนางกินนรไปถวายพระสุธนกุมาร จึงได้เดินทางไปขอยืม นาคบาศ จากท้าวชมพูจิต ซึ่งเป็นของวิเศษของพญานาคที่จะสามารถจับนางกินนรได้ และสามารถจับนางมโนราห์ ซึ่งเป็นธิดาองค์เล็กไปถวายพระสุธนได้สำเร็จ ผู้คนจึงต่างนับถือในความสามารถของพรานบุญว่าเข้มขลังยิ่งนัก และโดดเด่นในทางโชคลาภและโภคทรัพย์อีกด้วย

ที่มา : วัดยางใหญ่

ความเชื่อเรื่อง “ตาพรานบุญ” วัดยางใหญ่ ช่วยเรื่องอะไร?

องค์พ่อตาพรานบุญ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนครศรี ชาวใต้ให้ความเคารพนับถือจำนวนมาก เชื่อว่าหากมาไหว้ขอพรแล้วตาพรานบุญจะช่วยเรื่องโชคลาภ เงินทอง ชีวิตไม่ติดขัด ดังคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีการค้าใดหรือทำสิ่งได้จะได้ผลตอบแทนมากเท่าพรานบุญ เพราะพรานบุญจับนางมโนราห์ได้เพียงนางเดียว เช้ารุ่งขึ้นก็ได้รับบำเหน็จจากกษัตริย์ ครองเมือง 1 เมืองพร้อมทรัพย์สมบัติและบริวารมากมาย”

ดังนั้นประชาชนที่ไหว้ส่วนใหญ่จึงหวังมุ่งผลในแง่ความร่ำรวย โชคดีในด้านการงานเสียเป็นส่วนใหญ่

รูปปั้นตาพรานบุญ วัดยางใหญ่
ที่มา : วัดยางใหญ่ (ตาพรานบุญ) ตำบลท่าขึ้น อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

พลเอกประยุทธ์ไหว้ตาพรานบุญ

ย้อนกลับไป 20 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 15.00 น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เดินทางไป ณ วัดยางใหญ่ ตำบลท่าขึ้น อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช สักการะหลวงพ่อวัดยางใหญ่ และนมัสการพระครูวินัยธร ณัฏฐาสันต์ สิทฺธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดยางใหญ่ ณ วิหารหลวงพ่อวัดยางใหญ่ และไหว้บูชาตาพรานบุญ ณ วิหารปฐมบรมครูตาพรานบุญ เพื่อความเป็นสิริมงคลในการลงพื้นที่ปฏิบัติราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช

พระครูวินัยธร ณัฏฐาสันต์ สิทฺธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดยางใหญ่ได้ให้พรนายกรัฐมนตรีขอให้สุขภาพแข็งแรง ขอให้ประสบความสำเร็จคิดหวังสิ่งใดขอให้ได้สมดังปรารถนา มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน นำพาประเทศพัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ตอบกล่าวขอบคุณและสอบถามประวัติของวัด พร้อมกล่าวฝากให้วัดเป็นที่พึ่งทางจิตใจของประชาชน สร้างความศรัทธาให้ประชาชนเกิดความเลื่อมใส และช่วยกันทำนุบำรุงพุทธศาสนา และนายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับประชาชนที่มาทำบุญว่า คิดหวังอะไรไว้ขอให้ตั้งใจอธิษฐาน ขอให้สำเร็จตามที่มุ่งหวัง ที่สำคัญต้องมีจิตใจที่บริสุทธิ์ เลื่อมใสศรัทธาก่อน จึงจะมีผลต่อสิ่งที่ขอไว้

นายกไหว้ตาพรานบุญ

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button