ลด PM 2.5 แบบทันใจ วิธีเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศ ตัวช่วยลดฝุ่น สร้างอากาศบริสุทธิ์ ให้สมาชิกในบ้านหายใจสะดวกมากขึ้น
หลังจากที่ฝุ่น PM 2.5 มาต้อนรับต้นเดือนกุมภาพันธ์จนแสบคอไปหมด พร้อมพากรุงเทพมหานคร ทุบสถิติขึ้นเป็นเมืองที่มีค่าฝุ่นสูงที่สุดในโลกเป็นอันดับที่ 4 สูงถึง 190 เชื่อว่าหลายบ้านน่าจะรู้สึกหวั่นใจ อยากลองมองหาตัวช่วยอย่าง เครื่องฟอกอากาศ หรือ Air Purifier มาใช้ในบ้านกันไม่น้อย
การอ่านจากรีวิวเพียงอย่างเดียว อาจไม่ได้ช่วยให้คุณเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศที่เหมาะสมกับบ้านคุณที่สุด เพราะไม่มีใครจะรู้จักบ้านของเราดีไปกว่าเรา จริง ๆ แล้วการเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศไม่ใช่เรื่องยาก แต่หากต้องการเครื่องฟอกที่ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ อาจต้องมีวิธีในการเลือกซื้อสักเล็กน้อย
ไทยเกอร์ขออาสาแนะนำวิธีเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศให้ได้คุณภาพดี ราคาประหยัด อ่านวิธีนี้จบ รับรองว่าคุณจะเลือกซื้อเป็นแน่นอน ไม่ต้องแคร์ยี่ห้อเลย
หลักการทำงานของเครื่องฟอกอากาศ กำจัด PM 2.5 ได้ยังไง
เครื่องฟอกอากาศจะมีหลักการทำงานหลายรูปแบบ แต่เครื่องกรองอากาศที่สามารถกำจัดฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ประสิทธิภาพสูงที่สุด จะเป็นเครื่องที่ดูดอากาศเข้าไปกรองฝุ่น และดักจับฝุ่นผ่านแผ่นฟิลเตอร์ จากนั้นก็จะปล่อยอากาศบริสุทธิ์ที่ปราศจากกลิ่นไม่พึงประสงค์ ฝุ่นขนาดใหญ่ รวมถึง PM 2.5 ออกมาให้เราหายใจนั่นเอง
วิธีเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศ กรอง PM 2.5 ได้ผลจริง
1. เลือกประเภท
เครื่องฟอกอากาศมีอยู่หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นชนิดฟิลเตอร์, ชนิดไอออน, ชนิดยูวี และชนิดโอโซน ซึ่งแต่ละประเภทจะมีการทำงานที่แตกต่างกัน รวมถึงความสามารถในการกรองอากาศ และราคาก็ต่างกัน
สำหรับเครื่องฟอกอากาศประเภทที่แนะนำมากที่สุด คือ เครื่องฟอกอากาศชนิดฟิลเตอร์ (HEPA Filter หรือ High-Efficiency Particular Air) ซึ่งสามารถกรองได้ทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวมถึงแผ่นฟิลเตอร์มีหลายชั้นจึงช่วยดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กจิ๋ว ที่ให้โทษมหาศาลอย่าง PM 2.5 ได้กว่าชนิดอื่น
HEPA Filter ทำมาจากเส้นใยไฟเบอร์กลาสซึ่งมีช่องว่างเล็กมาก เพราะถักทอเส้นใยแบบไร้ทิศทาง ดังนั้นโอกาสที่ฝุ่น PM จะลอดออกมาได้จึงมีน้อยสุด ๆ โดยการทำงานของเครื่องฟอกอากาศชนิดฟิลเตอร์ มีดังนี้
- เครื่องดูดอากาศในห้องเข้าไป
- ชั้นที่ 1 ฝุ่นขนาดใหญ่จะถูกกรอง
- ชั้นที่ 2 กลิ่นไม่พึงประสงค์จะถูกกรองออก
- ชั้นที่ 3 อนุภาคฝุ่นขนาดเล็กจะถูกกรองออก
- จากนั้นเครื่องฟอกจะปล่อยอากาศบริสุทธิ์ออกมา
ส่วนเครื่องฟอกอากาศที่ไม่แนะนำสักเท่าใดนัก คือ ชนิดไอออน ยูวี และโอโซน ด้วยเหตุผลดังนี้ค่ะ
เครื่องฟอกอากาศชนิดไอออน ข้อดีคือขนาดเล็ก ไม่เปลืองพื้นที่ และมีราคาถูก แต่การทำงานไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะกำจัด PM 2.5 เนื่องจากเครื่องฟอกชนิดนี้จะปล่อยประจุลบไปดักจับสิ่งสกปรกในอากาศ ให้หนักและร่วงลงสู่พื้น ซึ่งต้องดูดฝุ่นหรือถูพื้นเพื่อกำจัดฝุ่น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าฝุ่น PM จะถูกเครื่องดูดฝุ่นดูดไปก่อนหรือเข้าปอดของเราก่อน
เครื่องฟอกอากาศชนิดยูวี รังสี UV หรือรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet) แม้จะมีความสามารถในการฆ่าเชื้อโรค แต่เครื่องฟอกชนิดนี้ไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอที่จะกรองฝุ่นขนาดเล็กอย่าง PM 2.5
เครื่องฟอกอากาศชนิดโอโซน หากใช้เป็นเวลานาน โอโซนที่มีปริมาณมาก อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น ผิวหนัง ดวงตา ปอด โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคหอบหืด เป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษเลยค่ะ
2. ซื้อเครื่องให้เหมาะสมกับขนาดห้อง
คำนวณขนาดของห้องที่ต้องการวางเครื่องฟอกอากาศ ออกมาเป็นหน่วยตารางเมตร (ตร.ม.) จากนั้นให้เลือกซื้อเครื่องที่มีคุณสมบัติรองรับขนาดพื้นที่ห้องที่สูงกว่าห้องของเรา เช่น
ห้องกว้าง 5 เมตร ยาว 6 เมตร (5*6) รวมมีพื้นที่ 30 ตร.ม.
ดังนั้นควรเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศที่รองรับพื้นที่อย่างน้อย 30 – 35 ตร.ม. เป็นต้น
3. ดูค่าความเร็วลม
ค่าความเร็วลม (Air Flow) เป็นค่าที่บ่งบอกถึงความสามารถในการกรองและปล่อยอากาศบริสุทธิ์ว่าทำได้เร็วมาก-น้อยเพียงใด
4. ดูค่า CADR
CADR หรือ Clean Air Delivery Rate หมายถึง ค่าแสดงปริมาณอากาศบริสุทธิ์ที่เครื่องฟอกอากาศสามารถผลิตได้ ยิ่งค่าสูงก็ยิ่งหมายความว่าเครื่องทำงานได้ดี โดยมีวิธีคำนวณ ดังนี้
พื้นที่ห้อง (หน่วยตารางเมตร) * 12 เช่น พื้นที่ห้อง 30 ตร.ม.*12 ดังนั้นควรเลือกซื้อเครื่องฟอกที่มีค่า CADR ควรอยู่ที่ 360 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง
5. พิจารณาแผ่นกรอง
ควรเลือกแผ่นกรองที่มีประสิทธิภาพดี เช่น HEPA Filter เพื่อความคงทนในการใช้งาน เช่น ใยสังเคราะห์ ใยแก้วแท้ โดยควรเปลี่ยนแผ่นกรองเมื่อหมดอายุการใช้งาน ไม่เช่นนั้นการเปิดเครื่องฟอกก็จะไม่มีประโยชน์ เป็นเพียงการเครื่องให้มีลมออกมาเท่านั้น ไม่ได้ช่วยดักจับ PM 2.5 แต่อย่างใด
ไม่รู้ว่า PM 2.5 จะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน หากมีตัวช่วยอย่างเครื่องฟอกอากาศติดบ้านไว้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย หวังว่าทุกคนจะรู้เทคนิคในการเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศ และนำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจซื้อกันได้ แม้จะเป็นการลงทุนลงเงิน แต่ย่อมดีกว่าการไปรักษาสุขภาพเมื่อเจ็บป่วยแน่นอน.
ขอบคุณข้อมูลจาก : แพทยสภา iqair