คืบหน้าแวดวงวิทยาศาสตร์ หลังนักวิจัยเปิดเผยว่ามีการค้นพบแกนโลกชั้นในหยุดหมุน และแกนโลกกำลังเปลี่ยนทิศทางในการหมุน โดยปรากฏการณ์นี้ถูกค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง
อี้หยาง (Yi Yang) และ ซ่งเสี่ยวตง (Xiaodong Song) นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ทำการศึกษาคลื่นไหวสะเทือน (Seismic Wave) ในช่วงทศวรรษที่ 1960s โดยเป็นการศึกษาแผ่นดินไหวที่ส่งไปถึงแกนโลกชั้นใน (Inner Core) เพื่อวิเคราะห์ความเร็วในการหมุนของแกนโลกชั้นใน
การศึกษานี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั้งสองคนพบว่าคลื่นไหวสะเทือนยามเกิดแผ่นดินไหวที่ส่งไปยังแกนโลกชั้นในนั้น มีการเคลื่อนที่ไปในทางเดียวกับเปลือกโลก ทว่าในปี 2009 เป็นต้นมา คลื่นไหวสะเทือนเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลง และส่งสัญญาณบอกว่า “แกนโลกหยุดหมุนชั่วคราว” และกลับมาหมุนอีกครั้งในทิศทางตรงกันข้าม
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์แกนโลกหยุดหมุนและเปลี่ยนทิศก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด เป็นเหมือนการแกว่งไปมาของแกนโลกชั้นในเสียมากกว่า อีกทั้งยังเป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นกับแกนโลกตามปกติ โดยทางนักวิจัยกล่าวว่าการหมุนของแกนโลกจะเปลี่ยนทิศในทุก ๆ 35 ปี ซึ่งเมื่อคำนวณตัวเลขออกมาแล้วทิศทางการหมุนในครั้งต่อไปอาจเกิดขึ้นช่วงกลางทศวรรษ 2040
แกนโลกหยุดหมุน-เปลี่ยนทิศ ส่งผลกระทบอย่างไร?
ปรากฏการณ์แกนโลกเปลี่ยนทิศทางการหมุนไปมานี้ จะสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง “ความยาวของวัน” ซึ่งจะทำให้เวลาที่โลกหมุนรอบตัวเองเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย
ส่วนผลกระทบด้านอื่น ๆ ที่จะส่งผลโดยตรงต่อมนุษยชาตินั้นยังไม่มีวิจัยออกมารองรับ เพราะในขณะนี้ยังไม่มีข้อบ่งชี้ใด ๆ พิสูจน์ว่าการหยุดหมุนของแกนโลกจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ที่อยู่ในโลก
สำหรับปรากฏการณ์แกนโลกหยุดหมุน-เปลี่ยนทิศ ที่เกิดขึ้นนี้ ก็คงต้องรอนักวิทยาศาสตร์ศึกษากันต่อไป และอาจจะใช้เวลาวิจัยอย่างยาวนาน เพื่อให้ทราบว่าการเปลี่ยนที่เกิดขึ้นดังกล่าวจะมีผลอย่างไรต่อโลกใบนี้.
ขอบคุณข้อมูลจาก : CNN