ทช. แจง ‘ป้ายบอกทางน่าน’ ไวรัลดัง บอกเส้นทางถนนที่แท้จริง
ทางหลวงชนบทแจงแล้ว ป้ายบอกทางน่าน ไวรัลดัง คาดให้เข้ากับสภาพเส้นทาง เบื้องต้นติดตั้งแค่น่านที่เดียวก่อน รอฟังความเห็น ปชช.
จากกรณีที่เป็นกระแสไวรัลกับป้ายบอกทางน่าน ที่บอกทางด้วยรูปทรงประหลาด บริเวณถนนสายทางหลวงชนบท สายแยกทล.1091-โครงการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าไม้ห้วยลู่ ตามพระราชดำริฯ ต.สะเนียน อ.เมืองน่าน จ.น่าน ระยะทาง 10.805 กิโลเมตร ซึ่งทางขนส่งน่านเคยระบุว่าสาเหตุที่ป้ายมีรูปร่างประหลาดเป็นเพราะว่าต้องการให้มีความใกล้เคียงกับถนนมากที่สุด
ล่าสุด นายธงไชย ชมถนอม ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 17 (เชียงราย) เปิดเผยถึงกรณีป้ายบอกทางน่านว่า ป้ายดังกล่าวสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 17 (เชียงราย) เป็นผู้ติดตั้งเองจริง แต่ไม่ได้เป็นผู้ที่ออกแบบป้ายดังกล่าว โดยสำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง เป็นผู้ออกทั้งหมด ส่วนสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 17 (เชียงราย) เป็นเพียงผู้จัดจ้างทำป้ายจะดำเนินการติดตั้งเท่านั้น โดยติดตั้งนำร่องในพื้นที่ จ.น่าน จำนวน 60 ป้าย
การจัดทำป้ายบอกทาง สำนักงานทางหลวงชนบทที่ 17 (เชียงราย) ดำเนินการจัดทำจำนวน 4 โครงการ โดยป้ายบอกทางที่ จ.น่าน เป็นส่วนหนึ่งที่ดำเนินการเพื่อใช้บอกทางในพื้นที่สันเขาและเส้นทางคดเคี้ยว เป็นการออกแบบเฉพาะพื้นที่ ต.พิเศษ ซึ่งในเขตรับผิดชอบเพิ่งดำเนินการเป็นแรกใน จ.น่าน ส่วนพื้นที่อื่นทั้ง จ.พะเยา และจ.เชียงราย ยังไม่ได้ดำเนินการติดตั้ง
“รายละเอียดที่ป้ายบอกทางมีลักษณะเช่นนี้ ผมไม่ทราบเรื่องของความเป็นมา ต้องสอบถามทางผู้ออกแบบ แต่ผมคาดว่า น่าจะมาจากแนวคิดให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสภาพถนนละเส้นทาง เพื่อให้ผู้ใช้เส้นทางทราบว่าถนนสายนั้นๆ มีลักษณะเป็นเช่นไร จะได้ใช้เส้นทางได้ถูก ตอนนี้ยังไม่ได้แผนที่จะจัดทำป้ายไปติดตั้งในพื้นที่อื่น
ซึ่งอาจจะดูผลตอบรับจากผู้ใช้รถใช้ถนนก่อนว่าเป็นเช่นไร ซึ่งหากผู้ใช้รถใช้ถนนเห็นว่าดูแล้วลำบาก ทางผู้ออกแบบก็อาจจะออกแบบให้ดูง่ายขึ้น หากผู้ใช้รถใช้ถนนเห็นว่าเป็นป้ายที่ดี และมีความเหมาะสม ก็น่าจะนำไปดำเนินการต่อในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป” นายธงไชย กล่าว