แจกพิกัดไหว้ ‘เทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ย’ แก้ชง 2566 คนละองค์กับไฉ่ซิงเอี๊ย อย่าสับสน!
ตรุษจีน 2566 เราต้องเฮงกว่าใคร ไทยเกอร์เปิดแหล่งไหว้ เทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ย ทั่วประเทศไทย เทพเจ้าผู้ช่วยคุ้มครองดวงชะตาตามความเชื่อของชาวจีน เพื่อไหว้แก้ชง ฝากดวงให้ท่านช่วยดูแลเรา ไหว้ที่วัดไหนได้บ้าง พร้อมแจกบทสวด วิธีไหว้ รวมถึงของที่ต้องเตรียม ละเอียดทุกขั้นตอน เทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ยเป็นเทพคนละองค์กับเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย เทพเจ้าโชคลาภ เช็กให้ดีอย่าไหว้ผิดเชียวล่ะ
ประวัติ เทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ย ผู้ปกปักดวงชะตาของปวงชน
เทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ย (Tai Sui Ye) มาจากภาษาจีนว่า 太岁 (ท่าย – สุ่ย) หมายถึง อายุ โดยไท้ส่วยเอี๊ย เป็นเทพเจ้าที่คุ้มครองดาวชะตาของมนุษย์ตามความเชื่อของลัทธิเต๋า มีทั้งหมด 60 องค์ตามจำนวนดวงดาวในรอบ 60 ปี ซึ่งนับด้วยวิธีที่เรียกว่า ลักจับกะจื้อ
เชื่อกันว่าแต่ละปีที่ดำเนินไปจะมีปีนักษัตรที่ดวงขัดกับปีนั้น ๆ จึงต้องมีการไหว้ขอให่ไท้ส่วยเอี๊ยช่วยคุ้มครองดวงชะตาให้เรา เรียกว่าเป็นการฝากดวงหรือไหว้แก้ชง ขอให้อุปสรรคหมดไป ดวงชะตาชีวิตราบรื่น เปลี่ยนสิ่งร้ายให้กลายเป็นสิ่งดีนั่นเอง
ชาวจีนลัทธิเต๋าจะยึดถือว่า ควรไหว้เทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ยในช่วงยามแรกของวันขึ้นปีใหม่จีนหรือวันตรุษจีนตามปฏิทินจันทรคติ ในช่วงเวลาประมาณ 23.00 น. หรือบางความเชื่อของชาวจีนโบราณกล่าวว่าให้เริ่มไหว้ในช่วงหลังเทศกาลตรุษจีนเป็นต้นไป
โดยเทศกาลตรุษจีนในปีนี้จะเริ่มตั้งแต่ วันศุกร์ที่ 20 – วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2566 ทั้งนี้เนื่องจากวันขึ้นปีใหม่แตกต่างกันไปในทุกปี ดังนั้นจึงไม่สามารถกำหนดวันที่แน่นอนได้นัก
ไหว้เทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ย 2566 แก้ปีชงในไทย ไหว้ที่ไหนได้บ้าง
สำหรับการไหว้แก้ปีชง ไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าจะต้องไหว้ก่อนหรือไหว้หลังตรุษจีน สามารถเลือกวันไหว้ตามความสะดวกของแต่ละคนได้เลย แต่หัวใจสำคัญของการไหว้แก้ชง คือ จะต้องบูชาขอฝากดวงต่อเทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ยเท่านั้น
สำหรับใครที่ต้องการไปไหว้แก้ชง สามารถปักหมุดไปไหว้ที่วัดเหล่านี้ได้เลย ทีมงานไทยเกอร์รวบรวมวัดทุกภาคในเมืองไทยที่มีเทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ยมาให้คุณแล้ว มากถึง 16 แห่งเลยทีเดียว
1. วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่
ที่ตั้ง : 423 ถนนเจริญกรุง แขวงป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100
พิกัด : วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่
เวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น.
2. วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2)
ที่ตั้ง : 959 หมู่ 4 ถนนเทศบาล 9 ตำบลโสนลอย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี
พิกัด : วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2)
เวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น.
3. ศาลเจ้าพ่อเสือ
ที่ตั้ง : 468 ถนนตะนาว เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
พิกัด : ศาลเจ้าพ่อเสือ
เวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-17.00 น.
4. วัดโพธิ์แมนคุณาราม
ที่ตั้ง : 323 ถนนสาธุประดิษฐ์ ซอย 19 แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร
พิกัด : วัดโพธิ์แมนคุณาราม
เวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น.
5. วัดทิพยวารีวิหาร (หรือวัดกัมโล่วยี่)
ที่ตั้ง : ซอยทิพย์วารี แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
พิกัด : วัดทิพยวารีวิหาร (หรือวัดกัมโล่วยี่)
เวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น.
6. ศาลเจ้าพ่อเสือ แฮปปี้แลนด์ บางกะปิ
ที่ตั้ง : 188 ถนนแฮปปี้ แลนด์ 1 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10240
พิกัด : ศาลเจ้าพ่อเสือ แฮปปี้แลนด์
เวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น.
7. วัดสมานรัตนาราม
ที่ตั้ง : ถนนองค์การบริหารส่วนตำบล ฉะเชิงเทรา 2012 ตำบลก้อนแก้ว อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ฉะเชิงเทรา 24000
พิกัด : วัดสมานรัตนาราม
เวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
8. ศาลเจ้าหน่าจาไท้จื้อ
ที่ตั้ง : 1/13 หมู่ 5 ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
พิกัด : ศาลเจ้าหน่าจาไท้จื้อ
เวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
9. พุทธสถาน จีเต็กลิ้ม
ที่ตั้ง : ตำบลศรีจุฬา อำเภอเมืองนครนายก นครนายก 26000
พิกัด : พุทธสถาน จีเต็กลิ้ม
เวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
10. มูลนิธิบูชาธรรมสถาน
ที่ตั้ง : ตำบลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ อุบลราชธานี 34190
พิกัด : มูลนิธิบูชาธรรมสถาน
เวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น.
11. วัดฉื่อฉาง
ที่ตั้ง : 55 ถนนศุภสารรังสรรค์ ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ สงขลา 90110
พิกัด : วัดฉื่อฉาง
เวลาเปิด-ปิด : เปิดวันจันทร์ – วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น.
12. วัดท่าไม้
ที่ตั้ง : 51 ตำบลท่าไม้ อำเภอกระทุ่มแบน สมุทรสาคร 74110
พิกัด : วัดท่าไม้
เวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น.
13. วัดพนัญเชิงวรวิหาร
ที่ตั้ง : ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
พิกัด : วัดพนัญเชิงวรวิหาร
เวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น.
14. มูลนิธิศาลเจ้าไต้ฮงกง ปากน้ำ
ที่ตั้ง : ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองสมุทรปราการ สมุทรปราการ 10270
พิกัด : ศาลเจ้าไต้ฮงกง ปากน้ำ
เวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-17.30 น
15. ศาลเจ้าปุงเถ่ากง
ที่ตั้ง : 64-66 ถนนไปรษณีย์ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่ 50300
พิกัด : ศาลเจ้าปุงเถ่ากง
เวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น.
16. มูลนิธิสาธารณกุศลสงเคราะห์เชียงราย
ที่ตั้ง : ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย เชียงราย 57000
พิกัด : มูลนิธิสาธารณกุศลสงเคราะห์เชียงราย
เวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-20.30 น.
เตรียมของไหว้เทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ย แก้ปีชง 2566
สำหรับใครที่วางแผนเดินทางไปไหว้แก้ชงกับองค์ไท้ส่วยเอี๊ย ต้องเตรียมของดังนี้
- ดอกไม้สด 1 คู่
- เทียนแดง 1 คู่
- ธูป 3 ดอก
- หงิ่งเตี่ย (กระดาษเงินกระดาษทอง) 13 ชุด
- เทียงเถ่าจี้ (กระดาษแดงเขียนอักษรมงคล) 1 คู่
- กิมหงิ่งเต้า (กระดาษถังเงินถังทอง) 1 คู่
- อาหารเจ 5 อย่าง เช่น เห็ดหอม เห็ดหูหนู เต้าหู้ วุ้นเส้น เป็นต้น
- ถั่วลิสง 25 เม็ด
- พุทราแดง 25 เม็ด
- ขนมโก๋ 5 ชิ้น
- น้ำชา 5 ถ้วย
- ข้าวสวย 5 ถ้วย
ขั้นตอนและวิธีการไหว้เทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ย
1. เขียนชื่อ – นามสกุล พร้อมวันเดือนปีเกิดของเรา
2. จุดธูป 3 ดอก พร้อมนำกระดาษที่เขียนชื่อไปไหว้องค์เทพไท้ส่วยเอี๊ย พร้อมกล่าวคำอธิษฐานว่า
“ข้าพเจ้า (บอกชื่อ นามสกุลและวันเกิด) ขออัญเชิญเทพโหล่วปี่ไต่เจียงกุง เทพเจ้าไท่ส่วยเอี้ยประจำปีนี้ โปรดเสด็จมารับเครื่องสักการบูชาทั้งหลายเหล่านี้
ขอให้ท่านรับและคุ้มครองข้าพเจ้าให้ปลอดภัยจากภัยอันตรายทั้งปวง ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุขความเจริญ มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เงินทองไหลมาเทมา ไม่พบเจอสิ่งอัปมงคล ขอให้พบแต่สิ่งดีตลอดปีใหม่นี้และขอให้สมปรารถนาในทุกเรื่องด้วยเทอญ”
3. จากนั้นนำกระดาษที่เขียนชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด มาปัดตามตัวตั้งแต่ศีรษะลงมาจนสุดแขน 13 ครั้ง และกล่าวคำอธิษฐานขอพรต่อองค์เทพ
4. นำใบชื่อไปฝากไว้กับทางวัด โดยทางวัดจะทำพิธีสวดมนต์เสริมดวงชะตาให้เจ้าของดวงต่อไป
การไหว้เทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ยแก้ปีชง เป็นเพียงความเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น แล้วแต่ความศรัทธาและความสบายใจของแต่ละคน ไหว้ให้สบายใจและได้บุญกันดีกว่า ไม่ต้องบังคับใจกันหรือดูถูกความเชื่อกัน เพราะสิ่งสำคัญในสังคม คือการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขแม้จะต่างความคิดกันนั่นเอง.
ขอบคุณข้อมูลจาก : chinesenewyear.net