กายภาพบำบัด เวชศาสตร์ฟื้นฟู รักษา Office Syndrome
หากคุณมีอาการตึง เคล็ดขัดยอก ปวดคอ บ่า ไหล่ การทำ กายภาพบำบัด ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการฟื้นฟูร่างกายที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะชาวออฟฟิศที่มักจะมีอาการปวดเรื้อรัง แนะนำว่าควรไปให้นักกายภาพบำบัดประเมินอาการ เพราะจะได้รักษาทันก่อนจะสายเกินแก้ เชื่อเถอะค่ะว่าการทำกายภาพบำบัดจะช่วยให้คุณรู้สึกเหมือนได้ประกอบร่างใหม่ ชีวิตดีขึ้นไม่ร้องโอดโอยแน่นอน!
เวชศาสตร์ฟื้นฟู ลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ส่งเสริมความสามารถในการใช้ร่างกาย
กายภาพบำบัดมีอะไรบ้าง
การทำกายภาพบำบัด หรือ Physical Therapy เป็นการส่งเสริมสุขภาพที่เน้นการป้องกัน รักษา และเยียวยาการเคลื่อนไหวผิดปกติของร่างกาย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเคลื่อนไหวได้เป็นปกติที่สุด ซึ่งจะทำโดยนักกายภาพบำบัดหรือที่เรียกว่า Physical Therapist ที่มีใบประกอบวิชาชีพเฉพาะด้านค่ะ
โดยทั่วไปแล้วการทำกายภาพบำบัด จะมีอยู่ 3 วัตถุประสงค์หลัก ๆ คือ
- ฟื้นฟูร่างกายหลังจากได้รับบาดเจ็บ
สำหรับผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ นักกายภาพบำบัดจะประเมินอาการและทำกายภาพบำบัดเพื่อช่วยลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมถึงแนะนำวิธีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำน้อยที่สุด
- รักษาปัญหาสุขภาพเรื้อรังสำหรับผู้ใหญ่และปัญหาสุขภาพในเด็ก
ผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคพาร์กินสัน โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ ข้ออักเสบ หรือผู้ป่วยเด็กที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีปัญหาสุขภาพ เช่น สมองพิการ นักกายภาพบำบัดจะคิดแผนการรักษาเพื่อช่วยให้ร่างกายของผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวดีขึ้น โดยต้องมีการวิเคราะห์ถึงข้อจำกัดของผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม
- เสริมสร้างสุขภาพให้กับผู้ที่จำเป็นต้องรักษาฟื้นฟูร่างกาย
ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง มีปัญหาเกี่ยวกับโรคปอดและหัวใจ ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลัง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะพิการ ซึ่งการทำการภาพบำบัดนี้จะต้องมีทีมแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อวางแผนการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างปลอดภัย รวมถึงสอนให้ผู้ป่วยใช้อุปกรณ์เสริมในการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างถูกต้อง
นอกจากวัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อแล้ว กายภาพบำบัดยังสามารถแบ่งประเภทได้ดังต่อไปนี้
- กายภาพด้านกีฬา (Sports physical therapy)
- กายภาพบำบัดผู้ป่วยผู้สูงวัย (Geriatric)
- กายภาพบำบัดผู้ป่วยเด็ก (Pediatric)
- กายภาพบำบัดระบบประสาท (Neurological)
- กายภาพบำบัดกระดูกและกล้ามเนื้อ (Orthopedic)
- กายภาพบำบัดหลอดเลือดและหัวใจ (Cardiopulmonary)
ซึ่งในแต่ละด้าน ก็จะมีนักกายภาพบำบัดที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นผู้ดูแลค่ะ
นักกายภาพบำบัดคือใครกันนะ?
นักกายภาพบำบัดหรือที่เรียกว่า Physical Therapist คือผู้ที่เรียนจบเฉพาะทางด้านกายภาพ เช่น สรีรวิทยา พยาธิวิทยา ประสาทวิทยา และกายวิภาคศาสตร์ ซึ่งผู้ที่เรียนจบหลักสูตรเหล่านี้จะสามารถสอบใบประกอบวิชาชีพเพื่อทำงานเป็นนักกายภาพบำบัดมืออาชีพได้ค่ะ
โดยทั่วไปแล้วเราสามารถไปหานักกายภาพบำบัดได้โดยไม่ต้องพบแพทย์ ยกตัวอย่างเช่น หากมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตึงคอบ่าไหล่ ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นออฟฟิศซินโดรม ก็สามารถไปหานักกายภาพฯ เพื่อทำการบำบัดฟื้นฟูกล้ามเนื้อให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ
แต่ในบางกรณี นักกายภาพฯ ก็ต้องทำงานร่วมกับแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง เช่น ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บไขสันหลัง ผู้ป่วยสมองพิการ หรือผู้ป่วยจากอุบัติเหตุต่าง ๆ เป็นต้น
อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำกายภาพบำบัด
ในการทำกายภาพฯ เพื่อฟื้นฟูร่างกายแต่ละครั้ง ก็จะมีการใช้เครื่องมือร่วมกับการบำบัด ซึ่งมีอะไรบ้างนั้นเรามาดูกันค่ะ
- เครื่องคลื่นอัลตราซาวด์ (Ultrasound therapy) ช่วยทำให้กล้ามเนื้อที่แข็งเป็นก้อนเกร็งคลายออก ลดอาการปวด บวม เพิ่มการไหลเวียนของโลหิต
- เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (Electrical Stimulator) ช่วยกระตุ้นการซ่อมแซมกล้ามเนื้อ และกระตุ้นเส้นประสาทเพื่อยับยั้งการส่งกระแสประสาทความเจ็บปวด ช่วยคลายกล้ามเนื้อชั้นตื้นและชั้นลึกได้
- เครื่องรักษาคลื่นกระแทก (Shockwave Therapy) กระตุ้นบริเวณพังผืดที่ได้รับบาดเจ็บ เป็นการสลายพังผืด และทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว
- เครื่องแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Stimulator) ช่วยกระตุ้นการคลายกล้ามเนื้อชั้นลึกที่ปวดจากการรัดเกร็งของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท
- เครื่องเลเซอร์กำลังสูง (High Power Laser Therapy) ช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ได้รับบาดเจ็บ ลดการอักเสบ และปวดบวม
- เครื่องดึงหลังดึงคอ (Pelvic/Cervical Traction) หากเกิดภาวะการทรุดตัวของกระดูกสันหลังจะช่วยเพิ่มช่องว่างของกระดูกสันหลัง ลดการกดทับของเส้นประสาท ลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อคอและหลัง
- ฝังเข็ม (dry needling) ช่วยคลายกล้ามเนื้อที่หดเกร็งเป็นก้อน ลดอาการปวดที่เกิดการการเกร็ง และการหดตัวของกล้ามเนื้อ
นอกจากนั้นก็จะมีการนวดบำบัดด้วยมือ การกดจุดกดเจ็บ ดึงขยับข้อต่อ และการออกแบบท่าออกกำลังกายที่เหมาะสมเฉพาะบุคคลร่วมด้วย เพื่อให้ร่างกายของผู้ป่วยสามารถกลับมาเคลื่อนไหวได้ตามปกติค่ะ
ใครควรทำกายภาพบำบัด?
หากคุณรู้สึกได้ถึงอาการบกพร่องของร่างกาย มีอาการปวด ตึง อักเสบ หรือเคล็ดขัดยอก สามารถไปพบนักกายภาพฯ เพื่อประเมินอาการและเริ่มทำการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ควรให้อาการเหล่านั้นเรื้อรัง เพราะอาจทำให้เสียเวลาในการรักษานานกว่าที่ควร ตัวอย่างผู้ที่ควรทำกายภาพบำบัด ได้แก่
- คนที่มีอาการชาลงบริเวณขาและแขน
- คนที่มีอาการข้อไหล่ติด ข้อเข่าติด หรืออาการนิ้วล็อก
- คนที่มีอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวลำบาก
- คนที่มีอาการออฟฟิศซินโดรมเรื้อรัง นั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ท่าเดิมเป็นประจำ
- ผู้ที่มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เช่น ปวดคอ ปวดหลัง ปวดขา ปวดเท้า เป็นต้น
- คนที่ผ่าตัดสมองหรือข้อเข่าเสื่อม ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ขยับตัวลำบาก
- ผู้ที่มีการเดินผิดปกติ เช่น ลากเท้ายาว เดินตัวเอียง เป็นรองช้ำ หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง
การทำกายภาพฯ มีราคาตั้งแต่ 900 บาท ไปจนถึงหลักหลายพัน ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการ เครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการรักษา รวมถึงระยะเวลาในการรักษา และสำหรับชาวออฟฟิศที่กำลังปวดคอ บ่า ไหล่ วันนี้เรามีโปรโมชั่นทำกายภาพฯ จากคลินิกชื่อดังมาฝากกันค่ะ สามารถเข้าไปเช็กดีลได้ที่เว็บไซต์ Thaiger Deals แล้วเลือกซื้อดีลใกล้บ้านหรือร้านที่คุณต้องการได้เลย
👉 Raksa Physio คลินิกกายภาพบำบัด (รักษาฟิสิโอ คลินิกกายภาพบำบัด)
📍 เลขที่ 27 ถนนยานนาวา แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร
👉 ME Healthy Clinic มีเฮลตี้คลินิก
📍 175/3 พระราม 6 ซอย 37 เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร
👉 โดนัท คลินิกกายภาพบำบัด MRT สิรินธร
📍 ติดรถไฟฟ้า MRT สิรินธร (ทางออกประตู 2A) เพียง 10 เมตร
อย่าปล่อยให้อาการปวดของคุณเรื้อรัง รีบไปฟื้นฟูสุขภาพกันนะคะ รับรองได้เลยว่าทำแล้วชีวิตดีขึ้นแน่นอน
อ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่
- แพทย์ทางเลือก คืออะไร มีหัตถการไหนน่าสนใจบ้าง
- ส่องเทรนด์สุขภาพของคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจในปี 2023
- ตรวจสุขภาพประจำปี ราคาและแพ็กเกจไหนที่เหมาะสมกับเรา