อั่งเปา ตั่วตั่วไก๊ รอบรู้เรื่องวันตรุษจีน ‘อั่งเปา-แต๊ะเอีย’ แตกต่างกันอย่างไร เปิดควาหมายของเงินขวัญถุงวันตรุษจีนที่เด็ก ๆ ทุกบ้านตั้งตารอ เริ่มแจกวันไหน ใครได้บ้าง พร้อมเปิดเลขมงคลสำหรับใส่ซองแดง
เตรียมเข้าสู่เทศกาลที่คนไทยเชื้อสายจีนต่างรอคอย “วันตรุษจีน” ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 8 ถึงวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงเทศกาลนี้หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงภาพบรรยากาศสุดคึกคักจากการที่สมาชิกครอบครัวมารวมตัวกัน ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ หรือพบปะพูดคุย ทานอาหารร่วมกัน
นอกจากนั้นก็ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญที่ทุกคนรอคอยไม่แพ้กันนั่นก็คือ การแจก ‘อั่งเปา’ ที่เต็มไปด้วย ‘แต๊ะเอีย’ วันนี้ Thaiger จึงจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับซองเงินขวัญถุงในวันตรุษจีนให้มากขึ้น เปิดความหมายที่แท้จริง เริ่มแจกวันไหน ใครได้บ้าง พร้อมแนะนำเลขมงคลที่เหมาะแก่การใส่ซอง
เปิดความหมาย “อั่งเปา” ในภาษาจีน
‘อั่งเปา’ ออกเสียงเพี้ยนมาจากภาษาจีนคำว่า 红包 hóngbāo (อ่านว่า หง-เปา) ที่เกิดจากการนำคำ 2 คำมารวมกัน อย่างคำว่า 红 (hóng) ที่หมายถึง สีแดง และ 包 (bāo) ที่แปลว่า ซอง หรือห่อ ดังนั้นเมื่อนำมารวมกันจึงมีความหมายว่า ซองสีแดง อันเป็นสัญลักษณ์ของความมงคลและโชคดี
อั่งเปา หรือซองสีแดงจะนิยมบรรจุเงินไว้ภายใน มีจุดประสงค์เพื่อมอบให้แก่กันตามวาระงานสำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวันตรุษจีน พิธีแต่งงาน และวันขึ้นปีใหม่ อั่งเปาจึงเปรียบเสมือนเงินขวัญถุงที่เป็นทั้งของขวัญ สินน้ำใจ บ้างก็เชื่อว่าเป็นของแก้เคล็ด มีไว้ป้องกันสิ่งชั่วร้าย
“แต๊ะเอีย” คืออะไร
‘แต๊ะเอีย’ มีที่มาจากภาษาจีนแต้จิ๋วในคำว่า 压肚腰 yādùyāo (อ่านว่า ยา-ตู้-เยา) มีความหมายว่า ทับเอี๊ยม โดย 压 (yā) มีความหมายว่า กด, ทับ แต่ในภาษาพูดจะออกเสียงเป็น “แตะ” จากนั้นก็เพี้ยนเสียงมาเป็น “แต๊ะ” ส่วน 肚腰 (dùyāo) หมายถึง เอี๊ยม หรือผ้าคาดหน้าท้องของเด็ก
เมื่อสองคำนี้มารวมกันจึงแปลความหมายเป็นคำว่า แต๊ะเอีย ที่หมายถึงเหตุการณ์ที่ญาติผู้ใหญ่นำเงินหรือสิ่งของมีค่ามามอบให้ลูกหลาน หรือนำเงินไปวางทับเอี๊ยมของลูกหลานนั่นเอง
นอกจากนั้นเงินในสมัยก่อนของชาวจีน จะมีลักษณะเป็นเหรียญที่มีรูอยู่ตรงกลาง เมื่อได้เงินมาบรรดาเด็ก ๆ ก็จะนำเชือกมาร้อยผ่านรูกลางเหรียญ จากนั้นก็เอามาผูกไว้ที่เอว คล้ายกับการกดทับไว้ที่เอว อันจะสอดคล้องกับความหมายในภาษาจีนของคำว่าแต๊ะเอียนั่นเอง
“อั่งเปา” กับ “แต๊ะเอีย” แตกต่างกันอย่างไร
คำถามยอดฮิตที่หลาย ๆ คนสงสัย ‘อั่งเปา-แต๊ะเอีย’ แตกต่างกันอย่างไร หากจะกล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ในทุก ๆ เทศกาลตรุษจีนบรรดาลูกหลานคนจีนก็จะได้รับอั่งเปาที่เป็นซองสีแดง และภายในซองก็จะบรรจุเงินขวัญถุงอยู่ข้างใน โดยเงินในนั้นก็จะเรียกว่าแต๊ะเอียนั่นเอง
เหตุที่แต๊ะเอียจำเป็นต้องอยู่ในซองสีแดงหรืออั่งเปา ก็เพราะสีแดงเป็นสัญลักษณ์แห่งความมงคลตามความเชื่อของชาวจีน อีกทั้งสีแดงยังเป็นตัวแทนของพลังอำนาจในการปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย สิ่งไม่เป็นมงคลทั้งหลาย
ใครจะได้ “อั่งเปา” บ้าง
สำหรับการมอบ ‘อั่งเปา’ ในเทศกาลตรุษจีนนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการมอบให้กันในบรรดาญาติพี่น้อง และมอบให้ลูกหลานของตัวเอง โดยผู้มอบจะต้องมีรายได้หรือทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้แล้ว ในที่นี้ผู้มอบจะต้องนำเงินขวัญถุงหรือแต๊ะเอียใส่ลงไปในอั่งเปา เพื่อมอบให้แก่ผู้ที่เด็กกว่า ซึ่งคน ๆ นั้นจะต้องยังไม่มีเงินเดือน หรืออยู่ในวัยเรียนที่ยังหาเลี้ยงตัวเองไม่ได้ ในบางครอบครัวอาจมอบให้ผู้อาวุโสกว่า หรือมอบให้แก่ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพรักและเลี้ยงดูเรามานั่นเอง
นอกจากการให้อั่งเปาให้แก่คนในครอบครัวแล้ว ผู้เป็นเจ้าคนเจ้านายก็อาจจะมอบให้แก่ลูกน้อง หรือลูกน้องจะมอบให้ผู้อาวุโสก็สามารถทำได้เช่นกัน
วันตรุษจีน 2567 แจกอั่งเปาวันไหน
สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่ในการมอบอั่งเปาในวันตรุษจีนนั้น ส่วนใหญ่แล้วนิยมแจกหลังจากทำพิธีไหว้และกินอาหารพร้อมหน้ากันในครอบครัวเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะสามารถแจกได้ตั้งแต่หลังมื้อเย็นในวันไหว้ที่ตรงกับวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ หรือมอบในวันเที่ยว หรือวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์
เลขมงคลที่เหมาะแก่การให้เป็น “แต๊ะเอีย”
ปกติแล้วตามธรรมเนียมปฏิบัติของคนจีนจะนิยมใส่ซองอั่งเปาเป็นเลขคู่ เช่น 2 6 8 โดยเลข 8 ก็ถือเป็นเลขที่มงคลที่สุด และเป็นเลขนำโชคตามความเชื่อคนจีน ในหลาย ๆ ครอบครัวจึงมักจะให้แต๊ะเอียเป็จำนวนที่มีเลข 8 แต่จะไม่นิยมเลข 4 เพราะออกเสียงคล้ายกับคำว่า 死 sǐ (อ่านว่า สี่) แปลว่า ตาย
สำหรับครอบครัวไหนที่พอมีกำลังทรัพย์ก็มักจะใส่เป็นจำนวนเงิน 200, 600, 800 บาท หรืออาจมากกว่านั้นก็ได้เช่นกัน แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้องใส่ตามจำนวนเหล่านี้ เพราะการให้แต๊ะเอียถือเป็นเงินขวัญถุงที่ผู้ให้สามารถมอบแก่ผู้น้อยจากความปรารถนาดี และจากใจบริสุทธิ์ที่อยากจะมอบให้ ดังนั้นจึงสามารถให้ตามจำนวนที่เห็นสมควร ซึ่งจะต้องไม่เดือดร้อนต่อกำลังทรัพย์ของตนเอง
ธรรมเนียมการรับอั่งเปา คำอวยพรภาษาจีน
“ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” และ “อั่งเปาตั่วตั่วไก๊” ถือเป็นสองประโยคฮอตฮิตที่ทุกคนมักพูดและได้ยินอยู่เป็นประจำในวันตรุษจีน โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการแจกอั่งเปาและให้แต๊ะเอีย ซึ่งแต่ละประโยคก็มีความหมายในภาษาจีน ดังนี้
1. ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้
ประโยคที่มีที่มาจากภาษาจีนว่า 新正如意 新年发财 (ซิน-เจิง-หรู-อี้-ซิน-เหนียน-ฟา-ฉาย) ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ หมายถึง วันปีใหม่นี้ คิดหวังสิ่งใดขอให้สมความปรารถนา ร่ำรวยมั่งคั่ง ถือเป็นคำอวยพรที่ชาวจีนจะมอบให้แก่กันในเทศกาลตรุษจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะให้-รับอั่งเปา บรรดาผู้ใหญ่ก็อวยพรแก่ลูกหลาน ส่วนลูกหลานก็อวยพรคืนแด่ญาติผู้ใหญ่เช่นกัน
2. อั่งเปาตั่วตั่วไก๊
มาจากประโยคภาษาจีนที่ว่า 红包多多来 (หง-เปา-ตัว-ตัว-ไหล) อั่งเปาตั่วตั่วไก๊ แปลเป็นไทยว่า ขอซองแดงเยอะ ๆ หรือเป็นการบอกว่า ขอให้ผู้ใหญ่ที่มอบซองแดงให้เราใส่เงินมาเยอะ ๆ นั่นเอง เป็นประโยคที่เด็ก ๆ นิยมพูดกันก่อนจะรับอั่งเปาจากผู้ใหญ่ ซึ่งหากเด็ก ๆ คนไหนพูดด้วยเสียงเพราะ ๆ น่าฟัง ผู้ใหญ่ร้อยทั้งร้อยก็ต้องมีใจอ่อนใส่แต๊ะเอียลงซองแดงเยอะ ๆ แน่นอน
เกร็ดความรู้ “อั่งเปา” มีที่มาจากไหน เริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่
อั่งเปาถือกำเนิดมาจากตำนานจีนว่า มีปีศาจกายสีดำ ไม่มีสีที่มือตนหนึ่งชื่อ ซุ่ย ทุกวันส่งท้ายปีเก่า ปีศาจซุ่ยจะออกอาละวาดด้วยการแตะที่ศีรษะเด็กจำนวน 3 ครั้ง โดยอาจทำให้เด็กล้มป่วยหรือเสียชีวิตได้เลย
พ่อแม่ของเด็ก ๆ ครอบครัวหนึ่งจึงไปสวดมนต์อ้อนวอนขอให้เทพเจ้ามาช่วย เทพเจ้าจึงส่งนางฟ้า 8 องค์แปลงกายมาเป็นเหรียญจำนวน 8 เหรียญห่ออยู่ในกระดาษสีแดง และนำไปไว้ใต้หมอน
คืนนั้นเมื่อปีศาจซุ่ยออกอาละวาดและมุ่งหน้าไปทำร้ายเด็กคนนั้น ทันใดนั้น เหรียญในห่อกระดาษสีแดงก็เปล่งแสงสีทอง จนปีศาจซุ่ยตกใจหนีหายไปและไม่หลับมาปรากฏตัวอีกเลย
ตำนานนี้กลายเป็นเรื่องเล่าบอกต่อกันออกไป จนครอบครัวอื่นในหมู่บ้านเริ่มนำเหรียญมาห่อด้วยกระดาษสีแดงมอบให้เด็ก ๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องรางไล่ปีศาจ เรียกว่า 压祟钱 yā suì qián (อ่านว่า ยา-ซุ่ย-เฉียน) มีความหมายว่า เงินที่ขับไล่ปีศาจร้าย ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นประเพณีมอบอั่งเปา สืบทอดมาในเทศกาลตรุษจีนตราบจนทุกวันนี้
อีกเพียงไม่กี่วันก็จะเข้าสู่เทศกาลตรุษจีน ประจำปี 2567 แล้ว หากเด็ก ๆ บ้านไหนมีแพลนจะเดินทางไปกินข้าว พบปะรังสรรค์กับครอบครัวก็อย่าลืมฝึกพูด “อั่งเปาตั่วตั่วไก๊” ประโยครับทรัพย์กันไว้ให้ดี และก่อนจากกันไป Thaiger ก็อยากจะอวยพรทุกคนว่า “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” ค่ะ
อ้างอิงจาก : stou, วิกิพีเดีย, pumbchinese และ says
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง