สุขภาพและการแพทย์

รู้จัก “เครื่อง ECMO” ผู้ป่วยโรคหัวใจรู้ไว้ เพิ่มโอกาสรอดชีวิต

รู้จัก “เครื่อง ECMO” เทคโนโลยีเครื่องปอดและหัวใจเทียม เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน มีวิธีใช้งานอย่างไรบ้าง พร้อมแนะนำราคาเครื่อง ECMO ในประเทศไทย

ในปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจประมาณปีละ 7 หมื่นราย และยังมีผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉินที่ไม่สามารถเข้าถึงวิธีการรักษาอย่างเหมาะสมอีกเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและปอดสูงขึ้นในแต่ละปี ดังนั้น การบรรเทาอาการอย่างทันท่วงทีจึงเป็นหัวใจสำคัญของเครื่อง “อีซีเอ็มโอ” ECMO (Extracorporeal Membrane Oxygenation) มีอีกชื่อว่า “อีซีแอลเอส” ECLS (Extracorporeal Life Support) หรือก็คือเครื่องพยุงหัวใจและปอดเทียมแบบเคลื่อนย้าย (Cardiopulmonary Bypass) มีจุดประสงค์เพื่อแทนที่การทำงานของหัวใจและปอด ในเวลาที่อวัยวะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มักพบในผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินเกี่ยวกับโรคหัวใจและปอดเท่านั้น โดยมีรายละเอียดลักษณะการทำงานดังต่อไปนี้

Advertisements

หลักการทำงานของเครื่อง ECMO

อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าเครื่อง ECMO (Extracorporeal Membrane Oxygenation) มีเป้าหมายหลักคือเพื่อทดแทนการทำงานของหัวใจและปอดที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยมีลักษณะการทำงานเหมือนกับปั้มสูบน้ำ เป็นการเติมก๊าซออกซิเจนเข้าไปในหลอดเลือดแดงหรือหลอดเลือดดำ และนำคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาคล้ายกับการทำงานของปอดมนุษย์ผ่านท่อพลาสติก (Cannulas) ส่งผลให้อวัยวะหัวใจกลับมาตอบสนองทำงานร่วมกันได้อย่างเต็มที่นั่นเอง

ทั้งนี้ ทีมงานเดอะไทยเกอร์ จะขออธิบายรูปแบบการทำงานของเครื่อง ECMO แบบทีละขั้นตอนเพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพการทำงานชัดเจนยิ่งขึ้นครับ

1. ดึงเลือดออกจากตัวผู้ป่วย ด้วยการใส่ท่อพลาสติกที่มีขนาดใหญ่เท่าหัวแม่มือผ่านหลอดเลือดตามแขน คอ หรือขา บางกรณีอาจใส่ตรงเข้าไปในหัวใจก็ได้เช่นกันโดยการเปิดหน้าอกเข้าไป แต่ส่วนใหญ่มักจะใส่จากบริเวณขาหนีบขึ้นไปถึงหัวใจ ซึ่งการใส่จะต้องไม่ทำอันตรายกับหลอดเลือดและไม่ทะลุเข้าหัวใจ

2. ใส่ท่อพลาสติกเข้าไปในร่างกายอย่างน้อย 2 ท่อ โดยท่อหนึ่งเป็นการเอาเลือดออกจากร่างกาย ส่วนอีกท่อหนึ่งเอาเลือดกลับเข้าร่างกาย ดังนั้นเมื่อเอาเลือดออกจากร่างกายเข้ามาในตัวเครื่องแล้ว ตัวเครื่องจะเติมออกซิเจนแล้วปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม ในการปรับอุณหภูมิอย่างกรณีที่ผู้ป่วยมีไข้ หรือกรณีที่ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นมาเป็นเวลานาน ต้องการให้อุณหภูมิในร่างกายต่ำเพื่อจะรักษาเซลล์ในสมองจะใช้การควบคุมอุณหภูมิจากตัวเครื่อง

3. สำหรับการเติมออกซิเจนในบางกรณีเจอผู้ป่วยโรคปอดที่ทำให้ปอดไม่ยอมทำงาน เช่น การติดเชื้อโควิด-19 โดยผู้ป่วยโควิด-19 บางส่วนมีเชื้อโรคเข้าไปทำลายปอด ทำให้ปอดหยุดทำงานไปชั่วขณะหนึ่งซึ่งอาจจะนานเป็นหลายสัปดาห์ การใช้เครื่อง ECMO สามารถช่วยซื้อเวลาได้ โดยการเติมออกซิเจนเข้าไปในเลือดทดแทนการทำงานของปอด โดยมีหลักการคือดึงเอาเลือดออกมาแล้วเติมออกซิเจนข้างนอกด้วยการผ่านตัวปั๊ม จากนั้นก็ส่งกลับคืนเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง

Advertisements

4. หลังจากที่เติมออกซิเจนเสร็จเรียบร้อย จะต้องผ่านตัวปั๊มที่มีลักษณะรูปกรวย ซึ่งคอยทำการปั่นเลือดแล้วคืนกลับเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย ตัวปั๊มนี้สามารถใช้ทดแทนการทำงานของหัวใจได้ ดังนั้นในกรณีที่หัวใจไม่ยอมเต้น เช่น หัวใจวายหรือผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายแล้วไม่ทำงาน ก็สามารถใช้เครื่องมือนี้ทดแทนการทำงานของหัวใจได้นั่นเอง

เครื่อง ECMO โรงพยาบาลในไทย
ภาพจาก : Bangkok Hospital

ประเภทของเครื่อง ECMO

สำหรับประเภทของเครื่อง ECMO จะมีให้เลือก 3 แบบ ประกอบด้วย VA – ECMO, VV – ECMO, AV – ECMO ซึ่งมีรูปแบบการใช้งานแต่ละชนิดแตกต่างออกไปขึ้นอยู่กับผู้ป่วยและความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีรายละเอียดตามนี้

1. Veno – arterial ECMO (VA – ECMO)

Veno – arterial ECMO (VA – ECMO)เป็นเครื่องอีซีเอ็มโอ ที่ช่วยในการแลกเปลี่ยนก๊าซและสนับสนุนการไหลเวียนของโลหิต ในขณะที่เลือดนั้นถูกสูบจากเส้นเลือดดำสู่เส้นเลือดแดง ซึ่งระบบนี้จะช่วยเรื่องการทำงานของหัวใจและปอด เช่นเดียวกับระบบที่ใช้ในห้องปฏิบัติการสำหรับการผ่าตัดหัวใจ

2. Veno – venous (VV – ECMO)

ลำดับต่อมาคือ Veno – venous (VV – ECMO) จะช่วยเฉพาะการแลกเปลี่ยนก๊าซ เลือดจะถูกดูดออกจากเส้นเลือดดำและสูบกลับเข้าไปอีกครั้ง ระบบนี้จะใช้ได้กับปอดเท่านั้น

3. Arterio – venous ECMO (AV – ECMO

เครื่อง ECMO ประเภทสุดท้ายคือ Arterio – venous ECMO (AV – ECMO มีลักษณะการทำงานคือ ช่วยในการแลกเปลี่ยนก๊าซโดยการใช้แรงดันของเลือดเพื่อที่จะสูบเลือดจากเส้นเลือดดำสู่เส้นเลือดแดง

เครื่อง ECMO คืออะไร โรคหัวใจ ฉุกเฉิน

ผู้ป่วยแบบใดไม่ควรใช้ ECMO

แม้ว่าเครื่อง ECMO จะเป็นเครื่องพยุงหัวใจและปอดเทียมแบบเคลื่อนย้ายได้ในกรณีฉุกเฉิน แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยทุกคนจะสามารถใช้งานเครื่อง ECMO ได้ โดยส่วนมากจะไม่สามารถใช้เครื่องอีซีเอ็มโอได้กับ ผู้ป่วยที่มีความเสียหาย อวัยวะที่ไม่สามารถกู้คืน หรืออวัยวะล้มเหลวหลายจุด และแพทย์ส่วนใหญ่ะจไม่แนะนำให้ผู้ป่วยที่ไม่สามารถใส่สารกันเลือดแข็งตัวไว้ ใช้งานเครื่อง ECMO ในการรักษา

ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการใช้ ECMO

สำหรับภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยที่ใช้งานเครื่อง ECMO มีทั้งหมด 6 อาการเบื้องต้น ตามข้อมูลจากแพทย์ผู้เชียวชาญดังนี้

  1. ผู้ป่วยส่วนใหญ่จำเป็นต้องใส่สารกันเลือดแข็งตัวอย่างต่อเนื่องและผู้ป่วยมากกว่า 50% จะต้องเจอกับอาการตกเลือด
  2. Thromboembolism (อุดตัน) คือการอุดตันในวงจร ECMO สามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของเครื่องสูบหรือเครื่องให้ออกซิเจน (Oxygenator) ใน VA – ECMO สามารถนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมองหรือ Leg Ischemia (ขาขาดเลือด)
  3. การจัดการเรื่อง ECMO จะรวมถึงการตรวจสอบเลือดเพื่อหาความสมดุลของเลือดที่แข็งตัวที่ดีที่สุด
  4. ภาวะแทรกซ้อนติดเชื้ออาจจะเกี่ยวข้องกับ Indwelling Lines, Access Sites or Primary Pathology
  5. หากวงจร ECMO ล้มเหลวหรือแตกอาจนำไปสู่ภาวะโรคหัวใจที่ร้ายแรง แต่เป็นเรื่องที่ไม่ปกติตราบใดที่ทุกองค์ประกอบมีความปลอดภัย
  6. Cannula (ท่อพลาสติก) สามารถเป็นปัญหาได้หากหลุดหรืออยู่ในจุดที่ผิด จะมีผลต่อการไหลเวียนเลือดและประสิทธิภาพ ECMO

อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยตลอดการใช้งาน ควรมีพนักงานที่ได้รับการฝึกอบรมอยู่กับผู้ป่วยตลอดเวลา เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ของวงจร ECMO อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันปัญหาและตอบสนองทันทีในกรณีล้มเหลวเฉียบพลัน

ค่าใช้จ่ายการใช้เครื่อง ECMO ในประเทศไทย

สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการเลือกใช้เครื่อง ECMO ในการพยุงการทำงานของอวัยวะหัวใจและปอด ควรปรึษาแพทย์ผู้เชียวชาญหลายคนประกอบกับคนในครอบครัวก่อนตัดสินใจ เนื่องจาก ECMO เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง มีค่าใช้จ่ายสูง และต้องเป็นการทำงานร่วมกันของสหวิชาชีพที่อาศัยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ อีกทั้งราคาค่าใช้จ่ายมีอัตราขึ้นอยู่กับอาการหนัก-เบาของผู้ป่วย ประเภทของเครื่อง ECMO ระยะเวลาในการใช้งาน รวมถึงสถานพยาบาลที่เลือกในการใช้งาน จึงทำให้มีราคาไม่แน่นอนแล้วแต่กรณีนั่นเอง

เครื่อง ECMO คืออะไร โรคหัวใจ

สรุปแล้วเครื่อง “ECMO” ไม่ได้มีหน้าที่หลักเพื่อรักษา แต่มีจุดประสงค์ในการพยุงหรือประคองการทำงานของอวัยวะปอดกับหัวใจที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้กลับมาตอบสนองทำงานได้ดังเดิม โดยต้องใช้งานภายใต้ความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ และหากจะเลือกใช้งานควรปรึกษาอย่างรอบคอบสำหรับการวางแผนค่าใช้จ่ายและแนวทางในการใช้งานต่อไปครับ

อ้างอิง : Bangkok Hospital, Mayo Clinic, Johns Hopkins Medicine

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button