10 ธ.ค. วันรัฐธรรมนูญ ครบรอบ 83 ปี ก่อตั้งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ย้อนประวัติ “วันรัฐธรรมนูญ” 10 ธันวาคมของทุกปี ระลึกถึงการจัดตั้งรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับแรกของประเทศไทย ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พร้อมครบรอบ 83 ปี การถือกำเนิดของ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” สัญลักษณ์ซึ่งย้ำเตือนว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เป็น ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (โดยนิตินัย)
วันรัฐธรรมนูญในประเทศไทย ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2565 ก่อตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึงโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932) นับเป็น การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์การปกครองของชาติไทย เพราะพระมหากษัตริย์จะต้องเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จากเดิมที่พระมหากษัตริย์ไทยมีอำนาจสูงสุดนั่นเอง
ทีมงาน The Thaiger จึงอยากเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านมาย้อนรอยประวัติศาสตร์อันเป็นรากฐานสำคัญต่อประชาธิปไตยไทยในปัจจุบัน พร้อมทำความรู้จัก “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” สัญลักษณ์ของผู้เรียกร้องประชาธิปไตยผ่านช่วงเวลาต่าง ๆ แห่งการเปลี่ยนแปลง
กำเนิดรัฐธรรมนูญในประเทศไทย
ก่อนจะศึกษาประวัติศาสตร์ วันรัฐธรรมนูญในประเทศไทย ต้องทำความเข้าใจความหมายและบริบทของคำว่า “รัฐธรรมนูญ” (Constitution) คือ บทกฎหมายสูงสุดที่จัดระเบียบการปกครองประเทศ กำหนดรูปแบบและระบอบการปกครองของประเทศ สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของประชาชน อำนาจหน้าที่ขององค์กรและความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร
สำหรับรัฐธรรมนูญของไทยได้กำหนดให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (จากพจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน)
ทั้งนี้แนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญในประเทศไทย เริ่มมีขึ้นหลังจากเหตุการณ์ปฏิวัติจากคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงประกาศใช้ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ฉบับแรกของไทย
จากนั้นในวันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ก็ได้ทรงพระราชทาน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และเป็นฉบับแรกของประเทศไทยอีกด้วย
ทำไมรัฐธรรมนูญจึงสำคัญต่อประเทศไทย
อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นบทกฎหมายสูงสุดที่จัดระเบียบการปกครองประเทศที่แยกย่อยออกไปเป็นกฎหมายหรือพระราชบัญญัติในด้านต่าง ๆ ครอบคลุมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคม ดังนั้นการมีรัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองทั้งแสดงการมีตัวตนของรัฐหรือประเทศนั้น ๆ ที่ไม่ขึ้นเอกราชต่อรัฐอื่น ๆ
เป็นการกำหนดทิศทางและเจตจำนงที่ชัดเจนในการพัฒนาและปกครองสังคมนั้น ๆ นอกจากนี้การมีรัฐธรรมนูญยังทำให้เรามีบทบาท หน้าที่ ในสังคมให้เป็นไปตามกลไกของสถาบันการเมืองการปกครอง
ส่วนที่สำคัญของกฎหมายรัฐธรรมนูญคือ การกำหนดให้ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการเคลื่อนไหวทางสังคม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือแม้แต่การเลือกนับถือศาสนาตามความเชื่อส่วนบุคคลนั่นเอง
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญจะช่วยให้รัฐหรือประเทศนั้น ๆ ได้รับความชอบธรรมและความน่าเชื่อถือในระดับนานาชาติ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกอีกด้วย
รายชื่อรัฐธรรมนูญในประเทศไทย
นับตั้งแต่ประเทศไทยได้รับรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932) จนถึงปัจจุบันปก็มีรายชื่อรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้รวมแล้ว 20 ฉบับ ดังนี้
- พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 [5] รัฐธรรมนูญตุ่มแดง หรือ รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495
- ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511
- ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519
- ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521
- ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ความเป็นมาของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
สัญลักษณ์อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของนักต่อสู้เพื่อเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” ในประเทศไทย ผ่านพ้นยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง พร้อมเรื่องราวแห่งชัยชนะและโศกนาฏกรรมมากมายที่ถูกจารึกผ่านหยาดเหงื่อ เลือด เนื้อ และคราบน้ำตาของผู้เสียสละบนปติมากรรม “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย”
ทั้งนี้ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (Democracy Monument) สัญลักษณ์ของวันรัฐธรรมนูญไทย ตั้งอยู่กึ่งกลางวงเวียนระหว่างถนนราชดำเนินกลางกับถนนดินสอ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ออกแบบโดยหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล สถาปนิก ประจำกรมโยธาธิการ และศิลป์ พีระศรีร่วมกับสิทธิเดช แสงหิรัญ เป็นศิลปินผู้ปั้นอนุสาวรีย์ฯนี้
ประวัติของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีจุดเริ่มต้นในกรกฎาคม พ.ศ. 2482 (83 ปี) สมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นหลักกิโลเมตรศูนย์ ที่ซึ่งเป็นอ้างอิงในการวัดระยะทางจากกรุงเทพมหานครอีกด้วย
ในปัจจุบัน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยังคงตั้งตระหง่านและเป็นสัญลักษณ์ของผู้เรียกร้องประชาธิปไตยเรื่อยมา จนกระทั่งในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานโดยกรมศิลปากรให้เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
ความหมายสัญลักษณ์ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
บริเวณปีกทั้ง 4 ด้านของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สูงจากแท่นพื้น 24 เมตร สอดคล้องกับเหตุการณ์ปฏิวัติสยามที่ตรงกับวันที่ 24 มิถุนายน 2565 ส่วนพานทูนฉบับรัฐธรรมนูญตำแหน่งยอดป้อมกึ่งกลางอนุสาวรีย์ สูง 3 เมตร ตรงกับ เดือน 3 หรือเดือนมิถุนายน (ที่ในตอนนั้นปฏิทินไทยนับเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปี) ที่เป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยในสมัยนั้น นอกจากนี้ความหมายของเลข 3 ยังสื่อถึง อำนาจอธิปไตยประกอบด้วย นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ
สำหรับจำนวนปืนใหญ่รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำนวน 75 กระบอก มีลักษณะปากกระบอกปืนฝังลงดิน รอบฐานของอนุสาวรีย์ฯ มีโซ่เหล็กเรียงร้อยเอาไว้ ทั้งหมดนี้มีความหมายถึงปีที่เริ่มทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โซ่ที่ร้อยเรียงนั้นหมายถึงความสามัคคีกลมเกลียวของคณะปฏิวัติ
มาต่อกันที่ลวดลายปั้นนูนบริเวณฐานครีบทั้งบ 4 เป็นการแสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานของคณะราษฎรในช่วงเวลาที่มีการนัดหมาย และแยกย้ายเริ่มปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
พระขรรค์ หรือลักษณะของอาวุธมีคม ที่รายล้อมรอบป้อมกลางตัวอนุสาวรีย์ จำนวน 6 เล่ม มีความหมายสื่อถึงหลัก 6 ประการจากคณะราษฎร ประกอบด้วย “เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา”
สุดท้ายคือปติมากรรมอ่างตรงฐานปีกทั้ง 4 ด้าน รูปงูใหญ่ เป็นสัญลักษณ์ของปีที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นปีมะโรง หรือ ปีงูใหญ่นั่นเองครับ
การเดินทางไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ผู้ที่สนใจตามรอยประวัติศาสตร์เนื่องในวันรัฐธรรมนูญไทย 10 ธันวาคม สามารถนั่งรถเมล์ประจำทางสาย 183 (ปอ.) (AC), 32, 35 (ปอ.) (AC), 556 (ปอ.) (AC), 68 หรือนั่งรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT มาลงยังสถานีสามยอด แล้วเดินลัดเลาะที่ถนนมหาไชยเรื่อย ๆ ก็จะพบกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณถนนราชดำเนินกลาง