รู้จัก “พุทธรักษา” ดอกไม้ประจําวันพ่อแห่งชาติ มีความหมายอย่างไรบ้าง
บอกรักพ่อด้วย “ดอกพุทธรักษา” ดอกไม้ประจำ “วันพ่อแห่งชาติ” 5 ธันวาคม 2565 มีความหมายสื่อถึงอะไร ทำไมจึงถูกกำหนดให้เป็นสัญลักษณ์ในวันพ่อของทุกปี พร้อมเผยที่มาความเชื่อไม้มงคลของดอกพุทธรักษา
วันพ่อแห่งชาติปีนี้ ตรงกับวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม 2565 อีกทั้งยังเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 วันชาติไทย และวันดินโลก ซึ่งรัฐบาลไทยได้กำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันหยุดราชการ เอกชน และธนาคารประจำปี โดยมีสัญลักษณ์ประจำวันพ่อแห่งชาติคือ “ดอกพุทธรักษา” (Cannaceae) อันเป็นดอกไม้สีเหลืองอร่ามผ่องใส สอดคล้องกับสีประจำวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวง ร. 9 ที่ตรงกับวันจันทร์อีกด้วย
ความหมาย “ดอกพุทธรักษา”
สำหรับความหมายของ “ดอกพุทธรักษา” คือ การได้รับปกป้องคุ้มครองให้มีความสงบร่มเย็นจากพระพุทธเจ้า หรือเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าที่คอยปกปักรักษา ขจัดปัดเป่าสิ่งช่วงร้าย สอดคล้องกับบทบาทของ “พ่อ” ที่เปรียบได้กับเสาหลักซึ่งคอยปกป้องดูแลคนในครอบครัวตามวัฒนธรรมของคนไทย
ดังนั้น เมื่อนำความหมายของดอกพุทธรักษา และสีของดอกไม้ที่ตรงกับวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ในวันจันทร์ จึงทำให้ดอกพุทธรักษาเหมาะสำหรับการเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันพ่อไทยนั่นเอง
อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่า ดอกพุทธรักษา คือดอกไม้ประจำวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม มีความหมายสื่อถึง การปกป้องคุ้มครองจากสิ่งชั่วร้าย มีชื่อเรียกอื่นเช่น พุทธศร บัวละวงศ์ เป็นพืชในวงศ์ CANNACEAE ชื่อสามัญ Butsarana และชื่อวิทยาศาสตร์คือ Canna indica
ทั้งนี้ ดอกพุทธรักษา เป็นหนึ่งในพรรณไม้ล้มลุก เนื้ออ่อนอวบน้ำ ลำต้นมีความสูงประมาณ 1–2 เมตร มีการเจริญเติบโตโดยแตกหน่อเป็นกอคล้ายกับกล้วย ขนาดใบกว้างประมาณ 10–15 ซม. ยาวประมาณ 25–35 ซม. มักเจริญเติบโตในภูมิอากาศเขตร้อนอย่างในประเทศไทย นิยมปลูกไว้ในแปลงสวนหรือในกระถาง เพื่อประดับอาคารบ้านเรือนให้เกิดความสวยงาม
นอกจากนี้ดอกพุทธรักษายังเหมาะกับดินร่วนซุยที่มีความชื้นสูง ต้องการแสงแดดเล็กน้อย และน้ำปานกลาง เป็นดอกไม้ที่ทนทานดูแลรักษาง่าย เหมาะสำหรับการปลูกตามไร้สวนเพื่อให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงาม
ตำนานความเชื่อ ดอกพุทธรักษา
ตามความเชื่อของคนไทยโบราณกล่าวว่า การปลูกดอกพุทธรักษาไว้ในบ้านจะช่วยปกป้องไม่ให้พบเจอภัยอันตรายแก่เจ้าของผู้อาศัย เพราะเป็นดอกไม้ที่มีพระพุทธเจ้าคอยคุ้มครองรักษาตามชื่อ “พุทธรักษา”
อ้างอิง : 1