ปภ. อัปเดตพื้นที่น้ำท่วม 16 จังหวัด เร่งระบายน้ำ-ประสานช่วยประชาชน
ปภ.รายงาน สถานการณ์น้ำท่วม พื้นที่ 16 จังหวัด ประสานจังหวัดเร่งระบายน้ำและช่วยเหลือประชาชน
28 ก.ย. 65 เวลา 11.00 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM หรือ ปภ. รายงาน สถานการณ์น้ำท่วม ฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 16 จังหวัด ได้แก่
ลำพูน สุโขทัย ตาก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร พิษณุโลก เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู ปราจีนบุรี อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และปทุมธานี
รวม 51 อำเภอ 216 ตำบล 933 หมู่บ้าน ซึ่งปภ.ได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำและให้การช่วยเหลือประชาชนแล้ว
ตรวจสอบ สถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ 16 จังหวัด
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.)
รายงานผลกระทบจากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง
ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมกระโชกแรงบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 22 – 28 ก.ย. 65 เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 20 จังหวัด ได้แก่
เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน สุโขทัย ตาก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร พิษณุโลก เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ นครราชสีมา มุกดาหาร ยโสธร หนองบัวลำภู ระยอง ปราจีนบุรี สมุทรปราการ รวม 72 อำเภอ 155 ตำบล 433 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 3,335 ครัวเรือน ไม่มีผู้ได้บาดเจ็บและเสียชีวิต
ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 12 จังหวัด รวม 35 อำเภอ 84 ตำบล 252 หมู่บ้าน ดังนี้
1. ลำพูน เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองลำพูน อำเภอป่าซาง อำเภอลี้ อำเภอบ้านธิ อำเภอทุ่งหัวช้าง และอำเภอบ้านโฮ๋ง รวม 9 ตำบล 13 หมู่บ้าน ระดับน้ำลดลง
2. สุโขทัย เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีสัชนาลัย และอำเภอศรีสำโรง รวม 7 ตำบล 12 หมู่บ้าน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
3. ตาก เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านตาก และอำเภอสามเงา รวม 4 ตำบล 28 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 244 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
4. เพชรบูรณ์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหล่มเก่า และอำเภอหล่มสัก รวม 8 ตำบล 45 หมู่บ้านประชาชนได้รับผลกระทบ 12 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
5. กำแพงเพชร เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพรานกระต่าย อำเภอโกสัมพีนคร อำเภอเมืองกำแพงเพชร และอำเภอขาณุวรลักษบุรี รวม 5 ตำบล 10 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
6. พิษณุโลก น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวังทอง และอำเภอนครไทย รวม 9 ตำบล 22 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 78 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
7. เลย เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่อำเภอด่านซ้าย รวม 9 ตำบล 54 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 750 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
8. ขอนแก่น เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเมืองขอนแก่น รวม 5 ตำบล 5 หมู่บ้าน ระดับน้ำลดลง
9. ชัยภูมิ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอคอนสวรรค์ อำเภอเนินสง่า อำเภอจัตุรัส อำเภอเกษตรสมบูรณ์ และอำเภอบ้านเขว้า รวม 9 ตำบล 20 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
10. ศรีสะเกษ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอห้วยทับทัน อำเภอยางชุมน้อย อำเภอวังหิน อำเภอภูสิงห์ อำเภอน้ำเกลี้ยง และอำเภออุทุมพรพิสัย รวม 16 ตำบล 46 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,301 ครัวเรือน อพยพประชาชน 176 ครัวเรือน 704 คน ไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว 12 จุด ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
11. หนองบัวลำภู เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอศรีบุญเรือง รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 23 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
12. ปราจีนบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอเมืองปราจีนบุรี รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 61 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
เช็กสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งล่าสุด
สำหรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง จากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก และปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก ลำน้ำสาขามีปริมาณมาก ระหว่างวันที่ 13 ส.ค. – 28 ก.ย. 65 ส่งผลให้น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่
ตาก ขอนแก่น มหาสารคาม อุบลราชธานี บุรีรัมย์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี และปทุมธานี ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และปทุมธานี รวม 18 อำเภอ 136 ตำบล 709 หมู่บ้าน ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ดังนี้
– ตาก เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสามเงา และอำเภอบ้านตาก รวม 4 ตำบล 28 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 342 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
– อุบลราชธานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ อำเภอสว่างวีระวงศ์ อำเภอพิบูลมังสาหาร รวม 10 ตำบล 42 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,026 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
– พระนครศรีอยุธยา น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอผักไห่ อำเภอบางบาล อำเภอบางไทร อำเภอบางปะอิน และอำเภอพระนครศรีอยุธยา รวม 88 ตำบล 535 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 25,366 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
– อ่างทอง น้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวิเศษชัยชาญ อำเภอป่าโมก อำเภอไชโย และอำเภอเมืองอ่างทอง รวม 13 ตำบล 40 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 819 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
– ปทุมธานี เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปทุมธานี และอำเภอสามโคก รวม 21 ตำบล 64 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,926 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่และให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง และจะได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับ แจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT”