27 ก.ย. ชวนส่อง ดาวพฤหัสบดีโคจรใกล้โลกที่สุดในรอบ 59 ปี ดูตาเปล่าได้ชัดแจ๋ว
เตรียมส่อง ดาวพฤหัสบดี โคจรใกล้โลกในรอบ 59 ปี สามารถมองเห็นได้ดวงตาเปล่าในคืนวันอังคาร 27 ก.ย. 65 พร้อมชมถ่ายทอดสดจาก สดร. ทั่วไทย
ชวนผู้อ่านชมท้องฟ้ายามราตรีในคืนวันอังคารที่ 27 กันยายน 2565 เพราะ “ดาวพฤหัสบดี” จะโคจรเข้ามาใกล้โลกที่สุดในรอบปี โดยตำแหน่งการโคจรของดาวพฤหัสบดีจะเข้ามาอยู่ในทิศทางตรงข้ามกับดวงอาทิตย์พอดี ทำให้เกิดระยะห่างจากโลกถึงดาวพฤหัสบดีประมาณ 591 ล้านกิโลเมตร ถึงแม้ว่าจะมีการรายงานเกี่ยวกับดาวพฤหัสบดีโคจรเข้าใกล้โลกในทุกปี แต่ครั้งนี้ถือว่าเป็นการโคจรใกล้โลกที่สุดของดาวพฤหัสบดีในรอบ 59 ปี นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2506 เลยทีเดียว
เมื่อถึงวันที่ 27 ก.ย. 65 หลังจากที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าเป็นที่เรียบร้อย ดาวพฤหัสบดีก็จะปรากฏให้เห็นทางทิศตะวันออก ซึ่งมีความสว่างมากเป็นพิเศษ เพราะอยู่ห่างจากโลกเพียง 591 ล้านกิโลเมตร จนสามารถรับชมดวงดาวได้ด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ในประเทศไทย
หากโชคดีในวันดังกล่าวไม่มีพายุฝนฟ้าคะนอง จนท้องฟ้าสดใส ไร้เมฆมาบดบังก็จะสามารถมองเห็นดาวพฤหัสบดีที่โคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดได้ตลอดทั้งคืนจนถึงเวลารุ่งเช้า
ทั้งนี้การมองดาวพฤหัสบดีผ่านกล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว และมีกำลังขยายตั้งแต่ 30 เท่าขึ้นไป ด้วยการโคจรเข้าใกล้ของดาวพฤหัสบดีจะทำให้เห็นแถบเมฆบนดาว รวมถึงดวงจันทร์กาลิเลียน บริวารของดาวพฤหัสบดีทั้งหมด 4 ดวงได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนิมีด และคัลลิสโต ได้อย่างชัดเจนตลอดทั้งคืน
นอกจากนี้หากผู้อ่านดูดาวพฤหัสบดีในช่วงเวลาประมาณ 21.48 – 00.04 น. จะสามารถเห็นปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์ไอโอเคลื่อนผ่านหน้าดาวพฤหัสบดี รวมถึงดาวเสาร์ที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนถัดจากดาวพฤหัสบดีในทางทิศตะวันตกได้อีกด้วย
ในวันอังคารที่ 27 กันยายน 2565 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ยังได้จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก ชวนผู้สนใจเข้าร่วมส่องกล้องโทรทรรศน์มองแถบเมฆ และดวงจันทร์กาลิเลียนของดาวพฤหัสบดีที่จุดสังเกตการณ์หลักทั้ง 4 พิกัด ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และหอดูดาว เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดสงขลา ตั้งแต่เวลา 18.00 – 22.00 น. สามารถชมดาวพฤหัสบดีโคจรใกล้ที่สุดได้ฟรี แบบไม่มีค่าใช้จ่าย
สุดท้ายนี้หากผู้สนใจท่านใดไม่สะดวกเดินทางไปที่จุดสังเกตการณ์หลักก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมมองดาวพฤหัสบดีเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 59 ปีได้ที่จุดสังเกตการณ์ใกล้บ้าน โดยเช็กที่นี่
และสามารถรับชมถ่ายทอดสดของปรากฏการณ์ ดาวพฤหัสบดี โคจรใกล้โลกในรอบ 59 ปี ได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ตั้งแต่เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป.
- ‘เจมส์ เวบบ์’ ปล่อย ภาพดาวพฤหัส เห็นชัดสุดทุกจุดเด่น.
- จีนเผย “แร่ธาตุใหม่” จากดวงจันทร์ จากภารกิจ ฉางเอ๋อ-5.
- ซูเปอร์ฟูลมูน คืออะไร หลังสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ ชวนจับตารับชม.