เปิด 7 เรื่องเล่า ‘ประวัติวันกินเจ’ ตำนานเทศกาลกินเจ 2566 แท้จริงแล้วเทศกาลกินเจมีที่มาจากไหน ย้อนดูจุดเริ่มต้นของประเพณีสุดยิ่งใหญ่ประจำปีที่ช่วยชีวิตสัตว์ได้นับหมื่นตัว
วนเวียนกลับมาถึงเดือนสิบอีกครั้ง ช่วงเวลาแห่ง ‘เทศกาลกินเจ’ ประจำปี 2566 ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เชิญชวนทุกท่านมาย้อนอ่านที่มา และตำนานของเทศกาลกินเจ จุดเริ่มต้นของประเพณีถือศีลกินผัก งดการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ช่วยต่อชีวิตบรรดาสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งมีมากถึง 7 เรื่องราวเลยทีเดียว บอกเลยว่าอ่านแล้วอาจจะรู้สึกสนุกกับการกินเจมากขึ้นก็ได้ ถ้าพร้อมแล้วไปเตรียมล้างท้องอ่านตำนานก่อนกินเจกันเลย
ตำนานที่ 1 วีรชนต้นกำเนิดเทศกาลเจ
ตำนานแรกเล่าที่มาของเทศกาลกินเจว่าถือกำเนิดขึ้น 400 ปีที่แล้ว ทำเพื่อระลึกถึง “หงี่หั่วท้วง” ซึ่งเป็นชื่อของกลุ่มวีรชน 9 คนที่ได้ลุกขึ้นต่อสู้กับชาวแมนจูอย่างกล้าหาญ ไม่กลัวตาย โดยจะเริ่มนุ่งห่มผ้าสีขาวเป็นประจำทุกปีในช่วงขึ้น 1 ค่ำเดือน 9 เพราะเชื่อว่าจะช่วยทำให้จิตใจและร่างกายของผู้ปฏิบัติมีความเข้มแข็ง
ตำนานที่ 2 กินเจเป็นพุทธบูชา
ตำนานที่เล่าถึงดาวนพเคราะห์ 9 ดวง ได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู และพระเกตุ ซึ่งเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์จำนวน 9 พระองค์ โดยการกินเจตามตำนานนี้จะมีการประกอบพิธีกรรมเพื่อสักการะพระพุทธเจ้า โดยจะมีการงดเว้นการกินเนื้อสัตว์ รวมถึงแต่งกายด้วยการนุ่งห่มผ้าสีขาว
ตำนานที่ 3 บูชาเทพเจ้าด้วยการกินเจ
ตำนานนี้เล่าว่าการกินเจทำเพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้า 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ ผู้ทรงคุ้มครองและปกปักรักษาผืนแผ่นดินแห่งนี้ โดยถือเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาของชาวจีนในผืนแผ่นดินไทยอีกด้วย
ตำนานที่ 4 จุดเริ่มต้นกินเจของชาวฮกเกี้ยน
สำหรับตำนานกินเจนี้เป็นของท้องถิ่นฮกเกี้ยน ซึ่งในอดีตเคยปกครองด้วยราชวงศ์ซ้อง เชื่อว่ากินเจเป็นการทำเพื่อบูชากษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ ผู้จากไปด้วยการฆ่าตัวตายขณะที่มีอายุเพียง 9 ขวบเท่านั้น โดยชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพมาเมืองไทยก็ได้นำประเพณีนี้มาเผยแพร่ต่ออีกทอดหนึ่ง
ตำนานที่ 5 ชาวบ้านกินเจสยบภัยพิบัติ
ส่วนตำนานนี้เล่าว่าการกินเจ เริ่มต้นมากว่า 1,500 ปีแล้ว โดยมณฑลกังไส ดินแดนแห่งความรุ่งเรืองและประชาชนก็สามัคคีกัน ทำศึกสงครามเมื่อใดก็จะชนะทุกครั้ง จนกระทั่งวันหนึ่งแคว้นก่งเลี้ยดสามารถเอาชนะและปิดล้อมเมืองได้ โดยเทพยดาเห็นว่ากังไสจะเกิดภัยพิบัติใหญ่ ต้องให้พลเมืองสร้างบุญเพื่อยับยั้งภัยนี้
วันหนึ่งมีขอทานเดินทางมาที่บ้านเศรษฐีใหญ่ในเมืองกังไส ขอทานขอให้ชาวเมืองถือศีลกินเจ 9 วัน 9 คืน หากทำตามภัยพิบัติจะหายไป เศรษฐีเชื่อคำขอทาน ส่งผลให้ชาวเมืองคนอื่น ๆ กินเจตาม จนเกิดประเพณีกินเจสืบมาจนถึงปัจจุบัน
ตำนานที่ 6 ชายขี้เมาผู้ได้ดีเพราะแม่มาเข้าฝันบอกให้กินเจ
ตำนานนี้เล่าว่ามีชายชื่อ เล่าเซ็ง หลังจากที่สูญเสียแม่และเลิกรากับภรรยาไป เขาก็อาศัยอยู่ตามลำพังและชอบดื่มสุราจนเมามาย คืนหนึ่งเขาฝันเห็นแม่ที่มีความสุขหลังจากตายไป เพราะกินอาหารเจ แม่ยังบอกอีกว่าถ้าเล่าเซ็งอยากพบตน ให้เดินทางไปร่วมเทศกาลบูชาพระโพธิสัตว์กวนอิมที่ภูเขาโพถ้อซัว บนเกาะน่ำไฮ้
เล่าเซ็งได้ขอติดตามไปพร้อมเพื่อนบ้าน โดยให้สัญญาว่าเขาจะไม่กินเนื้อสัตว์และดื่มสุรา สุดท้ายเล่าเซ็งได้ผิดสัญญาจนต้องแยกทางกับเพื่อนบ้าน แต่เขายังโชคดีเพราะได้พบกับหญิงคนหนึ่งซึ่งจะเดินทางไปที่ภูเขาโพถ้อซัวเช่นกัน
เมื่อไปถึงเล่าเซ็งก็ได้พบกับแม่จริง ๆ และที่แห่งนั้นเขายังได้เจอลูกชายที่เกิดกับภรรยาเก่าของเขาอีกด้วย ในที่สุดเล่าเซ็งก็ได้สร้างครอบครัวใหม่อีกครั้ง กับหญิงสาวที่เจอระหว่างทางและได้รับลูกชายไปอยู่ด้วย
ทั้งสามอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข โดยภรรยาของเล่าเซ็งเป็นคนถือศีลกินเจเป็นประจำ พอถึงวันที่เธอรู้ตัวว่ากำลังจะหมดลม เธอแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีขาวพร้อมบอกเล่าเซ็งให้ได้รู้ การจากไปของภรรยาคล้ายกับภาพนิมิตของแม่ในความฝัน เล่าเซ็งจึงเกิดศรัทธาและเริ่มถือศีลกินเจนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ตำนานที่ 7 ศาลเจ้ากะทู้ จุดกำเนิดประเพณีกินเจภูเก็ต
ตำนานสุดท้ายเป็นต้นกำเนิดของประเพณีกินเจที่ภูเก็ตนั่นเอง เล่าว่าช่วงที่ภูเก็ตเกิดโรคระบาด ได้มีคณะงิ้วจีนเดินทางมาเปิดการแสดงที่อำเภอกะทู้พอดี คณะงิ้วนี้จึงได้ตั้งศาลเจ้าช่วยจัดพิธีสะเดาะเคราะห์พร้อมกินเจ ปรากฏว่าโรคร้ายนั้นหายไปจริง ๆ จากนั้นศาลเจ้ากะทู้จึงจัดประเพณีทุก ๆ ปีและได้รับความนิยมเรื่อยมาจนปัจจุบัน
ทำไมต้องกินเจเดือนเก้า
ปิดท้ายด้วยข้อเท็จจริงที่หลายคนอาจไม่รู้มาก่อนว่าทำไมต้องกินเจในช่วงเดือนเก้าด้วย จริง ๆ แล้วเทศกาลกินเจจะยึดถือตามปฏิทินจีน ช่วงขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน ทำให้งานประเพณีเจในประเทศไทยจะเปลี่ยนเวลาไปทุกปี
โดยในปี 2566 ประเพณีกินเจตรงกับช่วงกลางเดือนตุลาคมพอดี ซึ่งก็คือวันที่ 15 – 23 ตุลาคม นับเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน ส่วนในปีอื่น ๆ อาจจะตรงกับเดือนกันยายน ตุลาคม หรือพฤศจิกายนก็ได้ ขึ้นอยู่กับวันที่ในปฏิทินจีน ดังนั้นประเพณีกินเจเดือนเก้าที่ว่า จึงมาจากเดือนตามปฏิทินจีน ไม่ใช่ปฏิทินสากลแต่อย่างใด อย่าเข้าใจผิดกันนะคะ
หวังว่าทุกคนจะสนุกไปกับตำนานที่มาของเทศกาลกินเจ อย่าลืมว่าการกินเจคือการทำบุญต่อสัตว์และเป็นการรักษาศีล ดังนั้นผู้ที่กินเจจะต้องไม่เบียดเบียนตนเอง กินให้อิ่ม เลือกกินอาหารเจที่ดีต่อร่างกาย ขอให้ทุกคนกินเจอย่างมีความสุขในปี 2566 ได้รับบุญเต็มอก รับอาหารเต็มท้องนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : 1.
- เปิดพิกัด 12 สถานที่ จัดเทศกาลกินเจ 2566 อิ่มบุญทั่วไทย โดย ททท.
- เทศกาลกินเจ 2566 เริ่มวันไหน เช็กอาหารห้ามกิน เตรียมล้างท้องก่อนกินเจ
- อาหารเจเซเว่น คัดสรรเมนูสะดวก หาทานง่าย อิ่มอร่อยตลอดเทศกาลกินเจ 2566