ไลฟ์สไตล์

ประวัติ ‘วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ’ 18 สิงหาคม 2567 ที่มาคำขวัญ เกร็ดความรู้

เนื่องใน ‘วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ’ 18 สิงหาคม 2567 ร่วมย้อนรำลึกประวัติและพระราชกรณียกิจของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันหาที่สุดมิได้ต่อการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ไทย พร้อมชมคำขวัญย้อนหลัง 34 ปี

เปิดประวัติ “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2567” ตรงกับวันที่ 18 สิงหาคม เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของคนไทยที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 4 จากพระราชกรณียกิจทางด้านดาราศาสตร์ ในฐานะ บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย โดยในแต่ละปีก็จะมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวงการวิทยาศาสตร์ และคำขวัญในวันวิทยาศาสตร์ไทย เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์

Advertisements

ทั้งนี้ วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ จะมีเรื่องราวความเป็นมาและประวัติที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง ทีมงาน Thaiger รวมมาให้แล้วเข้ามาอ่านในนี้กันได้เลยครับ

ประวัติความเป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” 18 ส.ค.

วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติได้เริ่มต้นขึ้น ในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2411 เมื่อได้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินชลมารคและสถลมารค ทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ณ บ้านหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่เดิมทีท่านทรงคำนวณพยากรณ์ไว้ล่วงหน้าถึง 2 ปี ว่าสุริยุปราคานั้นจะเกิดขึ้นในวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1230

โดยการเกิดสุริยุปราคาในครั้งนี้จะสามารถเห็นได้อย่างเต็มดวงจากที่บ้านหว้ากอ บริเวณเกาะจานไปจนถึงปราณบุรี และลงไปถึงแขวงเมืองชุมพร เช่นนั้นจึงโปรดฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เดินทางไปสร้างค่ายหลวง รวมถึงพลับพลาที่ประทับในบริเวณบ้านหว้ากอ

โดยจะมีคณะนักดาราศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส และเซอร์แฮรี ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์ ณ ขณะนั้น เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการการสังเกตการณ์ครั้งนี้ด้วย

Advertisements

ซึ่งในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2411 สุริยุปราคาเต็มดวงก็ได้เกิดขึ้น ณ บริเวณบ้านหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามการคาดการณ์ล่วงหน้าของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเหตุการณ์ทั้งหมดได้มีการจดบันทึกไว้ โดยเซอร์แฮรี ออด

ประวัติ วันวิทยศาสตร์แห่งชาติ 2566
ภาพจาก : wikipedia

นอกจากนั้นในประชุมจดหมายเหตุ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเรียบเรียงไว้ในสมัยรัชกาลที่ 4 เกี่ยวกับสุริยุปราคา ได้มีข้อความที่ระบุถึงเหตุการณ์นี้ด้วยไว้ว่า จากคำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้น เมื่อถึงเวลาที่ทรงคำนวณไว้ก็ปรากฏสุริยุปราคาเต็มดวง

ในเวลาต่อมาหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล จีงได้นำบันทึกของเซอร์แฮรี ออด มาแปลเป็นภาษาไทย เนื่องในโอกาสหว้ากอรำลึก ณ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ เมื่อปีพ.ศ. 2518 ซึ่งในบันทึกดังกล่าวได้ระบุไว้ว่า “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระสำราญมาก เพราะการคำนวณเวลาสุริยุปราคาของพระองค์ ได้พิสูจน์แล้วว่าถูกถ้วนที่สุด ถูกถ้วนยิ่งกว่าที่ชาวยุโรปได้คำนวณไว้”

จากเหตุการณ์การคาดการณ์ของพระองค์ในครั้งนี้ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จึงได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ากการที่พระองค์ทรงเป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยพระเกียรติคุณนานัปการและพระราชกรณียกิจต่าง ๆ มากมาย ที่เป็นประโยชน์ต่อมวลชน

ทั้งในด้านสังคมศาสตร์ ด้านมนุษยศาสตร์ ด้านการศึกษา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ ซึ่งพระราชกรณียกิจในด้านดาราศาสตร์ของพระองค์นั้นมีมากมาย

เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2525 คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกทั้งได้ยกย่องพระองค์ให้เป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และตั้งแต่นั้นมาในทุกวันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปีจึงถือเป็นวันวิทยาศาสตร์ชาติไทยจวบจนปัจจุบัน

ประวัติวันวิทยศาสตร์ 2566
ภาพจาก : wikipedia

ต่อมาได้มีการสร้าง “อุทยานวิทยาศาสตร์” ขึ้น ณ บ้านหว้ากอ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือพระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อให้แก่อุทยานนี้ว่า “อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์”

อีกทั้งยังได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมรูปหล่อประทับนั่งบนพระเก้าอี้ฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารเรือ ซึ่งเป็นชุดเดียวกันกับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาสังเกตการณ์สุริยุปราคาที่บ้านหว้ากอในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2411

ไม่เพียงเท่านั้น ในปี พ.ศ. 2527 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มีการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 18-24 สิงหาคม ภายใต้ความร่วมมือจากหน่วยงานราชการหลายองค์กร

ซึ่งการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ในครั้งแรกนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะงานดังกล่าวได้รับความสนใจทั้งจากภาครัฐ หน่วยงานเอกชน รวมไปถึงประชาชน ด้วยเหตุนี้ในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2528 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีการอนุมัติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถดำเนินการจัดงาน “สัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ” ในระหว่างวันที่ 18-24 สิงหาคมของทุกปี

ประวัติ 'วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ'
ภาพจาก : pixabay

กิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2567

ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานเอกชน โดยปกติแล้วจะมีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเผยแพร่องค์ความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ ภายใต้จุดประสงค์ของการส่งเสริมและปลูกฝังให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญและความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อประชากรโลก

ซึ่งการเผยแพร่ความรู้นั้นจะถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบของการจัดกิจกรรมบูรณาการ การจัดนิทรรศการ รวมไปถึงการอภิปรายทางวิชาการ และอาจมีการจัดการแข่งขันที่เกี่ยวข้องกับการใช้องค์ความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ร่วมด้วย

หน่วยงานที่เกี่ยวกับการศึกษาหรือสถาบันการศึกษานั้น จะเป็นการจัดกิจกรรมในรูปแบบของการตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์ และสำหรับนักเรียน นักศึกษาอาจมีการจัดการแข่งขันที่เกี่ยวข้องกับการใช้องค์ความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ร่วมด้วย

รวมไปถึงมีการมอบเกียรติบัตร เพื่อเป็นเกียรติคุณให้แก่นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย สำหรับนักวิทยาศาสตร์ ผู้มีผลงานวิจัยดีเด่นในแต่ละสาขาวิชาของตน และได้รับการยอมรับจากวงการวิทยาศาสตร์ทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติ

ประวัติ 'วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ'
ภาพจาก : pixabay

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์

สำหรับคำขวัญวันวิทยาศาสตร์นั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2532 และเกิดขึ้นเรื่อยมาในทุก ๆ ปี โดยคำขวัญวิทยาศาสตร์ประจำปี 2567 คือ (รอประกาศ)

ย้อนรอยคำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ.2532-2565

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2532 : พิทักษ์สิ่งแวดล้อมของชาติ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2533 : เพิ่มคุณค่าทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2534 : ขจัดมลพิษทุกชีวิตจะปลอดภัย

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2536 : วิทยาศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจ เพิ่มคุณค่าชีวิต พิทักษ์สิ่งแวดล้อม

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2537 : ขจัดปัญหาน้ำของชาติ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2538 : เทคโนโลยีสารสนเทศก้าวไกล เศรษฐกิจไทยมั่นคง

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2539 : วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาชาติไทยให้ก้าวหน้า

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2540 : พัฒนาคน พัฒนาชาติ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2541 : พัฒนาเศรษฐกิจด้วยวิทยาศาสตร์ พัฒนาชาติด้วยภูมิปัญญาไทย

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2542 : วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวไกล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตไทยที่ยั่งยืน

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2543 : พัฒนาคน พัฒนาชาติ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2544 : วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพื่อเศรษฐกิจและสังคมไทย

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2545 : วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพื่อเศรษฐกิจและสังคมไทย

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2546 : เส้นทางแห่งการค้นพบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คุณค่าแห่งภูมิปัญญา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2547 : เศรษฐกิจของชาติมีปัญหา วิทยาศาสตร์มีคำตอบ

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2548 : วิทยาศาสตร์คือความรู้สู่ความสำเร็จ

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2549 : เศรษฐกิจพอเพียง เคียงคู่ไทย ก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2550 : วิทยาศาสตร์สร้างปัญญาในสังคม

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2551 : วิทยาศาสตร์สร้างชาติ สร้างอนาคต

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2552 : วิทยาศาสตร์ก้าวไกล นำไทยก้าวหน้า

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2553 : จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2554 : จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2555 : จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2556 : ทันโลก ทันวิทย์ จุดประกายความคิดสู่อาเซียน

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2557 : จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558 : จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2559 : จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2560 : จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2561 : จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2562 : จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2563 : จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2564 : จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2565 : ไม่ได้กำหนดคำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ แต่ในส่วนของมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2565 นั้นได้มีการจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ศิลปะ วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืน (Art – Science – Innovation for Sustainable Society)”

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2566 : วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม

กดติดตามเพจเฟซบุ๊ก Thaiger เพจใหม่ ไม่พลาดทุกข่าวสาร คลิกที่นี่

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button