
ชวนอ่าน ประวัติ พระพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ 2566 ย้อนชีวิตวัยเยาว์จวบจนอายุ 91 พรรษาของราชินีสิริกิติ์ แม่ของแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 9
วันแม่ 2566 ปีนี้ชวนอ่าน พระราชประวัติ พระพันปีหลวง ทรงมีชื่อเต็มว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
เนื่องในวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2566 นี้ พระพันปีหลวงจะมีพระชนมพรรษาครบ 91 พรรษาแล้ว ทีมงานไทยเกอร์จึงขอพาผู้อ่านร่วมย้อนความทรงจำตั้งแต่เป็นคุณหนูสิริกิติ์ จนได้ครองตำแหน่งราชินีของแผ่นดิน คู่บุญบารมีรัชกาลที่ 9 ก่อนจะมาเป็นพระพันปีหลวงในปัจจุบัน ชีวิตของสตรีท่านน่าสนใจไม่น้อย มาอ่านไปพร้อมกันเลยค่ะ

ประวัติ พระพันปีหลวง ย้อนเรื่องราวตั้งแต่สมัยหม่อมราชวงศ์จนได้เป็นราชินีครองใจชน
เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475 พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (หม่อมเจ้านักขัตรมงคล) และ หม่อมหลวงบัว กิติยากร ได้กลายเป็นบิดามารดาของพระธิดาองค์แรกนามว่า หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ โดยพระองค์มีชื่อเล่นน่ารักว่า สิริ
สิริกิติ์ มีความหมายว่า ผู้เป็นศรี แห่งกิติยากร โดยสิริกิติ์เกิดที่จังหวัดพระนคร ณ บ้านของพลเอก เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) ผู้เป็นตา

พระพันปีหลวง ผู้ต้องห่างบ้านแต่เล็ก
ช่วงพระราชสมภพของพระพันปีหลวง เป็นช่วงที่ประเทศไทยเพิ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และพระบิดาต้องเดินทางไปเป็นทูตประจำที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ต้องอาศัยอยู่กับตาและยายที่ประเทศไทย ก่อนที่ครอบครัวจะได้กลับมาพร้อมหน้าที่ไทย เมื่อสิริกิติ์มีอายุได้ 2 ขวบ
พระพันปีหลวง อดีตเด็กราชินี ผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นนักเปียโน
เมื่อสิริกิติ์มีอายุได้ 4 ขวบได้เริ่มเข้าเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาด ก่อนจะย้ายไปเรียนประถมและมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ โดยความฝันของเด็กหญิงสิริกิติ์วัยเด็ก คือการได้เป็นนักเปียโนที่มีชื่อเสียง

รักแรกเกลียดที่ปารีสของพระพันปีหลวง
พระพันปีหลวงวัย 14 ปี ต้องเดินทางพร้อมครอบครัวไปพำนักที่ประเทศอังกฤษ ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่ฝรั่งเศส โดยหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ยังคงมุ่งมั่นที่จะสอบเข้าเรียนโรงเรียนดนตรีที่ฝรั่งเศส และอยากจะเป็นนักดนตรีอย่างแน่วแน่เช่นเดิม
ในปีพุทธศักราช 2491 สิริกิติ์ได้พบกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็นครั้งแรกที่ประเทศฝรั่งเศส เนื่องจากพระองค์ติดตามคุณพ่อไปรับเสด็จ จนได้รู้จักและคุ้นเคยกัน ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชประสบอุบัติเหตุที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สิริกิติ์และน้องสาว หม่อมราชวงศ์ บุษบา ก็มีโอกาสได้เยี่ยมไข้และดูแลจนกระทั่งหาย
หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เคยได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า รัชกาลที่ 9 คือรักแรกเกลียด เพราะการนัดพบกันครั้งแรก ร.9 ไปสายกว่าเวลานัดหมายมาก แต่คู่แล้วไม่แคล้วกัน เพราะในปี 2492 สมเด็จพระราชชนนีหรือสมเด็จย่า ก็ได้หมั้นหมายสิริกิติ์แก่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

จากเด็กสาวสู่ราชินี
เดือนเมษายน ปี 2493 พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสระหว่าง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ ได้จัดขึ้นที่วังสระประทุม หลังพิธีเสร็จสิ้น คำนำหน้าของสิริกิติ์ ก็ได้เปลี่ยนจากหม่อมราชวงศ์เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ และเดือนต่อมาก็กลายเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
มารดาของแผ่นดิน ผู้ให้กำเนิด 4 สมาชิกราชวงศ์
ต่อมาไม่นาน ราชินีสิริกิติ์ก็ได้เดินทางพร้อมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และพระองค์ได้ให้กำเนิดพระธิดาองค์แรก นามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ และต่อมาได้มีพระประสูติการอีก 3 พระองค์ รวมแล้ว 4 พระองค์ คือ
- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ พระนามปัจจุบันคือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศร ราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ พระนามปัจจุบันคือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิริธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ พระนามปัจจุบันคือ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

พระพันปีหลวงวัยสาว ผู้สำเร็จราชการและแฟชั่นไอคอนเมืองไทย
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ได้ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชออกผนวช ดังนั้นจึงได้เฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระองค์ที่ 2 ในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ที่มีพระบรมราชินีนาถต่อท้ายชื่อ
พระพันปีหลวงเมื่อครั้งเป็นราชินี ทรงเป็นราชินีที่มีความสามารถ ก่อตั้งโครงการพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือประชาชนมากมาย เป็นที่รักของประชาชนชาวไทยทุกหัวระแหง และยังเป็นคู่พระราชหฤทัยของรัชกาลที่ 9 อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีใบหน้าที่งดงาม การแต่งกายออกงานแต่ละครั้งของพระองค์ ก็ยังงดงาม ล้ำสมัยแม้จะใช้ผ้าไทยทั้งตัว เรียกได้ว่าพระพันปีหลวงคือแม่ของแผ่นดิน ที่มีความสามารถรอบด้านแท้จริง.





อ้างอิงจาก 1
- 5 เกร็ดประวัติศาสตร์ ‘พระพันปีหลวง’ ที่คนไทยยังไม่รู้ จากเรื่องเล่าของคนในวัง.
- กรมธนารักษ์ เปิดจำหน่าย เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก พระพันปีหลวง ตั้งแต่ 11 ส.ค. 65.
- รวม ‘คำถวายพระพรพระพันปีหลวง’ วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2565.