กรมควบคุมโรค ตอบ ฝีดาษลิงรุนแรงเท่าโควิดไหม? หลังพบผู้ป่วยรายแรก
กรมควบคุมโรค ตอบ ฝีดาษลิงรุนแรงเท่าโควิดไหม ยืนยันรุนแรงไม่เท่าโควิด แต่ติดเชื้อยาว กักตัว 21 วัน ปัจจุบันยังไม่มียาต้านโดยตรง
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวถึงโรคฝีดาษลิง หลังประเทศไทยมีรายงานว่าพบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายแรก โดยเป็นชายไนจีเรีย วัย 27 ปี ว่า โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังลำดับที่ 56 กำหนดอาการสำคัญคือ ไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต เจ็บคอ มีตุ่มน้ำหรือตุ่มหนองที่ศีรษะ ลำตัว อวัยวะเพศ แขนขา หรือฝ่ามือฝ่าเท้า
ดังนั้น คณะกรรมการโรคติดต่อโรคจังหวัด/คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ และเจ้าพนักงานควบคุมโรคต้องทำแผนปฏิบัติการโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังและรายงานสถานการณ์โรคหรือเหตุที่สงสัยอาจเกิดการระบาดขึ้น
โรคฝีดาษวานร ติดเชื้อผ่านการสัมผัสใกล้ชิด ใช้สิ่งของร่วมกัน ใช้ภาชนะร่วมกัน และสัมผัสใกล้ชิดกัน ส่วนการป้องกันนั้น อันดับแรกต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกัน ส่วนการใส่แมสก์นั้นสำคัญรองลงมา ล้างมือเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน และให้สังเกตอาการโดยโรคฝีดาษวานร จะมีตุ่มผื่นขึ้นตามร่างกาย มีไข้ ปวดศีรษะ ให้สังเกตอาการตัวเอง หากเข้าข่ายให้รีบพบแพทย์
โรคฝีดาษไม่มีอาการรุนแรงเหมือนโควิด แต่มีระยะติดเชื้อยาวนานมากกว่า ประมาณ 21 วัน เริ่มมีอาการโดยเฉลี่ย 8 วัน ฉะนั้นการรักษาจะต้องกักตัวประมาณ 3 สัปดาห์ และรักษาตามอาการ เพราะยังไม่มียาต้านไวรัสตัวนี้โดยตรง
ในส่วน วัคซีนป้องกันโรคนี้ มีผลิตและเตรียมใช้หลายบริษัท ซึ่งสั่งจองเบื้องต้นแล้ว ส่วนวัคซีนเดิมคือ วัคซีนโรคฝีดาษ ที่องค์การเภสัชกรรมเก็บไว้และเคยฉีดให้แก่ประชาชนก่อนหน้านี้ ยังอยู่ในขั้นตอนที่อาจจะนำมาใช้ได้ แต่ต้องติดตามเรื่องประสิทธิภาพ ผลข้างเคียงวัคซีน และประเมินสถานการณ์การระบาด
ปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นต้องฉีดในวงกว้าง แต่อาจจะให้เฉพาะกลุ่ม เช่น เจ้าหน้าที่ห้องแล็บที่สัมผัสเชื้อโรค เจ้าหน้าที่การแพทย์และสาธารณสุขดูแลผู้ป่วยใกล้ชิด เนื่องจากข้อมูลวัคซีนเดิมพบผลข้างเคียง ต้องพิจารณาดูผลดีผลเสียและความจำเป็นร่วมด้วย