วิธีเอาตัวรอด จาก แผ่นดินไหว ศึกษาวิธีรับมือ วิธีปฏิบัติตน เมื่อเกิดภัยธรรมชาติอย่างไม่ทันตั้งตัว หากอยู่ในอาคาร นอกอาคาร และเจอ Aftershocks ควรทำอย่างไร ดูเลย
แผ่นดินไหว หนึ่งในภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ล่าสุดกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมียนมา ซึ่งมีขนาดตามมาตราแมกนิจูด 6.4 และสะเทือนมาถึงประเทศไทยในจังหวัดเชียงราย
ทีมงาน The Thaiger ชวนคุณมาเรียนรู้วิธีเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว เตรียมตัวตั้งรับเมื่อต้องเผชิญหน้ากับภัยพิบัติทางธรรมชาตินี้ รู้จักสาเหตุ วิธีปฏิบัติตัวเมื่อเจอแผ่นดินไหว เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของคุณและคนรอบตัว
รู้จัก วิธีเอาตัวรอด จากเหตุ “แผ่นดินไหว” ภัยธรรมชาติที่น่ากลัว แต่ไม่เกินรับมือ
แผ่นดินไหว ภัยธรรมชาติอย่างหนึ่ง มีสาเหตุมาจากการปลดปล่อยพลังงานความเครียดที่กักเก็บไว้ภายในโลกออกมาโดยฉับพลัน เพื่อปรับสมดุลของเปลือกโลก ส่งผลให้การสั่นสะเทือนของแผ่นดิน แบ่งมาตรวัดแผ่นดินไหวออกเป็น 2 รูปแบบ คือ ขนาดและความรุนแรง ปัจจุบันนิยมใช้มาตราโมเมนต์แมกนิจูด (Moment Magnitude Scale) ในการวัดขนาด
| สาเหตุการเกิดแผ่นดินไหว
สาเหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวนั้น มี 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ เกิดจากฝีมือมนุษย์และจากธรรมชาติ
1. แผ่นดินไหวที่เกิดจากฝีมือของมนุษย์ เช่น เกิดจากการทดลองระเบิดปรมาณู การระเบิดเพื่อทำเหมืองแร่ การกักเก็บน้ำในเขื่อน เป็นต้น
2. แผ่นดินไหวที่เกิดจากภัยธรรมชาติ เช่น การเคลื่อนหรือขยายตัวของเปลือกโลกอย่างฉับพลัน อุกกาบาตตกกระทบกับเปลือกโลก เป็นต้น
| สัญญาณแผ่นดินไหว เกิดเหตุแบบนี้ ระวังแผ่นดินไหวมาแน่
ก่อนเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ส่วนใหญ่มักมีสัญญาณเตือนบางประการมาบอกให้มนุษย์และสัตว์ได้รับรู้ก่อน
งานวิจัยพบว่าก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ มักมีการสะเทือนของแผ่นดินเบา ๆ นำมาก่อน รวมถึงค่าความเข้มของสนามแม่เหล็กโลกมีการเปลี่ยนแปลง ปริมาณก๊าซเรดอนในบ่อน้ำพุ่งสูงผิดปกติ รวมถึงพื้นดินมีการยกตัวสูงขึ้น
สำหรับสัญญาณที่มนุษย์สามารถสังเกตได้ จะเห็นได้ชัดจากพฤติกรรมของสัตว์ ดังนี้
– นก เช่น นกพิราบป่าจะ มีการอพยพ บินหนีไปจากพื้นที่บริเวณศูนย์กลางที่เกิดแผ่นดินไหวภายใน 24 ชั่วโมง
– ปลาน้ำจืด จะกระโดดขึ้นมาเหนือผิวน้ำ
– ปลาน้ำเค็ม หรือปลาที่อยู่ในเขตน้ำทะเลลึกว่ายเข้ามาในเขตน้ำตื้น
– สัตว์เลื้อยคลาน เช่น งู ปกติงูจะจำศีลในฤดูหนาว แต่หากเห็นงูเลื้อยมาบนดินผิดฤดูกาล อาจต้องระวังไว้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขึ้น
– สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น กบ จะมีการอพยพเป็นฝูงขนาดใหญ่จนผิดสังเกต
– สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว มีอาการตื่นตระหนก กระวนกระวาย วิ่งไปมา หรือมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวมากขึ้น ส่งเสียงร้องโหยหวน
| วิธีปฏิบัติก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหว
ควรเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น ไฟฉาย กระเป๋ายา นกหวีด เครื่องมือสำหรับดับเพลิง อาหารสำเร็จรูป น้ำดื่ม พร้อมศึกษาวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น นอกจากนี้ควรรู้ตำแหน่งของวาล์วน้ำ ท่อแก๊สภายในบ้านหรืออาคาร เพื่อปิดเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว
รวมถึงไม่นำสิ่งของที่แตกง่าย รวมถึงของหนักวางบนที่สูง และแนะนำว่าให้ผูกเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ที่มีขนาดใหญ่ไว้กับผนังบ้าน เพื่อป้องกันสิ่งของตกหล่น
| วิธีเอาตัวรอดขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหว
ขนะเกิดเหตุแผ่นดินไหว หลายคนมักตื่นตระหนกไม่รู้ควรทำอะไรก่อนดี ทั้งนี้จะขอแนะนำขั้นตอนการปฏิบัติระหว่างเกิดแผ่นดินไหวที่เหมาะสมกัน
– ควรมีสติ อย่าตื่นตระหนก เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตได้
– หากอยู่ในอาคาร ให้หลบอยู่ใต้โต๊ะ เตียง ในท่าหมอบ หากไม่มีอะไรบังให้พยายามอยู่ห่างจากกระจก หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ของที่อาจหล่นทับได้ เช่น ตู้ โคมไฟ เป็นต้น
– ห้ามใช้ลิฟต์เมื่อเกิดแผ่นดินไหว หากอยู่ในลิฟต์ควรออกจากลิฟต์ทันที
– ห้ามออกนอกอาคารจนกว่าการสั่นสะเทือนจะหยุด เมื่อหยุดแล้วให้รีบออกไปบริเวณที่โล่งทันที
– หากอยู่นอกอาคาร ควรอยู่ให้ห่างจากป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า ต้นไม้ รวมถึงบริเวณที่มีสิ่งของและอาคาร
– หากติดอยู่ในตัวอาคาร ควรตั้งสติ ใช้ผ้าปิดหน้า ใช้วิธีการเป่านกหวีด เคาะท่อหรือฝาผนัง แทนการตะโกนปากเปล่า เนื่องจากอาจทำให้สิ่งที่เป็นอันตรายถูกสูดเข้าสู่ร่างกายได้
| วิธีปฏิบัติตัวหลังเกิดแผ่นดินไหว หรือ Aftershocks มีวิธีรับมืออย่างไร
หลังจากแผ่นดินไหวใหญ่จบลงแล้ว อาจเกิดเหตุ Aftershocks ได้ แม้ว่าความรุนแรงจะน้อยกว่าแต่ก็ไม่ควรวางใจ ควรรีบอพยพไปอยู่ที่ที่โล่ง รีบติดต่อเจ้าหน้าที่ ฟังข่าวสารล่าสุด รวมถึงให้ย้ายขึ้นที่สูงกรณีอยู่ใกล้ชายฝั่ง เนื่องจากมีโอกาสที่จะเกิดสึนามิตามมาได้