ไขสงสัย ‘เพกาซัส สปายแวร์’ คืออะไร สามารถแอบฟังและเปิดกล้องได้ไหม เช็กคำตอบที่นี่
มีคำตอบ เพกาซัส สปายแวร์ ไวรัสที่ทำหน้าที่เป็นสปายให้แก่รัฐบาลหลายประเทศนิยมใช้ คืออะไร ทำหน้าที่อย่างไรบ้าง สามารถเช็กได้เลยที่นี่
จากข่าวที่มีการค้นพบ เพกาซัส สปายแวร์ ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก หลาย ๆ คนที่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่าง โทรศัพท์ เป็นเสมือนอวัยวะที่ 33 ของตนเอง ต่างก็วิตกกังวลกันอยู่ไม่ใช่น้อย The Thaiger จึงขอพาไปทำความรู้จักกับสปายแวร์ตัวนี้ว่า คืออะไร มีความอันตรายอย่างไร และถูกพบในไทยอย่างไร
โปรแกรม ‘เพกาซัส สปายแวร์’ คืออะไร
เพกาซัส สปายแวร์ คือ โปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ที่มีความอันตราย หากถูกนำไปใช้ในลักษณะไม่พึงประสงค์ โดยเป็นซอฟต์แวร์ที่มีความสามารถในการแทรกซึมเข้าไปยังอุปกรณ์ต่าง ๆ และทำหน้าที่สังเกตการณ์ ดักจับข้อมูล ควบคุม
รวมถึงขั้นขโมยข้อมูลจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีโปรแกรมดังกล่าวไว้ในอุปกรณ์ได้เลย ซึ่งสปายแวร์สามารถเอาข้อมูลได้แม้กระทั่งไฟล์ส่วนตัวต่าง ๆ หมายเลขโทรศัพท์ ธนาคาร ข้อความอีเมล และข้อความในแชทแอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น Facebook, Skype WhatsApp ไปอย่างง่ายดาย โดยที่เป้าหมายหรือเหยื่อไม่ทราบถึงความแปลกปลอมเลย
สปายแวร์ที่ชื่อ ‘Pegasus’ ถูกวางจำหน่ายในตลาดและให้การบริการแก่รัฐบาลทั่วโลก โดยบริษัท NSO Group ของประเทศอิสราเอล มีเจตนาเพื่อป้องกันการโจมตีที่เป็นอันตราย และคอยเฝ้าระวังผู้ต้องสงสัยอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม มีการเปิดเผยว่ารัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ได้ใช้เพกาซัส สปายแวร์ในทางที่ไม่สมควร คือ เพื่อสอดแนมบุคคลทั่วไป ทำให้ผู้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างวิตกกังวลกับความปลอดภัยของอุปกรณ์ตนเองว่ามีซอฟต์แวร์นี้แฝงการติดตั้งอยู่หรือไม่
การแฝงตัวของเพกาซัส สปายแวร์ ในอุปกรณ์ ทำได้อย่างไร
เพากาซัส สปายแวร์ เป็นซอฟต์แวร์ที่สามารถแพร่ระบาดได้ทั้งในโทรศัพท์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS และ Android โดยในเวอร์ชันแรกที่ถูกค้นพบอยู่ในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นการติดไวรัสของโทรศัพท์ที่ทำการกดลิงก์ในข้อความหรืออีเมลที่หลอกล่อให้เหยื่อคลิกเข้าไปดู คล้าย ๆ กับไวรัสบนหน้าเว็บเพจทั่วไป
แต่หลังจากนั้นก็มีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับเพกาซัส สปายแวร์ มากมายว่าซอฟต์แวร์นี้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น โดยเพกาซัสจะสามารถแทรกซึมเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นผ่านการโจมตีที่เรียกว่า “Zero-Click” คือ การสั่งงานให้เพกาซัสโจมตีเป้าหมายโดยไม่ต้องคลิกหรือตอบโต้ลิงก์ ข้อความที่เป็นเหตุให้ก่อเกิดไวรัสขึ้น ซึ่งวิธีการนี้จะอาศัยช่องโหว่ (Vulnerability) ที่มีอยู่ในซอฟต์แวร์หรือระบบปฏิบัติการที่ไม่มีใครทราบและทำการแก้ไขได้
WhatsApp เปิดเผยในปี พ.ศ. 2562 ว่าเพกาซัส สปาย์แวร์ของบริษัท NSO Group ถูกใช้งานกับโทรศัพท์มากกว่า 1,400 เครื่อง เพียงแค่โทรผ่านไปยังโทรศัพท์เป้าหมายเท่านั้น เพกาซัสก็จะทำการติดตั้งตัวเองบนอุปกรณ์ได้สำเร็จ แม้จะไม่มีการรับสายก็ตาม ดังนั้นสปายแวร์ ‘เพกาซัส’ จึงเป็นซอฟต์แวร์ไวรัสที่สามารถแฝงตัวเข้าไปในทุกอุปกรณ์ได้อย่างง่ายดาย ถ้าหากผู้ใช้สั่งให้โจมตี
ประเทศไทยพบ เพกาซัส สปายแวร์เป็นครั้งแรก
ในวันนี้ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นองค์การพัฒนาเอกชนที่มีจุดประสงค์เพื่อการค้นคว้าและดำเนินการป้องกันและยุติการทำร้ายสิทธิมนุษยชน และเพื่อแสวงหาความยุติธรรมสำหรับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ ได้รายงานว่า พบการใช้สปายแวร์อยู่ในอุปกรณ์สื่อสาร หรือโทรศัพท์ของนักกิจกรรมร่วม 30 คน กลายเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบของเพกาซัส สปายแวร์ ในการล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สปายแวร์ถูกค้นพบในประเทศไทย
รายงานของ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) Digital Reach และ Citizen Lab ได้เปิดเผยว่ามีการพบใช้เพกาซัส สปายแวร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 – 2564 ทำให้ส่งผลกระทบต่อแกนนำคนสำคัญในการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ทางการเมืองและเศรษฐกิจ ในปีที่ผ่านมา
ในปัจจุบันประเทศไทยได้ถูกเพิ่มในรายชื่อประเทศที่มีการสอดแนมประชาชน ซึ่งจำนวนรายชื่อประเทศก็มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการรายงานว่า ข้อมูลที่องค์การค้นพบเป็นข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น แต่ขอบเขตในการสอดแนมของข้อมูลอาจจะกว้างกว่านี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบที่รุนแรงมากกว่านี้เช่นกัน
สุดท้ายนี้ ถึงแม้ว่าทุกคนจะไม่ใช่นักกิจกรรม ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยที่จะถูกโดนโจมตีจากเพกาซัส สปายแวร์ แต่ก็อยากให้ระมัดระวังตัวในการทำใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้มากยิ่งขึ้น และร่วมกันต่อต้านการใช้ซอฟต์แวร์ตัวนี้ของรัฐบาลไทยในทางที่ไม่พึงประสงค์ เพื่อป้องกันและคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของตนเองกันด้วย
- มารู้จัก ตู้เต่าบิน มีที่ไหนบ้าง ฮิตสุดในโลกออนไลน์ อร่อยง่าย ๆ เริ่มต้นที่ 25 บาท
- รถยนต์ EV คืออะไร ? รู้จักกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทางออกยุคน้ำมันแพง
- เผยภาพ ‘หลุมดำ’ ใจกลางทางช้างเผือก ครั้งแรกในประวัติศาสตร์