ข่าวข่าวภูมิภาค

‘โรคดึงผม’ ภัยร้ายที่ไม่ควรปล่อยผ่าน แพทย์แนะควรไปรักษา

สมาคมจิตแพทย์ เผย ‘โรคดึงผม’ ภัยร้ายที่ไม่ควรปล่อยผ่าน พบในผู้หญิง แนะควรไปรักษา หากปล่อยไว้อาจเป็นเรื้อรัง

สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้โพสต์เฟสบุ๊ก ถึง โรคดึงผม ว่า เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อย โดยอาจจะพบร่วมโรคอื่นๆ อย่างเช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า ซึ่งโรคดึงผม จะตอบสนองดีกับยากลุ่ม (SSRI)

Advertisements

โดยโพสต์ว่า โรคดึงผม หรือในภาษาอังกฤษคือ trichotillomania หรือ hair-pulling disorder เป็นภาวะที่ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมถอนผม (หรือขน) ของตัวเองซ้ำๆ จนทำให้ผมแหว่งหรือล้านเป็นหย่อมๆ โรคนี้พบได้พอสมควร เพียงแต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในบ้านเรา ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากไม่ได้มาพบแพทย์

โรคดึงผมตัวเอง พบได้ประมาณ 1-2% ในประชากรทั่วไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ และผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย อาการหลักของโรคนี้ก็เป็นไปตามชื่อโรค นั่นคือผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมการดึงผม (หรืออาจจะเป็นขนก็ได้) ตัวเองซ้ำๆ โดยการดึงแต่ละครั้งมักทำไม่นาน ไม่ได้ดึงติดต่อกันเป็นชั่วโมง แต่ทำบ่อยๆ เป็นพักๆ ไปเรื่อยๆ ทั้งวัน

ซึ่งผลของการดึงผมตัวเองนี้ทำให้เกิดผมแหว่งหายไปเป็นหย่อมๆ ในรายที่อาการเป็นมากและทำมานานบริเวณผมที่หายไปอาจจะใหญ่มากจนเหมือนหัวล้านได้ ลักษณะของการดึงผมของผู้ป่วยนั้นสามารถแบ่งได้เป็นสองแบบคือ

1 ดึงโดยรู้ตัว ในกรณีนี้ผู้ป่วยจะรู้ตัวและจดจ่อกับการดึงผมตัวเอง โดยก่อนที่จะดึงอาจมีความเครียดหรือกังวลนำมาก่อน และเมื่อดึงแล้วก็จะรู้สึกผ่อนคลายหรือฟิน อะไรทำนองนั้น ในบางคนสิ่งกระตุ้นอาจเป็นความรู้สึกคัน หรือแปล๊บๆ บริเวณนั้น ทำให้อยากจะถอนผม ซึ่งเมื่อถอนแล้วก็รู้สึกดีขึ้น

Advertisements

2 ดึงโดยไม่รู้ตัว ซึ่งกรณีนี้การดึงเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เช่น ดูทีวีอยู่แล้วก็เผลอเอามือไปดึงออกเอง โดยส่วนใหญ่แล้วพบว่าผู้ป่วยมักจะมีพฤติกรรมการดึงทั้งสองแบบผสมกัน

อาการมักเริ่มเป็นในช่วงวัยรุ่น และเป็นเรื้อรังต่อเนื่องไปเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการรักษา โดยอาการมักเป็นๆ หายๆ เป็นพักๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ความเครียด ความกังวล หรือในผู้หญิงอาการอาจเป็นเยอะขึ้นช่วงมีประจำเดือน เป็นต้น

ปัญหาสำคัญอย่างแรกสำหรับในบ้านเราน่าจะเป็นการที่ผู้ป่วยไม่มารับการรักษา ซึ่งคาดว่าเกิดจากความไม่รู้ว่ามีโรคแบบนี้อยู่และสามารถรักษาได้ ผู้ป่วยที่มารักษาส่วนใหญ่มักไปพบกับแพทย์ทางด้านโรคผิวหนังมากกว่า จากนั้นจึงถูกส่งต่อมารักษากับจิตแพทย์อีกที ผู้ป่วยที่มาพบจิตแพทย์เองโดยตรงแต่แรกมีน้อยมาก

การรักษาโรคนี้ถือว่าได้ผลดีพอสมควร โดยพฤติกรรมการดึงผมส่วนใหญ่จะลดลงและทำให้รอยโรคกลับมาใกล้เคียงปกติได้การรักษาด้วยยาพบว่ายาในกลุ่มยา selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI) และ clomipramine สามารถช่วยให้อาการดึงผมลดลงได้ นอกจากนี้การรักษาด้วยการพฤติกรรมบำบัดพบว่าได้ผลดีเช่นกัน และการใช้ทั้งสองวิธีร่วมกันจะได้ผลดีที่สุด ดังนั้นใครเป็นอยู่ (หลายคนมีโรคอื่นร่วมด้วย เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า) ก็ให้รีบมารักษา

ขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

sorrawit

นักเขียนข่าวกีฬาประจำ Thaiger มีความสนใจในด้านกีฬาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอล บาสเกตบอล หรืออเมริกันฟุตบอล รวมไปถึงชื่นชอบเกมและอนิเมะเป็นชีวิตจิตใจ ปัจจุบันสั่งสมประสบการณ์เขียนบทความกีฬาออนไลน์ มากกว่า 4 ปี หัวข้อที่เชี่ยวชาญคือเรื่องกีฬาฟุตบอล วอลเลย์บอล ช่องทางติดต่อ gig@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button