ภาพหาดูยาก พลายเดี่ยวหลับ จริงๆ กินอิ่ม ยืนนิ่ง พิงต้นไม้ในอุทยานเขาใหญ่
พลายเดี่ยวหลับ ช้างป่าแห่งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เปิดภาพนาทีหาดูยากช้างป่าคู่ปรับของพลายนิ่ง เพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยกเป็นภาพเด็ดประจำวัน
วันที่ 7 ก.ค.2565 เฟซบุ๊กแฟนเพจ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ออกมาเปิดเผยภาพหาดูยากของ พลายเดี่ยวหลับ ช้างป่าแห่งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเป็นวินาทีขณะที่เจ้าคชสารยักษ์กำลังยืนหลับ โดยพิงร่างอยู่กับต้นไม้ ซึ่งทางเพจของอุทยานฯ ยังได้ยกให้เป็นภาพเด็ดประจำวันอีกด้วย
“ภาพเด็ดประจำวัน…ที่มาของชื่อ “เดี่ยวหลับ” ช้างป่าแห่งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ #ภาพเด็ดประจำวัน วันนี้ยกให้ภาพของคุณ Petch A Ratana เป็นภาพเด็ดประจำวัน ทางเพจต้องขอขอบคุณที่อนุญาตให้นำภาพของพลายเดี่ยวหลับ ช้างป่าคู่ปรับของพลายนิ่งช้างปั้นของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มาฝากให้ทุกท่านได้ชมกัน เป็นภาพที่ถ่ายทอดที่มาของชื่อพ่อพลายได้อย่างไม่ต้องบรรยาย นี่ถ้าพี่พลายไม่ยืนหลับพี่พลายก็คงได้ยืนแทนพี่นิ่งไปแล้ว ทางเพจจึงขอยกให้ภาพชุดนี้เป็นภาพเด็ดประจำวันในครั้งนี้นะคะ” ข้อความจากโพสต์ของ เฟซบุ๊กแฟนเพจ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช วันที่ 7 ก.ค.65
โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Petch A Ratana ซึ่งเป็นเจ้าของภาพที่จับนาทีหาชมยากขณะเจ้าพลายเดี่ยวกำลังยืนหลับตามที่มาของชื่อ และลงโพสต์เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้เล่าให้กับทีมงาน The Thaiger ถึงกิจวัตรรวมถึงนิสัยประจำวันของเจ้าไอยราจอมงีบว่า เป็นช้างที่มักจะหลับให้เห็นอยู่บ่อยๆ หลับๆ ตื่นๆ พอกินอิ่มหน่อย ก็หาต้นไม้พิงหลับ
“พลายเดี่ยวหลับ คือชื่อที่ใช้เรียกกันครับ เดิมมีงาขวาข้างเดียว งาซ้ายหัก แต่มาปีนี้ งาขวาก็หักไปด้วยอีก ที่เขามาป้วนเปี้ยนรอบนี้เพราะเขาปวดฟัน (งาซ้ายผุ) ครับ จะเดินกินสมุนไพร ว่านต่างๆ และเจ้าหน้าที่จะผสมยาแก้ปวดในกล้วยน้ำว้าให้กิน วันนี้ อาการดีขึ้นมากแล้วครับ ร่าเริง น่าจะหายกลับเข้าป่าไปในเร็ววันนี้ครับ เป็นช้างที่มักจะหลับให้เห็นอยู่บ่อยๆ ด้วยการยืนพิงต้นไม้”
“หลับๆ ตื่นๆ แล้วกิน พออิ่มหน่อย ก็หาต้นไม้พิงหลับ เป็นพฤติกรรมที่ต่างจากช้างตัวอื่น ที่จะไม่ค่อยหลับให้เห็น พลายเดี่ยวหลับ” ข้อมูลจากผู้ใช้เฟซบุ๊ก Petch A Ratana เจ้าของภาพและผู้ให้ข้อมูลถึงสาเหตุที่พลายเดี่ยวหลับ ชอบยืนพิงต้นไม้เพื่อพักสายตาหลังกินอิ่ม
ขอบคุณภาพ – ข้อมูล : Petch A Ratana , Facebook ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช