วันที่ 13 กรกฎาคม 2565 วันอาสาฬหบูชา เปิดประวัติวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา มีความสำคัญอย่างไร ? ควรทำอะไรบ้าง ?
วันอาสาฬหบูชา 2565 ในปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 13 กรกฎาคม เป็นวันแรม 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมจากการตรัสรู้ให้แก่ ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ณ สวนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี วันนี้ The Thaiger จะพาทุกคนมาเจาะลึกถึง ประวัติความเป็นมา และความสำคัญของวันนี้ให้มากขึ้นกัน
- โอวาทปาฏิโมกข์ คืออะไร มาฆบูชา สำคัญอย่างไร ?
- วันวิสาขบูชา 15 พฤษภาคม 2565 หลักธรรมที่ชาวพุทธต้องรู้!
- หยุดยาว 4 วัน ชดเชยอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา
13 กรกฎาคม 2565 วันอาสาฬหบูชา มีความสำคัญอย่างไร กับชาวพุทธทั่วโลก
| วันอาสาฬหบูชา ความเป็นมา
วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ
ในวันนี้นั้นเป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก หลังจากพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือ วันวิสาขบูชา โดยการแสดง ปฐมเทศนา โปรดพระปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน จนกระทั่ง พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรมและขอบวชเป็น พระภิกษุรูปแรก ในพระพุทธศาสนา
ดังนั้นแล้ว วันอาสาฬหบูชา จึงถือได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของหัวใจหลังของพระพุทธศาสนาอย่าง พระรัตนตรัย อันได้แก่
- พระพุทธ หมายถึง พระพุทธเจ้า ศาสดาของศาสนาพุทธ
- พระธรรม หมายถึง พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ได้จากการตรัสรู้
- พระสงฆ์ หมายถึง พระอัญญาโกณฑัญญะ ภิกษุ สาวกรูปแรกของศาสนาพุทธ
| ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร หลักธรรมวันอาสาฬหบูชา
สำหรับหลักธรรมในวันอาสาฬหบูชา ได้แก่ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าได้นำมาแสดงปฐมเทศนาโปรดแก่ ปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ
คำว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” แปลว่า สูตรของการหมุนวงล้อแห่งพระธรรม มีเนื้อหาแสดงถึงการปฏิเสธส่วนที่สุด 2 อย่าง และเสนอแนวทางดำเนินชีวิตโดย สายกลาง อันเป็นแนวทางใหม่ให้มนุษย์ เนื้อหาแสดงถึงขั้นตอนและแนวทางในการปฏิบัติเพื่อบรรลุถึง อริยสัจ 4 คือ อริยมรรค 8
| อริยสัจ 4 |
อริยสัจ 4 แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ คือบุคคลที่ห่างไกลจากกิเลศทั้งปวง ได้แก่
- ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ จักต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันในความจริง ต้องยอมรับรู้ กล้าสู้ปัญหา กล้าเผชิญหน้า ต้องเข้าใจในสภาวะโลกในทุกสิ่งนั้นไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
- สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หมายถึงสาเหตุของปัญหาที่ทำให้เกิดทุกข์ เพราะเป็นต้นเหตุสำคัญในการเกิดทุกข์ ที่จะเชื่อมโยงกับปัจจัยอื่น ๆ
- นิโรธ ได้แก่ การดับทุกข์ การอยู่อย่างรู้เท่าทัน การดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา การไม่มีทุกข์ การไม่ข้องเกี่ยวในกิเลศ
- มรรค ได้แก่ หนทางในการแก้ไขปัญหา ในการดับทุกข์ ซึ่งมีองค์ประกอบทั้ง 8 ประการ
| มรรค 8 |
- สัมมาทิฏฐิ คือ มีปัญญาเห็นชอบ หมายถึง ปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมตามความเป็นจริงด้วยสติและปัญญา
- สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ หมายถึง การใช้สมองความคิดพิจารณาแต่ในทางกุศลหรือความดีงาม ไม่หลุมหลงมัวเมาในสิ่งไม่ดี
- สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ หมายถึง การพูดต้องสุภาพ แต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงาม ไม่พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ
- สัมมากัมมันตะ คือ ความประพฤติชอบ หมายถึง การประพฤติดีงาม อยู่ในทำนองคลองธรรม
- สัมมาอาชีวะ คือการมีอาชีพชอบ หมายถึง การทำมาหากินอย่างสุจริตชน ไม่คดโกง ไม่เอาเปรียบหรือเบียดเบียนผู้อื่น
- สัมมาวายามะ คือ การมีความมานะชอบ หมายถึง ความอุตสาหะพยายาม มีความอดทนต่อการปฏิบัติงานใด ๆ
- สัมมาสติ คือ การมีสติชอบ หมายถึง การมีสติ ใช้สติอยู่ตลอดเวลา ไม่ทำจิตให้เลื่อนลอย ดำรงอยู่ด้วยความรู้ตัวอยู่เป็นปกติ
- สัมมาสมาธิ คือ การมีสมาธิชอบ หมายถึง การฝึกจิตให้สงบและตั้งมั่น เพื่อให้ปราศจากกิเลสและนิวรณ์อยู่เสมอ