วิธีเช็ก ใบสั่งออนไลน์ บางคนทำผิดกฎจราจรแล้วได้ใบสั่งมา แต่พอจะจ่ายค่าปรับดันหาใบสั่งไม่เจอ แล้วจะเช็กได้ยังไงว่าต้องจ่ายค่าปรับเท่าไร ที่ไหน อย่างไร วันนี้ทาง The Thaiger ก็ได้รวบรวมข้อมูล วิธีตรวจสอบใบสั่งจราจรออนไลน์ วิธีจ่ายค่าปรับด้วยตัวเองแบบไม่ต้องไปถึงสถานีตำรวจ พร้อมตอบคำถามสำคัญ โดนใบสั่งแต่ไม่จ่ายค่าปรับจะมีผลอย่างไร ถ้าอยากรู้แล้ว ไปดูพร้อมกันเลยดีกว่า
วิธีตรวจสอบ ใบสั่งออนไลน์ พร้อมจ่ายค่าปรับด้วยตัวเอง ง่าย ๆ แค่ไม่กี่คลิก
ปัจจุบันเราสามารถตรวจสอบใบสั่งผ่านระบบออนไลน์ได้ง่าย ๆ ด้วยวิธีการเพียงไม่กี่ขั้นตอน เพราะทางกองบังคับการตำรวจจราจรได้จัดทำระบบใบสั่งจราจรร่วมกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบใบสั่งและชำระค่าปรับได้ด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ สะดวกสบายมาก ๆ เป็นวิธีที่เราไม่จำเป็นต้องเดินทางไปชำระค่าปรับถึงที่สถานีตำรวจ อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบใบสั่งทั้งหมดที่ได้รับได้อีกด้วย งานนี้ไม่มีข้อให้อ้างว่าทำใบสั่งหายแล้วไม่ยอมจ่ายค่าปรับแล้วล่ะ โดยวิธีการตรวจสอบใบสั่งออนไลน์มีดังนี้
1. เข้าสู่เว็บไซต์ “ใบสั่งออนไลน์”
เข้าไปที่เว็บ ใบสั่งจราจรออนไลน์สำหรับประชาชน (e-Ticket) โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
2. ลงทะเบียนเข้าใช้งานเว็บไซต์
ลงทะเบียนเข้าใช้งานเว็บไซต์ ใบสั่งจราจรออนไลน์สำหรับประชาชน (e-Ticket) โดยกรอกข้อมูลดังนี้
- เลขประจำตัวประชาชน
- วัน/เดือน/ปี เกิด
- ชื่อ-นามสกุล
- Laser ID หรือ เลขหลังบัตร
3. กรอกข้อมูลส่วนตัว
เมื่อลงทะเบียนการใช้งานเว็บไซต์ใบสั่งออนไลน์เสร็จเรียบร้อย ก็ให้ทำการกรอกข้อมูลรถที่ครอบครอง หรือ ข้อมูลใบอนุญาตขับขี่ (เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง)
4. สร้างรหัสผ่าน
กำหนดรหัสผ่านให้กับบัญชีใช้งานใบสั่งออนไลน์ของเรา
5. ทำการเข้าสู่ระบบ
กลับเข้าสู่หน้า “เข้าสู่ระบบ” เพื่อทำการกรอกข้อมูลและ Log In เข้าสู่เว็บไซต์ใบสั่งออนไลน์
6. ตรวจสอบใบสั่ง
เข้าสู่หน้าตรวจสอบใบสั่ง โดยเลือกกรอกข้อมูลใบสั่งที่เราต้องการชำระ หากไม่มีการค้างชำระระบบก็จะไม่ขึ้นข้อมูลใด ๆ
สำหรับใครที่ตรวจสอบใบสั่งแล้วพบว่ามีการค้างชำระค่าปรับใบสั่งในระบบออนไลน์ ก็สามารถทำการชำระค่าปรับได้ง่าย ๆ ตามวิธีที่ตนเองสะดวก ซึ่งมีทั้งนำใบสั่งไปจ่ายค่าปรับที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน ชำระผ่านสาขาของธนาคารกรุงไทย ชำระผ่านตู้ ATM/ADM ชำระตามจุดรับชำระเงิน (ตู้บุญเติม, CenPay เป็นต้น) หรือที่ทำทำการไปรษณีย์ไทยทุกสาขา
แต่ในปัจจุบันได้มีการจัดทำระบบชำระค่าปรับจากใบสั่งแบบออนไลน์ได้ง่าย ๆ ผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT ซึ่งเป็นการชำระค่าปรับที่ไม่เสียค่าธรรมเนียมใด ๆ ซึ่งระบบจะบันทึกข้อมูลค่าปรับอัตโนมัติ ไม่ต้องส่งหลักฐานไปยังสถานีตำรวจอีก และหากชื่อของผู้ชำระค่าปรับไม่ตรงกับชื่อในใบสั่ง ก็ยังสามารถยื่นชำระได้ โดยกรอกเลขประจำตัวประชาชนลงในช่อง Ref 2 แทน
ถ้าไม่จ่ายค่าปรับ ใบสั่งออนไลน์ จะมีผลอย่างไร?
มีคนถามแบบเล่นแง่ว่า ใบสั่งออนไลน์ ต้องจ่ายไหม โดยปกติแล้วใบสั่งจะมีกำหนดชำระค่าปรับภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันได้รับใบสั่ง ซึ่งในระยะเวลาที่ต้องชำระค่าปรับใบสั่งนั้น หากต้องต่อภาษีรถยนต์ จะได้รับ “ป้ายวงกลม/สี่เหลี่ยมชั่วคราวที่มีอายุ 30 วัน” ถ้าหากชำระค่าปรับใบสั่งเรียบร้อยก็จะได้ป้ายตัวจริง ซึ่งในปัจจุบันกองบัญชาการตำรวจนครบาลก็ได้ออกมาตรการที่เคร่งครัดสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎจราจรและไม่ยอมชำระค่าปรับใบสั่งภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยมาตรการดังกล่าวนั้น จะถูกนำมาใช้กับผู้ที่ไม่ยอมชำระค่าปรับตามกำหนดของใบสั่งแต่ละประเภท โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. ออกใบเตือนให้ชำระค่าปรับใบสั่งภายใน 15 วัน
2. หากไม่ชำระค่าสั่งตามใบเตือนภายใน 15 วัน เจ้าพนักงานจราจรจะออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหาไปชำระค่าปรับ 2 ครั้ง อีกทั้งยังดำเนินการส่งข้อมูลไปให้ทางกรมขนส่งทางบกเพื่อดำเนินการงดออกเครื่องหมายเสียภาษีประจำปี
3. หากผู้ต้องหาไม่ไปตามหมายเรียกเพื่อชำระค่าปรับใบสั่งทั้ง 2 ครั้ง ทางพนักงานสอบสวนจะดำเนินการออกหมายจับในทันที
4. กรณีถูกออกหมายเรียก หรือ หมายจับ ผู้ต้องหาจะถูกแจ้งข้อกล่าวหา และต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งเมื่อมาถึงขั้นตอนนี้ผู้ต้องหาต้องเดินทางไปชำระค่าปรับใบสั่งที่สถานีตำรวจเท่านั้น
5. กรณีถูกออกหมายจับในคดีอาญา ผู้ต้องหาจะถูกบันทึกในระบบฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ดังนั้น หากใครที่รู้ตัวว่าเผลอทำผิดกฎจราจร ก็ควรจะรีบดำเนินการชำระค่าปรับ ภายในะระยะเวลาที่กำหนด ไม่อย่างนั้น อาจกลายเป็น คนที่มีประวัติถูกออกหมายจับโดยไม่รู้ตัว จะสมัครงาน หรือเดินทางออกนอกประเทศก็ลำบาก แต่ทางที่ดี ควรขับรถด้วยความไม่ประมาท และเคารพกฎจราจร เพื่อไม่ให้ได้รับใบสั่งตั้งแต่แรก จะดีที่สุด
- ชาวเน็ตถกสนั่น หวั่นกระทบท่องเที่ยว ตำรวจภูเก็ตออกใบสั่งฝรั่งขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า
- สาวดิ่งสะพานพระราม 8 ดับ ทิ้งข้อความสุดท้ายถึงตำรวจ ‘ถ้ามีโอกาสจะไปจ่ายค่าปรับ’
- ตร.เตรียมเรียก ‘ไฮโซปลาวาฬ’ จ่ายค่าปรับ ไม่ต้องตรวจแอลกอฮอลล์