17 มิถุนายน 2565 วันหยุดการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Stop Cyberbullying Day) หรือ วันหยุดการระรานทางไซเบอร์สากล ตรงกับวันศุกร์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายนในทุกปี เป็นวันที่ทำให้เราตระหนักถึงโทษภัยของการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ ซึ่งในปัจจุบันยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างก้าวกระโดดยิ่งทำให้เราก่ออาชญากรรมหรือกลั่นแกล้งกันผ่านทางออนไลน์ได้ง่ายมากขึ้น โดยวันหยุดการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์นั้น จัดขึ้นโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง Cybersmile Foundation ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดทำเว็บไซต์ cybersmile.org ขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ โดยในวันนี้ทาง The Thaiger จะพาทุกคนไปทำความรู้จัก “การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์” หรือ Cyberbullying เพื่อเรียนรู้และรับมือกับการถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ และเพื่อหยุดยั้งช่วยเหลือเหยื่อไม่ให้ถูกคุกคามผ่านทางไซเบอร์ได้อีกต่อไป
17 มิถุนายน 2565 วันหยุดการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ หยุดการสร้างบาดแผลทางใจให้ผู้อื่น
สาเหตุของการกลั่นแกล้งกันในโลกออนไลน์มาจากไหน Cyberbullying หรือการระรานทางไซเบอร์นั้น เป็นการกลั่นแกล้งในรูปแบบหนึ่ง ที่ใช้พื้นที่ทางออนไลน์ในการคุกคามหรือละเมิดสิทธิกัน ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นจะทำให้เหยื่อหรือผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งต้องได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายในด้านใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายทางด้านจิตใจ และส่วนใหญ่กลุ่มคนที่จะถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ได้ง่ายมากที่สุดก็คือ “วัยรุ่น” สาเหตุมาจากการแกล้งกันขำ ๆ ที่ผู้ถูกแกล้งไม่รู้สึกขำไปด้วย ไปจนกระทั่งความเกลียดชังที่มีเหตุผลและไม่มีเหตุผล จนในบางครั้งก็อาจนำไปสู่การทำร้ายร่างกายกันในชีวิตจริงได้
Comparitech หนึ่งในบริษัทที่ทำงานเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ ได้ทำการเก็บสถิติการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ช่วงปี 2561-2564 ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งพบว่าการกลั่นแกล้งกันผ่านทางช่องทางออนไลน์นั้นมีสถิติเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าเด็กไทยกำลังต้องเผชิญหน้ากับการถูกรังแกในโลกออนไลน์มากถึง 60% จากค่าเฉลี่ย 56% ทั่วโลก
การกระทำแบบใดถึงจะเข้าข่าย การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์
โดยส่วนใหญ่แล้วการกลั่นแกล้งกันในโลกออนไลน์มักมีการกระทำที่คล้ายกับการรังแกกันในชีวิตจริง เพียงแต่ใช้พื้นที่ในโลกโซเชียลมาคุกคามกันเท่านั้น ยกเว้นการทำร้ายร่างกายที่ไม่อาจเกิดผ่านโลกออนไลน์ได้ แต่อาจมีชนวนมาจากการถูกรังแกบนโลกออนไลน์ ซึ่งรูปแบบของพฤติกรรมที่เข้าข่ายว่าเป็นการังแกกันในโลกออนไลน์นั้นมักได้ดังนี้
1. ทำให้อับอาย สร้างความเสียหายต่อผู้ถูกกระทำ
สิ่งที่สามารถทำให้เหยื่อรู้สึกอับอายผ่านทางโลกโซเชียลได้ส่วนใหญ่คือการใช้ถ้อยคำในเชิงลบกับเหยื่อ ทั้งการด่าทอ ล้อเลียน ใส่ร้าย ข่มขู่ ทั้งช่องทางการสนทนาออนไลน์แบบส่วนตัวและการโพสต์ข้อความดังกล่าวถึงเหยื่ออย่างโจ่งแจ้ง
2. การประจาน
ทั้งการใช้คำพูดข้อความประจาน รวมไปถึงคลิปที่ทำให้เหยื่อเกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะทางใดก็ตาม ซึ่งอาจก่อให้เกิดการแสดงความคิดเห็นหรือคอมเมนต์ในทางลบต่อเหยื่อที่ถูกประจาน
3. การแอบอ้างตัวตนของผู้อื่น
นับว่าเป็นกรณีที่เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยกับผู้ที่มีชื่อเสียงในโลกออนไลน์ ซึ่งผู้กระทำผิดมักจะใช้พื้นที่ในโลกโซเชียลของเหยื่อเพื่อก่ออาชญากรรมต่าง ๆ โดยที่เหยื่อไม่ได้รับรู้ ทั้งการหลอกให้โอนเงิน การขอรับบริจาค เป็นต้น
4. การแบล็กเมล์
ส่วนใหญ่แล้วการแบล็กเมล์นั้นมักเกิดจากการนำรูปของเหยื่อไปตัดต่อจนทำให้เหยื่อได้รับความเสียหาย และเกิดความอับอาย หรือการได้รับภาพหรือคลิปวิดีโอลามกอนาจารโดยที่ผู้รับไม่ต้องการก็นับว่าเข้าข่ายการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ด้วยเช่นกัน
5. การสร้างข่าวปลอม
เป็นการกระทำที่พบเห็นบ่อยครั้ งซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นกระทำเพื่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งและมักจะทำในรูปแบบโจมตีฝ่ายตรงข้าม เช่น การใส่ร้ายป้ายสี การแพร่กระจายข่าวลือที่ทำให้เหยื่อเสียหาย เป็นต้น
วิธีรับมือกับการถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ทำอย่างไรเมื่อเราตกเป็นเหยื่อ
ในบางครั้งเราอาจตกเป็นเหยื่อของการถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์โดยไม่รู้ตัว ซึ่งก่อนที่การกระทำเหล่านั้นจะทำให่จิตใจของเสียหาย ทางกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ก็ได้การแนะนำแนวทางในการรับมือกับการตกเป็นเหยื่อกาคุกคามผ่านโลกไซเบอร์ไว้ ดังนี้
1. อย่าตอบสนอง
อย่าตอบสนองข้อความกลั่นแกล้ง ไม่ว่าข้อความนั้นจะมีการใช้คำพูดที่รุนแรงมากแค่ไหนก็ตาม เพราะเป้าหมายหนึ่งของการที่ผู้กระทำสามารถทำร้ายจิตใจของเหยื่อได้ก็คือการที่เหยื่อตอบกลับข้อความกลั่นแกล้งนั่นเอง
2. ไม่เอาคืน
ไม่เอาคืนหรือแก้แค้นผู้ที่ทำการกลั่นแกล้งเราด้วยวิธีเดียวกัน เพราะอาจทำให้เรากลายเป็นคนผิดและตกเป็นจำเลยของสังคมแทน อีกทั้งยังเป็นวิธีการที่ทำให้เรามีพฤติกรรมที่ไม่ต่างไปจากผู้ที่กลั่นแกล้ง
3. เก็บหลักฐาน
เก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งเราไว้ทุกชิ้น เพื่อรายงานต่อผู้ปกครองหรือผู้บังคับใช้กฎหมายต่อไป
4. รายงานความรุนแรง
หากถูกกลั่นแกล้งผ่านทางโซเชียลมีเดียในโลกออนไลน์ ให้ทำการรายงาน (Report) การกลั่นแกล้งดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นข้อความ รูปภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่เกิดขึ้นให้กับทางผู้ดูแลระบบ
5. ตัดช่องทางการติดต่อ
เมื่อเจอการกลั่นแกล้งผ่านทางไซเบอร์ ให้เราทำการลบ แบน หรือบล็อก ผู้กระทำพฤติกรรมกลั่นแกล้งทุกช่องทาง และระมัดระวังในการติดต่อกับบุคคลเหล่านั้นในอนาคต
ไม่ว่าเราจะมีบทบาทไหนในโลกไซเบอร์ก็ตาม แต่เราก็สามารถร่วมกันหยุดพฤติกรรมการคุกคามหรือการระรานในโลกออนไลน์ได้ ด้วยการช่วยกันสอดส่องดูแลความเป็นไปในโลกออนไลน์ โดยหากพบพฤติกรรมที่เข้าข่ายการคุกคามทางไซเบอร์ แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรงแต่เราก็สามารถแจ้งไปยังผู้ดูแลระบบต้นทางได้ ร่วมกันหยุดการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ และทำให้สังคมออนไลน์น่าอยู่และเป็นมิตรสำหรับทุกคน