ข่าวประชาสัมพันธ์
ONESIAM ลานทางเชื่อมสี่แยกปทุมวัน ที่ออกแบบด้วยแนวคิดอารยสถาปัตย์ (Universal Design) เพื่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพ และประชาชนทั่วไป ที่วันนี้ได้กลายเป็นแลนด์มาร์คที่ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีตอกย้ำสัญญลักษณ์ “เมืองอารยสถาปัตย์” เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทั้งมวล ซึ่งได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้บริการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 5 สร้างประโยชน์มหาศาลให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงพื้นที่โดยรอบบริเวณได้อย่างสะดวกสบาย ปลอดภัย ตอบโจทย์การใช้ชีวิต และกลายเป็นต้นแบบของลานทางเชื่อมในเมืองหลวงที่สมบูรณ์แบบที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยทั้งความสวยงามและประโยชน์การใช้งาน
ที่มาของ ONESIAM ลานเชื่อมแยกปทุมวัน
ONESIAM ลานเชื่อมสี่แยกปทุมวันนี้เกิดขึ้นจากสมาคมการค้าพลังสยาม หรือที่รู้จักกันในนามพันธมิตรพลังสยาม (Siam Synergy) ซึ่งนำโดย บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด พร้อมด้วยผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนภายในย่านสยาม ร่วมกันสนับสนุนการปรับปรุงลานเชื่อมแยกปทุมวัน อันจะเป็นแลนด์มาร์คสำคัญ เชื่อมสถานที่สำคัญโดยรอบ ได้แก่
- หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
- สนามกีฬาแห่งชาติ
- ศูนย์การค้า เอ็มบีเค เซ็นเตอร์
- สยามสแควร์
- สยามดิสคัฟเวอรี่ และเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนสถานีรถไฟฟ้าสถานีสยาม สนามกีฬาแห่งชาติ ได้อย่างสะดวก
ตอกย้ำย่านสยามในฐานะประตูสู่กรุงเทพมหานครพร้อมอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่สัญจรไปมาภายในย่าน ด้วยการออกแบบ แบบอารยสถาปัตย์ (Universal Design) โดดเด่น และเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญสำหรับคนจากทั่วโลกในฐานะ Art District
แรงบันดาลใจในการสร้าง ONESIAM มาจาก High Line ในนิวยอร์ค ที่สู่การรังสรรค์ลานเชื่อมแยกปทุมวันที่คลุมทางเดินด้วย art abstract ที่มองจากด้านบนจะเห็นเป็นรูปใบบัวลอยอยู่บนผิวน้ำ สะท้อนถึงความเขียวขจีบ่งถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ปทุมวัน พร้อมบอกเล่าที่มาของพื้นที่บริเวณย่านสยามแห่งนี้ที่เดิมเป็นสระบัวขนาดใหญ่ที่สุดของกรุงเทพได้อย่างดี
ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งพื้นที่ศิลปะสาธารณะ จุดชมวิว พิกัดใหม่ที่ผู้คนนิยมขึ้นมาถ่ายภาพได้ใช้ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวดูแลรับผิดชอบโดยบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เพื่อช่วยรองรับผู้คนสัญจรที่มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นจากอัตราการขยายตัวของสถานที่โดยรอบที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ขับเคลื่อนให้ย่านแห่งนี้เจริญและเติบโตยิ่งขึ้น ส่งต่อประโยชน์ให้กับธุรกิจ และผู้คนที่อยู่โดยรอบไม่ว่าจะเป็น สถานศึกษา สถานที่ราชการ วัด และจุดเชื่อมต่อการเดินทาง
นี่คือตัวอย่างการพัฒนาธุรกิจที่เอื้ออำนวยให้ทุกส่วนในระบบนิเวศทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน ด้วยต้นแบบที่สะท้อนวิธีคิดด้านอารยสถาปัตย์ที่เอื้อประโยชน์ในยุคของการใช้ชีวิตของผู้คนทั้งมวลให้ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น และพร้อมต้อนรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลกที่เดินทางมาเยี่ยมเยือนประเทศไทยเร็วๆ นี้