‘หมอยง’ เผย 5 เหตุผล ทำไมฝีดาษลิงควบคุมยาก
หมอยง เผย 5 เหตุผล ทำไมฝีดาษลิงควบคุมยาก หวั่นแพร่เชื้อเข้าไปในสัตว์ และเป็นพาหะกระจายโรค
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กพูดถึงโรคฝีดาษลิง ว่า โรคฝีดาษลิงนั้นเป็นโรคที่มีความยุ่งยากในการควบคุม
โดยข้อความเฟซบุ๊กเกี่ยวกับฝีดาษลิงระบุว่า “ฝีดาษวานรที่ระบาดในปีนี้ ในยุโรปและอเมริกา มีผู้ป่วยร่วม 500 ราย ส่วนใหญ่ เพศชายถึง 98% และอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ อายุ 20 ถึง 50 ปี ความยุ่งยากในการควบคุมโรค คือ
1 อาการของโรคไม่ได้รุนแรงแบบไข้ทรพิษ ยังไม่มีใครเสียชีวิตเลย เมื่อมีอาการน้อยบางรายก็ไม่ได้รับการวินิจฉัย
2 ตุ่มที่ขึ้นก็ไม่ได้มาก 30% เกิดในที่ลับ บริเวณอวัยวะเพศ และถ้าไม่มีอาการมาก หรือตุ่มขึ้นน้อยก็จะไม่ได้พบแพทย์
3 โรคนี้ติดต่อ เกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์ เพราะมีการสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด
4 ไม่มีหลักฐานในการติดต่อจากสัตว์ หรือเดินทางมาจากแอฟริกา เป็นการติดต่อระหว่างคนสู่คน
5 ถ้าเชื้อฝีดาษวานร ที่ระบาดอยู่ขณะนี้ เข้าไปติดยังสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะ ในตระกูล หนู กระต่าย กระรอก สัตว์เหล่านี้จะมีอาการน้อยมาก และเป็นพาหะ ที่จะกระจายโรคได้ จะยากต่อการควบคุมขึ้นอีก นำไปสู่
การเกิดโรคประจำถิ่น ขณะนี้โรคประจำถิ่นอยู่แอฟริกา มีความกังวลว่า ถ้าติดในสัตว์เลี้ยง ที่กำลังระบาดอยู่นี้ ก็อาจประจำถิ่นอยู่ยุโรปต่อไป”
- ‘ธนกร’ ยืนยันไม่พบผู้ป่วยฝีดาษลิงในไทย วอน ปชช. มั่นใจใน สธ.
- เจาะไทม์ไลน์ผู้ป่วยฝีดาษลิง พักเครื่องที่ไทย 2 ชม. ได้เดินทางไปที่ไหนหรือไม่
- สธ. เผยยืนยันยังไม่พบ ฝีดาษลิงในไทย หลังมีผู้ต้องสงสัย 5 ราย