การใส่บาตรทำบุญตามวิถีชาวพุทธ หากต้องการให้ผลบุญส่งไปถึงผู้ที่เราอุทิศให้ ขั้นตอนสำคัญที่ลืมไม่ได้เด็ดขาด คือ การกรวดน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการกรวดน้ำทำบุญที่วัดหรือที่บ้านก็ตามที ชวนคุณมาดู วิธีกรวดน้ำ หลังใส่บาตร ที่ถูกต้อง วิธีกรวดน้ำที่ถูกต้อง กรวดน้ำอย่างไรถึงจะถูกวิธี หลังใส่บาตรจำเป็นต้องกรวดน้ำอุทิศผลบุญส่วนกุศลหรือไม่ พร้อมคำกล่าวกรวดน้ำ รวมไปถึงการอธิษฐานจิต คำที่ใช้อธิษฐานก็มีผลสำคัญ ซึ่งหมอปลายได้แนะนำคำที่ห้ามใช้ไว้อีกด้วย หากพร้อมแล้วลองไปไขข้อข้องใจเรื่องการกรวดน้ำกันเลยค่ะ
การกรวดน้ำ คืออะไร ทำไมต้องกรวดน้ำ
การกรวดน้ำ หรือ พิธีกรวดน้ำ คือ วิธีในการอุทิศส่วนกุศล ให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ทั้งญาติสนิท มิตรสหาย คนรู้จัก เจ้ากรรมนายเวร วิญญาณเร่ร่อนต่าง ๆ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเทพเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ที่ปกป้องคุ้มครองผู้กรวดน้ำอยู่ ก็สามารถอุทิศส่วนกุศลให้ได้ทั้งหมด
ถือเป็นพิธีสำคัญที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน เพราะเชื่อว่าเทวทูตทั้งสี่ (พระแม่ธรณี พระแม่คงคา พระวายุ และพระอัคนี) เป็นสื่อกลางที่สามารถส่งคำอธิษฐานของเราไปให้แก่วิญญาณบรรพบุรุษของเราได้
โดยในระหว่างการกรวดน้ำ ผู้กรวดน้ำควรรำลึกถึงผู้ที่ต้องการอุทิศส่วนกุศลไปให้ คนที่ต้องการขออโหสิกรรม รวมถึงคนที่มีเวรกรรมต่อกัน เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นได้รับส่วนกุศล
ส่วนมากการกรวดน้ำนั้นสามารถทำได้ทันทีหลังจากทำบุญ ใส่บาตร หรือใครสะดวกกลับไปกรวดน้ำที่บ้านก็ทำได้ เชื่อกันว่าหากไม่กรวดน้ำหลังจากทำบุญ ดวงวิญญาณเหล่านั้นอาจไม่ได้รับส่วนบุญส่วนกุศลที่เราตั้งใจทำให้
วิธีกรวดน้ำ หลังใส่บาตร ที่ถูกต้อง
วิธีกรวดน้ำ สามารถทำได้ 2 รูปแบบตามความสะดวก ดังนี้
- วิธีกรวดน้ำแบบเปียก วิธีนี้จะใช้น้ำเป็นสื่อ โดยเตรียมภาชนะเปล่า 1 ใบ จะเป็นแก้วน้ำ ขัน ถ้วย หรือภาชนะอะไรก็ได้ พร้อมภาชนะใส่น้ำสะอาดอีก 1 ใบ จากนั้นค่อย ๆ เทน้ำลงในภาชนะที่รองรับ พร้อมกับอุทิศผลบุญกุศลไปด้วย วิธีนี้ หลังจากที่กรวดน้ำเสร็จแล้ว ให้เรานำน้ำที่เราเทใส่ที่รอง ไปรดที่โคนต้นไม้ใหญ่ หากเป็นต้นไม้ที่มีรากลงดินจะยิ่งดี เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี
- วิธีกรวดน้ำแบบแห้ง วิธีนี้ใช้เพียงแค่การประนมมือ โดยระหว่างนั้นให้ตั้งจิตอธิษฐานนึกถึงคนที่เราอยากให้ผลบุญนี้ไปถึง
โดยระหว่างการกรวดน้ำ จะต้องกล่าวบทกรวดน้ำ รวมถึงคำกล่าวกรวดน้ำดังนี้ค่ะ
บทกรวดน้ำ หลังสวดมนต์
บทกรวดน้ำ แบบยาว
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ (3 จบ)
อิมินา ปุญญะกัมเมนะ อุปัชฌายา คุณุตตะรา
อาจะริยูปะการา จะ มาตา ปิตา จะ ญาตะกา
ปิยา มะมัง สุริโย จันทิมา ราชา คุณะวันตา นะราปิ จะ
พรัหมมะ มาราจะ อินทา จะ ทุโลกะปาลา จะ เทวะตา
ยะโม มิตตา มะนุสสา จะ มัชฌัตตา เวริกาปิ จะ
สัพเพ สัตตา สุขี โหนตุ ปุญญานิ ปะกะตานิ เม
สุขัง จะ ติวิธัง เทนตุ ขิปปัง ปาเปถะ โว มะตัง
อิมินา ปุญญะกัมเมนะ อิมินา อุททิเสนะ จะ
ขิปปาหัง สุละเภ เจวะ ตัณหุ ปาทานะเฉทะนัง
เย สันตาเน หินา ธัมมา ยาวะ นิพพานะโต มะมัง
นัสสันตุ สัพพะทา เยวะ ยัตถะ ชาโต ภะเว ภะเว
อุชุจิตตัง สะติปัญญา สัลเลโข วิริยัมหินา
มารา ละภันตุ โนกาสัง กาตุญจะ วิริเยสุ เม
พุทธาทิปะ วะโร นาโถ ธัมโม นาโถ วะรุตตะโม
นาโถ ปัจเจกะพุทโธ จะ สังโฆ นาโถตตะโร มะมัง
เตโสตตะมานุภาเวนะ มาโรกาสัง ละภันตุมา
ปัญจะมาเร ชิเร นาโถ ปัตจะสัมโพธิ มุตตะมัง
จะตุสัจจัง ปะกาเสสิ มหาเวรัง
สัพพะพุทเธ นะมามิหัง
อิทัง เม ญาตินัง โหตุ
สุขิตา โหนตุ ญาตะโย
บทกรวดน้ำแบบสั้น
อิทัง เม ญาตินัง โหนตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย
ขอบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าเถิด ขอญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าจงมีความสุขด้วยเถิด
บทกรวดน้ำ (อุทิศส่วนกุศล)
อิทัง เม มาตาปิตุนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ มาตาปิตะโร
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่มารดาบิดาของข้าพเจ้า
ขอให้มารดาบิดาของข้าพเจ้า จงมีความสุข
อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า
ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า จงมีความสุข
อิทัง เม ครุปัชฌายาจะริยานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ครุปัชฌายาจะริยา
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้า
ขอให้ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้า จงมีความสุข
อิทัง สัพพะเทวะตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เทวา
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เทวดาทั้งหลาย
ขอให้เทวดาทั้งหลายจงมีความสุข
อิทัง สัพพะเปตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เปตา
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เปรตทั้งหลาย
ขอให้เปรตทั้งหลาย จงมีความสุข
อิทัง สัพพะ เวรีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เวรี
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย
ขอให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย จงมีความสุข
นอกจากการกรวดน้ำเองแบบตั้งจิตอุทิศส่วนกุศลด้วยบทสวดมนต์ที่กล่าวไปข้างบนแล้ว ยังมีวิธีการกรวดน้ำโดยการเริ่มรินน้ำ ขณะที่พระเริ่มสวดว่า “ยะถาวาริวะหา…” อีกด้วย
คำกล่าวกรวดน้ำ โดย หมอปลาย พรายกระซิบ
หมอปลาย พรายกระซิบ ได้ให้คำแนะนำเรื่องวิธีกล่าวคำกรวดน้ำ ที่ถูกต้องไว้ว่า ควรอุทิศส่วนกุศลให้ตนเองเป็นอันดับแรก ๆ ก่อน จากนั้นจึงค่อยกล่าวชื่อของคนที่เราต้องการอุทิศส่วนกุศลให้ หากทำบุญมากก็สามารถแบ่งได้มาก ทำน้อยก็แบ่งได้น้อย
ข้อห้ามที่สำคัญก็คือ ห้ามเอ่ยคำว่า ขอเบิกบุญ เป็นอันขาด เนื่องจากเชื่อว่าเป็นการขอยืมบุญในอดีตชาติการใช้โดยที่ไม่จำเป็น โดยให้กล่าวดังนี้
“จากบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้ทำในวันนี้ ข้าพเจ้า (ชื่อ-นามสกุล) ขออุทิศส่วนบุญส่วนกุศล
ให้กับเจ้ากรรมนายเวรของข้าพเจ้า บิดา-มารดา / สามี-ภรรยา / บุตร / บรรพบุรุษ
และข้าพเจ้าขอถวายบุญให้กับ.. เทวดาประจำตัวของข้าพเจ้า เจ้าที่ที่บ้านของข้าพเจ้า
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ องค์เทพทุกๆ พระองค์ ที่เสด็จมาคุ้มครองตัวข้าพเจ้า (พูดชื่อองค์เทพที่เคารพนับถือ)
และองค์เทพทุกๆ พระองค์ ที่ข้าพเจ้าเอ่ยพระนามก็ดี ไม่เอ่ยพระนามก็ดี”
หวังว่าคุณจะได้ไขข้อข้องใจเรื่องวิธีกรวดน้ำที่ถูกต้อง รวมถึงสาเหตุที่เราต้องกรวดน้ำกันไปแล้ว คราวนี้ผู้กรวดน้ำทุกท่านจะได้ทราบวิธีกรวดน้ำ ที่ถูกต้อง เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้คนที่เราต้องการได้ถูกกันแล้วนะคะ
อ้างอิงจาก (1)