หมอเพจดัง สงสัย ทำไมบริษัทให้พนักงานใช้วัน “ลาพักร้อน” แทน “ลาป่วย” แม้ว่าป่วยจริงๆ
หมอเพจดัง สงสัย ทำไมบริษัทให้พนักงานใช้วัน “ลาพักร้อน” แทน “ลาป่วย” แม้ว่าป่วยจริงๆ แถมกฎหมายแรงงาน กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ์ลาป่วยได้ 30 วันต่อปี
วันลาป่วย กับ วันลาพักร้อน นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาโลกแตกของชีวิตพนักงานออฟฟิศ โดยตามกฎหมายแรงงานแล้ว กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้ 30 วันต่อปี แต่ในความเป็นจริงแล้ว พบว่าหลายบริษัทให้สิทธิวันลาป่วยแค่ 7 วันเท่านั้น แถมเมื่อป่วยจริง ๆ บางแห่งยังให้ใช้วันลาป่วยได้จำกัด ส่วนที่เหลือให้ไปใช้วันลาหยุดอื่น ๆ อย่างวันลาพักร้อนแทน
อาชีพหมอ ก็เป็นอาชีพที่ต้องพบปะกับคนไข้โดยตรง ก็ได้สงสัยปัญหานี้เช่นกัน ว่าถ้าให้พนักงานใช้สิทธิลาป่วย จะส่งผลเสียต่อบริษัทอย่างไร มีผลเสียต่อลูกจ้างอย่างไร หมอเจ้าของเพจ เรื่องเล่าจากโรงพยาบาล ได้โพสต์ถามปัญหานี้ พร้อมเล่าประสบการณ์ที่เจอมากับคนไข้ ที่คนป่วยเลือกจะต่อรองลดวันพักฟื้นร่างกาย บางคนให้เหตุผลว่าเพราะบริษัทไม่ให้ลา
หมอบางคน อาจมีประสบการณ์
คนไข้มาขอใบลาป่วยโดยไม่จำเป็น บ่อยๆ
ผมก็เจอบ้าง แต่น้อย
ที่เจอบ่อยกว่า คือ หมออย่างผม
ต้องเป็นฝ่ายขอร้องให้หยุดงานบ้างเถอะ
หน้าซีดเป็นไก่ต้ม แล้ว
หมอให้ลาพรุ่งนี้ด้วยนะครับ
จะดีเหรอหมอ ไม่ต้องหรอก
ถ้าไหวก็ค่อยไป หมอเขียนไว้ให้ก่อน
บางคนหัวใจวาย
อยู่ รพ. 5 วันดีขึ้น
หมอให้ลาพักอีก อาทิตย์นะครับ
ไม่ได้หรอกหมอ เขาไม่ให้ลา
อีกสัก 5 วัน ?
2 วันก็พอครับ”
นี่คือข้อความบางส่วน บางช่วงบางตอนที่เพจเล่าให้ฟัง
โดยใต้โพสต์ดังกล่าว ได้มีผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก แชร์ประสบการณ์นโยบายการลาป่วยของที่ทำงานที่ตนทำอยู่ หลายคนบอกเหมือน ๆ กันว่า การลาป่วยบ่อยจะมีผลต่อการประเมินการเลื่อนขั้นหรือการขึ้นเงินเดือน ถ้าลาป่วยบ่อย เจ้านายไม่โอเค ขณะที่การลาพักร้อน สามารถลาได้ตามสิทธิ ไม่มีผลต่อการประเมินเงินเดือนหรือผลงาน
“ลาป่วยมีผลกระทบกับเบี้ยขยันต่างๆ มีผลกับการเงินขึ้น มีผลกับเพื่อนร่วมงานที่ต้องมาทำแทน ลาบ่อยเจ้านายไม่โอเค ยิ่งทำงานโรงงานในฝ่ายผลิตน่าสงสาร ป่วยจนแทบไม่ไหวก็ยังต้องมาค่ะ”
“แล้วแต่บริษัทค่ะ จากที่เคยทำงานมาหลายที่ มีบริษัทให้สะสมวันลาพักร้อนไว้ใช้ปีถ้ดไปได้ แต่จะมีมีลิมิตว่ารวมกับพักร้อนที่จะได้ในปีถัดไปต้องไม่เกิน30วัน และก็สามารถขายพักร้อนได้ตลอดการเป็นพนักงานได้1ครั้งไม่เกิน14วัน มีที่นี้ที่เดียวตลอดชีวิตการทำงานเกือบ30ปีที่เป็นแบบนี้ พักร้อนที่ที่นี้จะเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันไดตามอายุงาน นอกนั้นทุกที่ที่เคยทำมาคือใช้ปีต่อปี ไม่หมดคือตัดไป สะสมไม่ได้อีก การลาป่วยมีผลต่อการขึ้นโบนัสและเงินเดือนโดยตรง วันลาพักร้อนไม่มีผลอะไร บางบริษัทสร้างแรงจูงใจด้วยเบี้ยขยันด้วยค่ะ ทำให้บางคนเลือกที่จะใช้พักร้อนแทนวันลาป่วยตามกฏหมาย”
ลาป่วยได้กี่วัน กฎหมายแรงงาน 2565
ตามกฎหมายแรงงานแล้ว ลาป่วยได้กี่วัน อ้างอิงจาก พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 32 ประกอบมาตรา 57 กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าจำนวนวันที่ป่วยจริง จะได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 30 วันทำงานต่อปี สมมติว่าลาป่วย 32 วัน อีก 2 วันจะไม่ได้รับค่าจ้าง