ข่าวข่าวภูมิภาค

สธ. ยืนยันซ้ำ ‘ฟาวิพิราเวียร์’ เพียงพอ มีเหลือ 22.87 ล้านเม็ด

กระทรวงสาธารณสุข ออกโรงโต้กระแสข่าว ฟาวิพิราเวียร์ ขาดแคลน ยืนยันมีพอ ชี้ตอนนี้ยังมีใช้ถึง 22.87 ล้านเม็ด

จากกรณี ชมรมแพทย์ชนบท ออกมาโพสต์ข้อความเล่าว่าขณะนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ ขาดแคลน จนเกิดกระแสวิจารณ์ จากการรายงานไปก่อนหน้านี้นั้น ล่าสุดทาง นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า

ขณะนี้ประเทศไทยยังมียาฟาวิพิราเวียร์เพียงพอในการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 โดยมอบให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้จัดหา ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2565 องค์การเภสัชกรรมได้ผลิตและจัดหายาฟาวิพิราเวียร์เข้ามารวม 128.1 ล้านเม็ด เฉพาะช่วงวันที่ 1-28 มีนาคม 2565 มีการผลิตและจัดหายาแล้ว 73.9 ล้านเม็ด ส่งกระจายยาให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ 72.52 ล้านเม็ด

ข้อมูลถึงวันที่ 28 มีนาคม 2565 คงเหลือยาทั่วประเทศ 22.87 ล้านเม็ด โดยพื้นที่ กทม.มียาคงเหลือมากที่สุด 5.12 ล้านเม็ด รองรับผู้ป่วยได้ 1.02 แสนราย ขณะที่จังหวัดอื่นๆ มียาคงเหลือเพียงพอรองรับผู้ป่วยเช่นกัน ทั้งนี้ ส่วนกลางมีการจัดหายา และกระจายยาให้แก่ทุกจังหวัดอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ โดยช่วงวันที่ 29 มีนาคม – 2 เมษายน 2565 จะมียาอีก 15 ล้านเม็ด วันที่ 3-9 เมษายน 2565 อีก 11.6 ล้านเม็ด และวันที่ 10-16 เมษายน 2565 จำนวน 20 ล้านเม็ด

รองปลัดสธ. กล่าวอีกว่า ทุกจังหวัดได้รับการกระจายยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับใช้รักษาผู้ป่วยโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง แต่ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาบางพื้นที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้การบริหารจัดการยาไม่คล่องตัว หากโรงพยาบาลใดพบแนวโน้มว่ายาฟาวิพิราเวียร์จะไม่พอใช้ สามารถแจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อบริหารจัดการยาให้โรงพยาบาลมีใช้อย่างต่อเนื่องได้

สำหรับการใช้ยาจะเป็นไปตามแนวทางการรักษาโรคโควิด 19 ของกรมการแพทย์ ที่กำหนดโดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงหลักการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล หากผู้ป่วยไม่มีอาการหรือไม่มีความเสี่ยงจะไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส โดยแพทย์อาจพิจารณาให้ยารักษาตามอาการหรือยาฟ้าทะลายโจร ซึ่งจากการติดตามการรักษาผู้ป่วยในเขตสุขภาพที่ 4, 5, 6 รวม 24 จังหวัด พบว่ามีผู้ป่วยที่อยู่ในเกณฑ์ต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์เพียง 26%

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังจัดหายารักษาอื่นๆ ได้แก่ ยาเรมดิซิเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิด เข้ามาเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับแพทย์พิจารณาในการรักษาผู้ป่วยให้เหมาะสมกับอาการและปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยด้วย

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button