ภาพยนตร์

รีวิว Turning Red แอนิเมชันจาก Disney เมื่อการเติบโต คือการฝึกฝนให้พ่อแม่รู้สึกผิดหวัง

รีวิว Turning Red (สปอยล์) หากวันหนึ่งที่การเติบโตของเรา เป็นการเชือดเฉือนความไว้ใจของพ่อแม่ทีละนิด เรายังจะเป็นคน “กตัญญู” ได้อยู่หรือไม่ ? นี่คือหนึ่งในคำถามที่เกิดขึ้นหลังจากที่เรารับชมภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้จบลง วันนี้ The Thaiger จะพาลูกหลานชาวเอเชียทุกคน ไปรำลึกถึงความหลังของการเติบโตที่ไม่เป็นดั่งใจของพ่อแม่ บาดแผลที่ส่งไม้ต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น

หมายเหตุ : Trigger Warnings!

Advertisements
รีวิว turning red
ภาพจาก : IMDb

รีวิว Turning Red เบื้องหลังความสนุกของการเติบโต ล้วนมีขวากหนามซ่อนไว้เสมอ

 

Turning Red เขินแรง แดงเป็นแพนด้า แอนิเมชันเรื่องล่าสุดจาก Pixar และ Disney

เรื่องราวของ “เหมยลี่” เด็กหญิงวัย 13 ปี เชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในโตรอนโต ประเทศแคนาดา ชีวิตของเธอเต็มไปด้วยระเบียบที่เคร่งครัดจากแม่ แต่กระนั้นเธอก็ไม่ได้รู้สึกว่าการเป็นครอบครัวเอเชียอย่างที่เป็นอยู่คือผิดปกติใด ๆ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้นทำให้เธอต้องกลายร่างเป็น “แพนด้าแดง” ทุกครั้งที่เต็มไปด้วยอารมณ์รุนแรง (เขินแบบกรี๊ดระเบิด หรือโมโหจัดอยากจะซัดหน้า)

ซึ่งเหมยลี่ หรือเมยเมย ต้องผ่านพิธีกรรมนำวิญญาณของแพนด้าแดงออกจากตัว แต่เรื่องราววุ่น ๆ ก็เกิดขึ้นเมื่อวันทำพิธีดันตรงกับวันที่ศิลปินบอยแบรนด์สุดที่รักอย่าง “โฟร์ทาวน์” มาทำการแสดงที่เมืองของเธอพอดี งานนี้เธอคงต้องเลือกระหว่างการเป็นตัวเอง (ติ่งโฟร์ทาวน์) หรือเป็นเด็กดี (ทำตามที่ครอบครัวต้องการ) เธอจะเลือกอะไรงานนี้คงเดาได้ไม่ยาก

Advertisements

Turning Red แอนิเมชันที่ใช้ความน่ารักกลบเกลื่อนความเจ็บปวด

“ถ้าทำดีขนาดนี้แล้วพ่อแม่ยังไม่ไว้ใจเรา แล้วจะทำเพื่ออะไร” นับว่าเป็นประโยคหนึ่งจากในเรื่องที่ทิ่มลึกลงไปในใจแบบสุด ๆ ท่ามกลางความสนุกสุดหรรษาของการ “พากันไปเติบโต” มีเบื้องหลังที่ซ่อนหยาดน้ำตาไว้มากมาย

Turning Red เป็นแอนิเมชันที่บอกเล่าเรื่องราวของเด็กสาว “เมยเมย” ที่อายุย่างเข้า 13 ปี แล้วดันต้องไปเผชิญกับพรวิเศษ–ซึ่งตัวละครทุกตัวในเรื่องเห็นพ้องต้องกันว่าเป็น “คำสาป” เสียมากกว่า–ที่ทำให้ตนเองต้องกลายเป็น “แพนด้าแดง” น่ารักปุกปุยขนฟู ในยามที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์อันระเบิดเถิดเทิงของตัวเองได้

แน่นอนแหละว่า เด็กสาววัย 13 ที่เกิดมาในโลกยุค Pop-Culture กำลังเฟื่องฟู ใครจะไปอดใจไหวกับการเป็นติ่ง (AKA แฟนคลับ) ของศิลปินวงโปรดได้เล่า เราทุกคนล้วนเข้าใจความรู้สึกของการเป็นติ่งได้อย่างดี แม้ในรุ่นพ่อรุ่นแม่หรือปู่ย่าตายายของเราเอง ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการไปดูคอนเสิร์ตเพลงเพื่อชีวิต หรือดูการแสดงลิเก ก็ทำให้ใจเต้นตึกตักโครมครามได้ไม่ต่างกับการดูคอนเสิร์ตเพลง Pop

ความเป็น “ติ่ง” นี้เองที่ทำให้ตัวละครหลักของเราไม่อาจก้าวข้ามผ่าน “ความเป็นกุลสตรี” ตามขนบไปได้ เพราะเพียงแค่เธอวาดภาพตามจินตนาการระหว่างเธอกับหนุ่มเฝ้าร้านสะดวกซื้อ ในฉากที่ค่อนข้างล่อแหลม (ในสายตาแม่ของเธอ) และนั่นทำให้เรื่องราวบานปลายเลยเถิดกันไปใหญ่โต

“ขนบธรรมเนียม” โน้มน้าวให้เราเห็นว่า ความคิดแบบทะลึ่งตึงตังนั้นผิดวิสัยของมนุษย์ และการที่บุพการีสามารถสอดส่องความเป็นอยู่ของลูกตัวเองได้อย่างล้วงลับตับแตกโดยอ้างว่า “เป็นห่วง” นั้น คือเรื่องที่ถูกต้อง ทำไมการมีอารมณ์ทางเพศในวัยที่กำลังเจริญเติบโตทางเพศ ถึงกลายเป็นเรื่องผิดวิสัย ในเมื่อธรรมชาติสร้างมนุษย์มาให้ดำรงสืบเผ่าพันธุ์เช่นนั้น

นี่คือคำถามที่จะเกิดกับผู้ชมตลอดทั้งเรื่องว่า เหตุใดการเป็นติ่งจึงถูกมองว่าไม่ปกติ และทำไมการกรี๊ดกร๊าดบุรุษเพศ ถึงทุกมองในแง่ของกามารมณ์ได้ ความย้อนแย้งของเรื่องเพศที่รุ่นพ่อกับรุ่นแม่ล้วนผ่านมาแล้ว กลับกลายเป็นเรื่องน่าอับอายเมื่อถูกเอื้อนเอ่ยออกมาจากความไม่ประสาของเด็ก และถือว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรงมากทีเดียวสำหรับพ่อแม่ชาวเอเชีย

โฟร์ทาวน์
ภาพจาก : IMDb

การปะทะกันระหว่าง เมยเมย และ แม่ กระทบใจจนต้องติด Trigger Warnings

หลาย ๆ คนที่ได้รับชมฉากนี้อาจจะไม่ค่อยรู้สึกอะไรมาก ระหว่างการทะเลาะกันและโต้เถียงกันไปมาของลูกสาวที่ทำดีมาทั้งชีวิตแต่แม่ไม่เคยไว้ใจ กับแม่ที่ก็เคยผ่านเรื่องราวเจ็บปวดแบบเดียวกันมาก่อนแต่กลับส่งต่อมายังลูก แต่ถ้าหากให้กล่าวกันอย่างเข้าข้างแล้วล่ะก็ ฉากนี้เป็นฉากที่ทำน้ำตาคนดูอีกกลุ่มหนึ่งพรั่งพรูได้มากเลยทีเดียว

เมยเมย คือตัวแทนของลูกหลานชาวเอเชีย ที่ไม่เคยโต้เถียงผู้ใหญ่ใด ๆ เลย เป็นเด็กดีมาทั้งชีวิต แต่ขอเพียงแค่ได้ทำสิ่งที่ชอบกลับถูกทัดทานในทันที เธอเองจึงตกผลึกได้ว่าการที่เธอเชื่อฟังแม่มาตลอดนั้น คือการที่เธอจะไม่มีวันได้เป็นอิสระ เพราะแม่คุมขังเธอด้วย “ความเป็นห่วง” และใช้คำว่า “ปกป้อง” มาเป็นโซ่ตรวนล่ามเธอไว้

ความเข้มงวดกวดขัน คือไม้ต่อที่เราไม่ประสงค์จะรับ แต่กลับถูกยัดใส่มือเอาไว้ เพื่อวิ่งไปสู่เส้นชัยที่เราไม่ได้ต้องการจะชนะ เพราะชัยชนะเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นความฝันของพ่อแม่ ไม่ใช่ของเราลูกหลานทุกคนเข้าใจดีว่าพ่อแม่เป็นห่วง และแน่นอนว่าเราไม่ทิ้งพวกเขาไปไหน แต่ทำไมเราถึงถูกตราหน้าว่า “อกตัญญู” ทั้ง ๆ ที่เราแค่เป็นตัวของตัวเอง

เราเพียงแค่เติบโต เราเพียงแค่เจริญวัยขึ้น เราเพียงแค่เรียนรู้โลกนี้มากขึ้น และพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้น และหากสิ่งที่ว่านั่นคือการทำให้พ่อแม่ต้องเจ็บปวด เราก็เสียใจด้วยที่ไม่อาจเลี่ยงได้ เพราะพ่อแม่เองก็ทำให้เราเจ็บปวดไม่น้อยไปกว่ากัน

เขินแรง แดงเป็นแพนด้า
ภาพจาก : IMDb

และนี่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคิดเห็นเล็ก ๆ หลังจากที่ได้รับชมภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Turning Red เขินแรง แดงเป็นแพนด้า อาจกล่าวได้ว่าเป็นแอนิเมชันที่เด็กดูได้ และผู้ใหญ่ก็ควรมาดูด้วย เพราะไม่เพียงแค่ความสนุกสนานและความบันเทิงที่เราจะได้รับจากตัวเรื่องเองแล้ว แต่ยังเต็มไปด้วยภาพสะท้อนของวัฒนธรรมที่ลูกหลานชาวเอเชียล้วนเข้าใจกันได้เป็นอย่างดี รับรองว่าดูแล้วไม่ผิดหวังแน่นอน

 

เรื่อง : โมทนา ม่วงเตี้ย
บรรณาธิการ : ทศพล ถิรเจริญสกุล


Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button