วันนี้ก็ถึงคราวมาศึกษา “วิธีช่วยคนจมน้ำ เบื้องต้น” กันบ้างแล้ว หลังจากที่ได้เรียนรู้ วิธีเอาตัวรอดเมื่อจมน้ำ ทักษะจำเป็น รู้ไว้ปลอดภัย 2565 ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นมาก ๆ สำหรับทุกคน เพราะเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าจะไปเจอสถานการณ์ที่ต้องช่วยเหลือคนจมน้ำเมื่อไร เพราะฉะนั้นเรียนรู้เอาไว้ก็ไม่เสียหาย เราไปศึกษาการช่วยคนจมน้ำในเบื้องต้นกันเลยดีกว่ากว่าจะมีทั้งหมดกี่วิธี และแต่ละวิธีเราสามารถช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้อย่างไรบ้าง
อธิบาย 5 วิธีช่วยคนจมน้ำ เบื้องต้น
- ตั้งสติ
สิ่งที่สำคัญที่สุดของวิธีช่วยคนจมน้ำเบื้องต้น คือ “การตั้งสติ” เพราะถ้าเราร้อนรนจนทำอะไรไม่ถูก ก็ยิ่งจะเสียเวลาในการช่วยเหลือคนจมน้ำไปมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นถ้าเราตั้งสติได้ เราก็จะมีสมาธิและสามารถช่วยเหลือคนจมน้ำได้อย่างถูกวิธี
- ยื่นอุปกรณ์ช่วยเหลือ
หากเกิดกรณีที่ผู้ประสบภัยจมน้ำอยู่ไม่ไกลจากเรามากนัก การใช้สิ่งของที่มีในตัวหรือใกล้ ๆ ตัว อย่าง กิ่งไม้ เสื้อผ้า เข็มขัด หรือท่อนไม้ ก็สามารถยื่นไปให้ผู้ประสบภัยได้ แต่ต้องดูให้ดีว่าเป็นอุปกรณ์ที่แข็งแรง ไม่ขาดหรือชำรุดง่าย และที่สำคัญคือจะไม่ฉุดเราให้ลงน้ำไปด้วย
- โยนอุปกรณ์ช่วยเหลือ
ถ้าหากประเมินสถานการณ์แล้วพบว่าตัวเรากับผู้ที่ตกน้ำนั้นอยู่ในระยะที่ไกลกัน หากใช้วิธียื่นอุปกรณ์เหลืออาจทำให้เราพลัดตกลงน้ำไปด้วย ดังนั้นเราควรมองหาอุปกรณ์ช่วยเหลืออย่าง ห่วงยาง ถึงพลาสติก ห่วงชูชีพ หรือยางในรถยนต์ โยนให้ผู้ประสบภัย ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่เราจะไม่เสี่ยงต่อการตกน้ำ เพราะสามารถโยนจากบนฝั่ง หรือบริเวณที่น้ำตื้นได้
- พายเรือออกไปช่วย
การพายเรือออกไปช่วยผู้ประสบภัยก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการช่วยคนจมน้ำในเบื้องต้น แต่ผู้ช่วยเหลือจำเป็นจะต้องมีทักษะการพายเรือหรือการใช้พาหนะทางน้ำด้วย นอกจากนี้พาหนะที่ใช้ก็ควรมีขนาดใหญ่พอสมควร และต้องตรวจสอบสภาพให้ดีว่าไม่มีการชำรุด และเมื่อจะพายเรือออกไปช่วยเหลือคนจมน้ำก็ควรติดอุปกรณ์สำหรับยื่นหรือโยนให้ผู้ประสบภัยด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นตามมา
- ช่วยด้วยการลากพา
วิธีสุดท้ายที่หากว่าผู้ช่วยเหลือจำเป็นต้องลงน้ำไปเพื่อช่วยคนจมน้ำ ก็คือวิธีการลากพา ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะกับพื้นที่ที่มีน้ำตื้น ไม่ลึกมาก รวมถึงกระแสน้ำไม่แรงจนเกินไป เพราะถ้าหากเราตัดสินใจลุยน้ำลงไปช่วยผู้ประสบภัยแล้ว แต่บริเวณนั้นไม่เหมาะแก่การลงน้ำ จะทำให้ตัวผู้ช่วยเหลือได้รับอันตรายตามไปด้วย นอกจากนี้ก็ควรติดอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือคนจมน้ำไว้ด้วย เช่น เชือก ห่วงยาง โฟม หรือเสื้อชูชีพ เพื่อโยนให้ผู้ประสบก่อนแล้วจึงค่อยลากเขาเข้าฝั่ง
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงในการช่วยเหลือคนจมน้ำก็คือการทิ้งระยะห่างระหว่างผู้ช่วยเหลือกับผู้ประสบภัย เพราะเมื่อคนตกน้ำก็จะเกิดอาการตื่นตระหนก มือปัดป่ายไปทั่ว และหากเราเข้าไปใกล้ ๆ ก็อาจจะถูกเขากดน้ำได้ เพราะคนจมน้ำต้องพยายามหาที่ยึดเกาะให้ตัวเองพ้นจากน้ำ
ซึ่งระยะห่างที่ควรจะเว้นไว้ที่ดีที่สุดคือ 2-3 เมตร ยกเว้นว่าผู้ประสบเหตุหมดสติไม่กระดิกไปแล้ว และเราก็มีทักษะการว่ายน้ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตอนนั้นเองเราจึงจะสามารถว่ายน้ำลงไปช่วยเหลือคนที่กำลังจะจมน้ำได้
จดและจำ นำไปใช้ได้เลยกับ วิธีช่วยคนจมน้ำเบื้องต้น เพราะเราไม่รู้ว่าอุบัติเหตุทางน้ำจะเกิดขึ้นเมื่อไร การเตรียมตัวให้พร้อมไว้อยู่เสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งการช่วยเหลือคนจมน้ำนั้นก็ควรเป็นทักษะพื้นฐานที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ เพราะอุบัติเหตุคือเรื่องไม่คาดคิดนั่นเอง และกาดอกจันเอาไว้เลยว่า ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยคนจมน้ำ เพราะถึงแม้ว่าเราจะมีทักษะการว่ายน้ำดีมากแค่ไหนก็ตาม แต่คนจมน้ำนั้นกำลังขาดสติและตื่นตระหนก ดังนั้นผู้ประสบภัยอาจทำให้เราจมน้ำไปพร้อมกับเขาได้ ทางที่ดีควรช่วยเหลือคนจมน้ำในเบื้องต้นอย่างที่แนะนำไปจะดีกว่า
เรื่อง : โมทนา ม่วงเตี้ย
บรรณาธิการ : ทศพล ถิรเจริญสกุล
- วิธีเอาตัวรอดเมื่อจมน้ำ ทักษะจำเป็น รู้ไว้ปลอดภัย 2565
- รู้เร็วไม่ตาย ‘วิธีเอาตัวรอดจากรถจมน้ำ’ อัปเดต 2021
- เสื้อชูชีพ เสื้อพยุงตัว ต่างกันยังไง ดูให้ดีว่าใช่ชูชีพหรือไม่!
? ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน The Thaiger