กองทัพ รัสเซีย ยูเครน เทียบแสนยานุภาพของ 2 ประเทศ
กองทัพ รัสเซีย ยูเครน ใครเหนือกว่ากัน ? หนึ่งในคำถามที่หลายคนสงสัย เกี่ยวกับสงครามที่เกิดขึ้นในปี 2022 ว่าใครจะได้เปรียบกว่ากัน ท่ามกลางไฟสงครามที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรป ระหว่าง 2 ประเทศซึ่งมีประวัติศาสตร์ภูมิหลังร่วมกันมาอย่างยาวนาน วันนี้ The Thaiger Thailand เลยรวบรวมเอาคำตอบ มาไขทุกข้อข้องใจ พร้อมคำอธิบายที่เข้าใจได้ง่าย จะเป็นยังไง ไปติดตามพร้อมกันได้เลยจ้า ?
กองทัพ รัสเซีย ยูเครน ไขข้อข้องใจ ปมการเมือง พร้อมเจาะลึกกำลังทหารทั้ง 2 ประเทศ
| ส่อง กองทัพ รัสเซีย ยูเครน
กลายเป็นข่าวดังไปทั่วทั้งโลก ท่ามกลางความวิตกกังวลของหลายประเทศ เกี่ยวกับกรณีสงครามขนาดย่อม ระหว่างรัสเซียและยูเครน เพราะทั้ง 2 ประเทศถือว่า มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมโลกไม่น้อยเลย แถมยังมีความแตกต่าง ในเรื่องของกองกำลังทหารพอสมควร ทั้งนี้ The Thaiger เลยอยากรวบรวมเอา ข้อแตกต่างทางแสนยานุภาพของทั้ง 2 ประเทศ ทั้งในแง่ของอาวุธและกำลังพล มาฝากทุกคนกัน ดังนี้
กองกำลังทหารพร้อมปฏิบัติการ
- รัสเซีย 900,000 นาย
- ยูเครน 196,000 นาย
รถถังที่พร้อมใช้งาน
- รัสเซีย 15,857 คัน
- ยูเครน 3,309 คัน
จำนวนรถหุ้มเกราะ
- รัสเซีย 30,122 คัน
- ยูเครน 12,303 คัน
เครื่องบินกองทัพอากาศ
- รัสเซีย 1,391 ลำ
- ยูเครน 132 ลำ
เฮลิคอปเตอร์
- รัสเซีย 948 ลำ
- ยูเครน 55 ลำ
กองกำลังเรือ
- รัสเซีย 49 ลำ
- ยูเครน 0 ลำ
เงินสนับสนุน
- รัสเซีย 45.8 พันล้านดอลลาร์
- ยูเครน 4.7 พันล้านดอลลาร์
| ย้อนอดีต ความสัมพันธ์ รัสเซีย – ยูเครน
ทราบรายละเอียดกองกำลังของทั้ง 2 ประเทศกันไปแล้ว ก็มาย้อนรอยอดีตของทั้งคู่กันบ้างดีกว่า ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่เคยทราบว่า ความจริงแล้วในอดีต ยูเครนเคยเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียมาก่อน แต่เมื่อถึงช่วงเวลาที่ราชวงศ์โรมานอฟล่มสลาย ยูเครนจึงได้ขอแยกตัวออกมาเป็นประเทศ โดยมีผู้ให้การสนับสนุนหลักคือประเทศเยอรมนีนั่นเอง แต่พอเวลาผ่านไป เยอรมนีกลายเป็นผู้แพ้สงครามโลก ทำให้สถานภาพของยูเครนสั่นคลอน และเมื่อมีการจัดตั้งสหภาพโซเวียตขึ้น ยูเครนจึงถูกนับรวมเป็นสมาชิกในทันที และกลายเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เวลาผ่านเลยไป สหภาพโซเวียตที่ครั้งหนึ่งเคยมีอิทธิพลต่อโลก และกินพื้นที่กว่า 1 ใน 6 ของพื้นที่ทั้งหมด ก็ถึงคราวต้องล่มสลายลงในช่วงปี 1991 เป็นเหตุให้ยูเครนในขณะนั้น แยกตัวออกมาเป็นเอกราชได้สำเร็จ และได้วางตัวเป็นรัฐกลาง เพื่อสร้างข้อจำกัดทางทหารกับรัสเซียและประเทศอื่น ๆ แต่สิ่งที่ยูเครนได้รับกลับมาจากการเข้าร่วมสหภาพโซเวียตยังคงหลงเหลือไว้ นั่นก็คือหัวรบนิวเคลียร์ จำนวนกว่า 1,250 หัว ที่กลายมาเป็นข้อพิพาทสำคัญในเวลาต่อมา
เนื่องจากนานาชาติต้องการให้ทำลายทิ้ง เพราะกลัวจะเป็นภัยต่อความมั่นคง แต่ในขณะเดียวกัน ชาวยูเครนบางส่วนกลับมองว่า นี่คือข้อต่อรองชั้นดีที่จะทำให้ยูเครนปลอดภัยจากการถูกรุกราน จนต่อมาได้มีการเซ็นสนธิสัญญา ข้อตกลงบูดาเปสต์ เพื่อเป็นคำมั่นให้ยูเครนกำจัดหัวรบทิ้ง แลกกับเอกราช และเศรษฐกิจที่เดินหน้าต่อไป ท่ามกลางความคิดเห็นที่แยกเป็นสองฝ่ายของประชาชนทั่วประเทศ
| การเมืองยูเครน และการเข้ามาของรัสเซีย สร้างชนวนสงคราม
แม้ว่ายูเครนจะได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ดูเหมือนการเมืองภายในประเทศนั้นจะมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา เพราะคนในประเทศได้แตกเสียงออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่อยากเห็นการเติบโตของประเทศในทิศทางของตัวเอง และฝ่ายที่ยังฝักใฝ่รัสเซีย เนื่องจากมีความผูกพันในเชิงวัฒนธรรมและอดีตร่วมกันตั้งแต่ก่อนราชวงศ์โรมานอฟล่มสลาย ตลอดจนในช่วงรุ่งเรืองของสหภาพโซเวียต
ในส่วนของเศรษฐกิจก็ร้อนระอุไม่ต่างกัน เนื่องจากยูเครนเป็นประเทศรอยต่อระหว่างรัสเซียและทวีปยุโรป ทั้งยังมีท่อส่งก๊าซที่สำคัญ ซึ่งเป็นรายได้หลักของรัสเซียตั้งอยู่ด้วย การตัดสินใจทางการเมืองหรือเศรษฐกิจใด ๆ ของยูเครน จึงเป็นที่กังวลและจับตามองของรัสเซียเสมอ รวมถึงข้อตกลงที่ EU หรือ สหภาพยุโรป เสนอให้ยูเครนเข้าร่วมด้วยเช่นกัน
เนื่องจากรัสเซียต้องการให้ยูเครนอยู่กับตัวเองใน EAEU ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจของรัสเซียเช่นเดิม แต่นับเป็นโชคดีของรัสเซีย ที่ประธานาธิบดีคนก่อน ๆ ของยูเครนนั้นชื่นชอบฝั่งรัสเซียมากกว่า ทำให้วิคเตอร์ ยานูโควิช ประธานาธิบดีของยูเครนในปี 2014 ปัดตกข้อเสนอของ EU ทิ้งไป ท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชนจำนวนมาก เพราะถือเป็นการทำลายโอกาสทางเศรษฐกิจและความหวังของคนรุ่นใหม่ในอนาคต และในปีเดียวกันนั่นเอง วิคเตอร์ ยานูโควิช ถึงคราวต้องลงจากตำแหน่ง และลี้ภัยไปอยู่รัสเซีย เนื่องจากเกิดการปฏิวัติและการลุกฮือขึ้นมาประท้วงของประชาชนทั่วประเทศ
จากการแสดงออกของยูเครนในคราวนั้น ทำให้รัสเซียเริ่มรุกล้ำเข้ามามากกว่าที่เคย เนื่องจากมองว่ายูเครนไม่ได้ต้องการอยู่ข้างเดียวกับรัสเซียอีกแล้ว ทำให้ประธานาธิบดีปูตินประกาศยึดพื้นที่ ไครเมีย ของยูเครน โดยอ้างว่าต้องการให้ไครเมียกลับมาเป็นของรัสเซียอีกครั้ง ซึ่งสาเหตุที่ทำการยึดพื้นที่ตรงนี้ นั่นก็เพราะว่าไครเมีย เคยเป็นดินแดนที่รัสเซียมอบให้ยูเครน เพื่อฉลองความสัมพันธ์ในอดีต สมัยที่ยังอยู่ด้วยกันในสหภาพโซเวียต
ทั้งยังเปิดให้ผู้คนในไครเมียโหวตเลือกว่าจะอยู่กับฝ่ายไหน ก่อนจะทราบผลในเวลาต่อมาว่า ผู้คนในไครเมียเกือบ 97% อยากอยู่ข้างรัสเซียมากกว่ายูเครน เป็นเหตุให้อีก 2 เมืองใหญ่ในยูเครนต้องการที่จะได้รับทางเลือกให้ออกจากยูเครนด้วย ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากทางการฝั่งรัสเซีย ทั้งนี้การกระทำของรัสเซีย ถูกมองว่าเป็นการรุกล้ำอำนาจอธิปไตยและการเมืองของประเทศอื่น จนทำให้รัสเซียถูกคว่ำบาตรออกจาก G8 ซึ่งเป็นกลุ่มรวมผู้นำชาติมหาอำนาจของโลก นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
| รู้จัก NATO ฟางเส้นสุดท้าย ก่อนเกิดสงคราม
เชื่อว่าจะต้องไม่มีใครไม่เคยได้ยินคำว่า NATO เพราะนี่คือชื่อย่อของ North Atlantic Treaty Organization หรือ องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ ซึ่งเป็นองค์การที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 1949 เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันหากประเทศสมาชิกมีภัยสงคราม หรือถูกโจมตีด้วยอาวุธ โดยจุดเริ่มต้นของ NATO นี้ สืบเนื่องมาตั้งแต่ภัยคุกคามในอดีต ช่วงที่สหภาพโซเวียตเรืองอำนาจ และเป็นภัยคุกคามต่อยุโรป มีสมาชิกเริ่มต้นองค์การเพียงแค่ 12 ประเทศเท่านั้น และแม้ว่าหลังจากนั้น โซเวียตจะล่มสลายไปแล้ว แต่องค์การ NATO ก็ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน โดยมีจำนวนสมาชิกอยู่ที่ 30 ประเทศ
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ NATO เข้ามาเป็นปัจจัยในการสู้รบของรัสเซีย นั่นก็เพราะว่าประธานาธิบดีคนปัจจุบันของยูเครน ซึ่งก็คือ วอลอดือมือร์ แซแลนสกึย ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงขาดร้อยกว่า 73% นั้น ต้องการจะเข้าร่วม NATO นั่นเอง โดยมองว่านี่คือหนทางการเปิดประตูเพื่อความเจริญและเศรษฐกิจของยูเครน ทั้งยังจะได้ 30 ประเทศสมาชิกมาเป็นพันธมิตรของประเทศอีกด้วย
แต่การกระทำนี้เปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้ผู้นำของรัสเซียตัดสินใจเคลื่อนทัพ เพราะมองว่าการที่ยูเครนเข้าร่วม NATO ถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัสเซีย เนื่องจากยูเครนเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของรัสเซีย ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและความปลอดภัย นอกจากนี้ รัสเซียยังเคยส่งจดหมายถึง NATO ให้ปัดคำขอเข้าองค์การของยูเครนทิ้ง แต่ NATO ปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า ยูเครนมีเอกราชและอำนาจอธิปไตยเป็นของตัวเอง มีสิทธิ์เด็ดขาดที่จะเข้าหรือไม่เข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาใด ๆ ก็ตาม ภายใต้การตัดสินใจของตนเอง เป็นเหตุให้รัสเซียตัดสินใจเคลื่อนทัพไปตามพรมแดนของยูเครนตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา จนเกิดเป็นสงครามขนาดย่อมในยูเครนนับตั้งแต่นั้น โดยประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวโดยสรุปได้ว่า หากยูเครนเข้าร่วม NATO อาจเกิดการปะทะเพราะต้องการเอาไครเมียคืน และสร้างความไม่มั่นคงให้กับรัสเซียได้ เพราะไครเมียเป็นเหมือนฉากกั้นที่เป็นปราการเบื้องต้นของรัสเซีย ทั้งยังอาจเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจ และอนาคตของรัสเซียได้เช่นกัน
จบกันไปแล้วนะคะ กับการพาไป ไขข้อสงสัย ข้อได้เปรียบ เสียเปรียบระหว่าง กองทัพ รัสเซีย ยูเครน นอกจากนี้ ยังรวบรวมมาให้ทั้งข้อมูลความสัมพันธ์ และชนวนเหตุหลักที่ทำให้เกิดสงครามขึ้นในปี 2022 อีกด้วย แต่ถ้าใครอยากรู้ว่าสถานการณ์ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ก็ต้องคอยติดตามความคืบหน้ากันต่อไป พร้อมกับ The Thaiger Thailand นะ ?
เรื่อง : ชนกนันท์ สังข์เอียด
บรรณาธิการ : ทศพล ถิรเจริญสกุล
? ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน The Thaiger
? Google Play Store
? App Store