ข่าวผู้ชายผู้หญิงไลฟ์สไตล์

เครื่องจับเท็จ คืออะไร ทำงานยังไง น่าเชื่อถือแค่ไหน มาดูกัน

กระบวนการค้นหาความจริงจากมนุษย์ นอกจากการไต่ถามข้อมูลและสอบข้อเท็จจริงแล้ว ยังมีอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่จะช่วยตามหาความจริงได้ เครื่องจับเท็จ คืออะไร? อุปกรณ์นี้ที่นิยมใช้ในการสืบสวนและสอบสวน สามารถจับโกหกได้จริงหรือไม่ เชื่อถือได้เพียงใด หลายครั้งที่เราได้ยินชื่อนี้ แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไรกันแน่ มาตามหาความจริงของเครื่องจับเท็จไปพร้อมกับ The Thaiger กันเลย

เครื่องจับเท็จ คืออะไร

เครื่องจับเท็จ (Lie Detector) หรือ เครื่องโพลีกราฟ (Polygraph) จะอ่านและบันทึกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายของบุคคลที่เข้ารับการทดสอบด้วยกระแสไฟฟ้า โดยจะแปลงปฏิกิริยาต่าง ๆ ออกมาเป็นเส้นกราฟ จะดูประกอบกันทั้งชีพจร ความดันโลหิต การเปลี่ยนแปลงทางผิวหนัง (เหงื่อ) ความเข้มข้นของโลหิตบริเวณปลายนิ้ว และอัตราการหายใจว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ประยุกต์มาจากเครื่องมือทางการแพทย์อีกทีหนึ่ง เปอร์เซ็นต์ความแม่นยำค่อนข้างกว้างอยู่ที่ 50 – 99%

ดังนั้นเครื่องจับเท็จหรือเครื่องจับโกหก จึงไม่ใช่เครื่องมือที่ใช้จับโกหกจริง ๆ แต่เป็นเพียงการให้ข้อมูลที่ตาคนไม่อาจมองเห็น เพื่อนำไปประกอบการพิจารณากับส่วนอื่นว่าผู้เข้าเครื่องจับเท็จให้ข้อมูลที่เป็นจริงหรือไม่

เครื่องจับเท็จ

เครื่องจับเท็จทำงานยังไง

เมื่อเริ่มสืบสวนด้วยเครื่องมือจับเท็จ จะมีการวางตัวรับสัญญาณชีพบนร่างกายของผู้ถูกทดสอบประมาณ 4 – 6 จุด โดยผู้ทดสอบจะมีการถามคำถามทดสอบ ซึ่งอาจเป็นคำถามที่เป็นกลาง เพื่อตรวจดูว่าเครื่องสามารถจับสัญญาณชีพของผู้รับการทดสอบได้หรือยัง จากนั้นจะเริ่มถามคำถามจริงที่เกี่ยวข้อง โดยตลอดเวลาที่มีการตอบคำถาม สัญญาณชีพที่มาจากร่างกายของผู้ถูกทดสอบทั้งหมด จะถูกบันทึกเป็นเส้นกราฟและแสดงผลบนคอมพิวเตอร์

สำหรับการอ่านผลว่าผู้เข้ารับการทดสอบพูดเท็จหรือไม่ ก็จะนำสัญญาณชีพจรตลอดช่วงที่เข้าเครื่องจับเท็จ มาอ่านเปรียบเทียบว่ามีช่วงใดที่ร่างกายของผู้เข้ารับการทดสอบมีการเปลี่ยนแปลง เช่น หัวใจเต้นเร็วขึ้นกว่าเดิม ความดันเลือดเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น

เครื่องจับเท็จ

เครื่องจับเท็จน่าเชื่อถือแค่ไหน

แม้ว่าจะมีการนำเครื่องมือนี้มาใช้ในการสืบค้นหาความจริง แต่ก็ไม่อาจการันตีได้ว่าเครื่องมือนี้มีความแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะตามความเป็นจริงหากมนุษย์ถูกกระตุ้นด้วยเหตุการณ์ที่ไม่คุ้นเคย เกิดความประหม่า แม้ว่าจะเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ร่างกายก็อาจแสดงความตื่นกลัวออกมาได้

ผู้เชี่ยวชาญจึงให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ท้ายที่สุดแล้วการทดสอบก็จะมีการใช้หลักการเชิงจิตวิทยา สรีรวิทยา มาใช้ร่วมกับวิทยาศาสตร์อยู่ดี หากจะอธิบายให้เข้าใจชัดขึ้นก็เหมือนกับคนเราเมื่อกล่าวคำโกหกออกมา และในใจก็รู้ว่าที่ตนพูดเป็นเรื่องโกหก เกิดความขัดแย้งและสับสนภายในใจ ทำให้กลายเป็นความเครียด ความกังวล พอร่างกายกับจิตใจทำงานไม่ตรงกัน สภาพร่างกายก็จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เครื่องจับเท็จที่ใช้สามารถอ่านผลจากส่วนนี้ได้ค่ะ

ว่ากันว่าร่างกายของมนุษย์ไม่สามารถหลอกกันได้ แต่จิตใจนั้นเหนือกว่า มันสามารถควบคุมได้และยากแท้ที่จะหยั่งถึง ดังนั้นแล้วแม้เครื่องจับเท็จจะไม่สามารถชี้ขาดได้ว่าข้อมูลที่ปรากฏเป็นจริงหรือไม่ แต่มันก็ไม่ได้ไร้ประโยชน์เสียทีเดียว เพราะอาจเป็นประตูเล็ก ๆ ที่นำพาไปสู่ความจริงบางอย่างก็ได้นั่นเอง

เครื่องจับเท็จ

อ้างอิงจาก 1 2


? ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน The Thaiger

? Google Play Store

? App Store

Lalita C.

นักเขียนคอนเทนต์ SEO แห่งทีมไทยเกอร์ไทย คลุกคลีกับการเขียนตั้งแต่สมัยเรียน ชอบการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ติดตามข่าวสารจากโลกออนไลน์ นำมาสรุป เล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย ผ่านมุมมองน่าสนใจที่คนมักจะมองข้าม ทั้งข่าวบันเทิง บทความ งานเขียนแนวไลฟ์สไตล์ รวมถึงทุกอย่างที่อยากให้นักอ่านได้รู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button