อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ และในวันนี้ชาวไทยคงให้ความสำคัญกับอุบัติเหตุทางน้ำไม่น้อย ชวนคุณมาดู เสื้อชูชีพ เสื้อพยุงตัว ต่างกันยังไง หลายคนอาจไม่รู้ว่าเสื้อที่แขวนบนเรือไทยไม่ใช่ชูชีพตามชื่อ พร้อมเรียนรู้กฎความปลอดภัยทางน้ำ
เสื้อชูชีพ เสื้อพยุงตัว ต่างกันยังไง
เสื้อพยุงตัว คืออะไร
หลายคนอาจไม่คุ้นหูกับคำนี้เท่าใดนัก แต่ถ้าได้เห็นหน้าตาของมันจะต้องร้องอ๋ออย่างแน่นอน เพราะเสื้อชูชีพที่เราเรียกกันติดปาก จริง ๆ แล้วชื่อของมันคือ “เสื้อพยุงตัว” (Buoyancy Aid) นั่นเองค่ะ โดยเรือส่วนใหญ่ที่ใช้บริการนักท่องเที่ยวหรือผู้โดยสารจะนิยมใช้เสื้อลักษณะนี้ เนื่องจากมีน้ำหนักเบา ใส่แล้วยังเคลื่อนไหวลำบากนัก
แต่ความจริงแล้วนั้นเสื้อพยุงตัวเหมาะกับการใส่เล่นกีฬาทางน้ำ เช่น สกีน้ำ เรือใบ เรือแคนู เรือคายัค เจ็ทสกี มากกว่าการใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิต เพราะหน้าที่ของมันคือช่วยให้ผู้สวมใส่สามารถลอยตัวอยู่เหนือผิวน้ำได้
ข้อควรระวังในการใช้
- ต้องตีขาตลอดเวลาที่สวมใส่เพื่อไม่ให้หน้าคว่ำ
- ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่หมดสติหรือสลบ เนื่องจากมันไม่สามารถช่วยพลิกตัวผู้สวมใส่ให้หงายขึ้นจากผิวน้ำได้ หากผู้สวมใส่ไม่มีสติรู้ตัว การใส่เสื้อพยุงตัวจะไม่สามารถช่วยป้องกันความปลอดภัยได้เท่าใดนัก
- ควรล็อกทุกจุดของเสื้อ โดยเฉพาะ “หางปลา” ซึ่งเป็นสายคล้องช่วยล็อกบริเวณช่วงต้นขา เพราะมันจะช่วยให้เสื้อไม่เคลื่อนออกจากตัวผู้สวมเมื่อเจอกระแสน้ำ แต่คนส่วนใหญ่มักไม่ล็อกเพราะทำให้รู้สึกอึดอัด
เสื้อชูชีพ คืออะไร
เสื้อชูชีพ (Life Jacket) มีขนาดค่อนข้างเทอะทะ เป็นอุปกรณ์สำหรับช่วยชีวิตขณะอยู่ในน้ำได้ดี เพราะมีแรงลอยตัวที่สูงมาก ไม่ว่าผู้สวมใส่จะหมดสติหรือไม่ เสื้อก็จะช่วยพลิกตัวผู้สวมใส่หงายขึ้นจากน้ำ ไม่จม นอกจากนี้ยังสามารถใช้ได้กับทุกสภาพน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเชี่ยวกราก น้ำไหลแรง แม่น้ำ ทะเล แต่เนื่องจากมีราคาที่สูง ดังนั้นเรือบริการที่มีขนาดเล็กบางแห่ง จึงอาจไม่ได้ใช้ชูชีพที่มีมาตรฐาน
ข้อควรระวังในการใช้
- ควรล็อกทุกจุดของเสื้อเช่นเดียวกับเสื้อพยุงตัว
กฎความปลอดภัยทางน้ำ
หลังจากรู้จักความแตกต่างของเสื้อชูชีพและเสื้อพยุงตัวแล้ว เราลองมาเรียนรู้กฎความปลอดภัยทางน้ำกันอีกสักเล็กน้อย โดยกฎนี้สามารถใช้ได้กับทุกแหล่งน้ำที่จะลงเล่นเลยค่ะ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของทุกคน รวมถึงเด็ก ๆ ในความดูแล อย่าลืมทำตามกฎเหล่านี้กันด้วย ดังนี้
- ไม่ควรทานอาหารก่อนลงเล่นน้ำ 30 นาที
- ผู้ปกครองควรดูแลเด็กเล็กที่ลงเล่นน้ำอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้คลาดสายตา
- แม้จะมีห่วงยาง ปลอกแขนพลาสติก แต่ก็ควรดูแลบุตรหลานที่ลงเล่นน้ำตลอดเวลา เพราะอุปกรณ์เหล่านี้ไม่ใช่อุปกรณ์ช่วยชีวิต เป็นเพียงอุปกรณ์ช่วยพยุงเท่านั้น
- ควรลงเล่นน้ำในจุดที่อนุญาตให้เล่นหรือมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลเท่านั้น
- ไม่ควรสวมใส่กางเกงยีนส์หรือกางเกงขายาวเมื่อต้องเดินทางทางน้ำ หรือลงเล่นน้ำ เพราะทำให้เคลื่อนไหวไม่สะดวก
- ถอดเครื่องประดับออกจากร่างกายให้หมดก่อนที่จะลงเล่นน้ำ (แหวน กำไล สร้อย ต่างหู นาฬิกาข้อมือ)
- ไม่ควรล้อเล่นด้วยการแกล้งจมน้ำเด็ดขาด
- สวมใส่เสื้อชูชีพตลอดเวลาที่อยู่บนเรือหรือทำกิจกรรมทางน้ำ
- ควรว่ายน้ำในทิศขนานกับฝั่งเท่านั้น
- ไม่ลงเล่นน้ำหรือว่ายน้ำในช่วงกลางคืน
- ไม่ลงเล่นน้ำหรือว่ายน้ำในช่วงที่ฝนตกหรือมีฝนฟ้าคะนอง
- ไม่ลงเล่นน้ำบริเวณที่มีน้ำขุ่น รวมถึงบริเวณที่ไม่ทราบสภาพใต้น้ำ
- ไม่ควรลงเล่นน้ำ หากมีอาการมึนเมา อ่อนเพลีย หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ
อ้างอิงจาก สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
- ส่อง ประวัติ แตงโม นิดา นางเอกชื่อดัง กับเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจ
- How to วิธีเอาตัวรอดเมื่อจมน้ำ รวมเทคนิคเอาชีวิตรอดเมื่อตกน้ำ รู้ไว้ไม่เสียหาย
? ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน The Thaiger