ไลฟ์สไตล์

พิธีเวียนเทียน อธิบายขั้นตอนที่ถูกต้อง ทำยังไง วันมาฆบูชา 2566

ชวนชาวพุทธมารู้จักกิจกรรมสำคัญ พิธีเวียนเทียน เนื่องในวันมาฆบูชา 6 มีนาคม 2566 เรียนรู้ที่มา ประวัติ รวมถึงขั้นตอนและข้อปฏิบัติสำหรับการเวียนเทียน เพื่อให้สามารถปฏิบัติตนได้ถูกต้องตามหลักการเป็นพุทธมามกะ สายบุญคนไหนกำลังเตรียมตัวจะไปทำบุญเวียนเทียน ก็อย่าลืมทำใจให้ผ่องใสกันด้วย จะได้เปิดประตูใจ รับบุญได้เต็มที่ ไม่ตกไม่หล่นระหว่างทางกันไปเสียก่อน

วันมาฆบูชา หรือ วันจาตุรงคสันนิบาต แต่เดิมนั้นถูกเรียกว่า “วันมาฆปุณณมี” เป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่เหล่าสาวกสงฆ์ 1,250 รูปที่มารวมตัวกันโดยมิได้นัดหมาย

Advertisements

มาฆบูชาตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 6 มีนาคม กิจกรรมสำคัญของวันนี้คือ การเวียนเทียน ทำบุญ ถือศีล นั่งสมาธิ ฟังธรรม ฯลฯ โดยในประเทศไทยเพิ่งจะมีการทำพิธีวันมาฆบูชาในรัชกาลที่ 4 มานี้เอง

พิธีเวียนเทียนวันมาฆบูชา66

พิธีเวียนเทียน วันมาฆบูชา 2566 ข้อแนะนำสำหรับมือใหม่

พิธีเวียนเทียน คืออะไร ไขข้อข้องใจ ทำไมต้องเวียนเทียน

การเวียนเทียน เรียกอีกอย่างว่า “เวียนประทักษิณ” เป็นการเวียนวนขวาตามเข็มนาฬิกา หรือ การเดินเวียนโดยให้สิ่งที่เวียนอยู่ทางขวามือของตัวเรา โดยสิ่งที่เราจะเดินเวียนรอบนั้น อาจเป็นปูชนียวัตถุ หรือ ปูชนียสถาน ก็ได้ และจะเวียนด้วยกันทั้งหมด 3 รอบ

วัตถุประสงค์ของพิธีเวียนเทียน คือ เพื่อประกาศเกียรติคุณ เทิดทูนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกง่าย ๆ ก็คือเป็นการแสดงความเคารพพระพุทธเจ้านั่นเอง อีกทั้งยังเป็นการเตือนใจให้เหล่าพุทธมามกะหรือพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ตระหนักถึงความสำคัญของคุณแห่งพระรัตนตรัยด้วย

Advertisements

ดังนั้นในวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญหนึ่งทางพุทธศาสนา การเวียนเทียนจึงต้องเวียนทางซ้ายของเรา โดยให้โบสถ์อยู่ทางขวามือ ในลักษณะเดินวนตามเข็มนาฬิกานั่นเอง

พิธีเวียนเทียนวันมาฆบูชา66

ขั้นตอนพิธีเวียนเทียน มีอะไรบ้าง

ก่อนจะเข้าสู่พิธีเวียนเทียนสิ่งที่ต้องเตรียมไปด้วยก็คือ จิตใจที่บริสุทธิ์ผ่องใส นึกถึงพระรัตนตรัย หากรู้สึกจิตฟุ้งซ่านก็ให้กำหนดลมหายใจ ภาวนาพุทโธ รวมถึงเตรียมดอกไม้ธูปเทียนตามระเบียบประเพณี เพียงเท่านี้ก็ปฏิบัติตามขั้นตอนด้านล่างนี้ได้เลย

  1. ก่อนเริ่มพิธีเวียนเทียน ประธานสงฆ์พาสาธุชนกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยในวันมาฆบูชา 2566
  2. ขั้นต่อมา อาจมีการแสดงพระธรรมเทศนาก่อนเริ่มเวียนเทียน (เพราะบางครั้ง หากแสดงธรรมหลังเวียนเทียนเสร็จ จะไม่มีใครอยู่ฟัง) ซึ่งขั้นตอนนี้อาจเริ่มเป็นขั้นตอนแรกสุดก็ได้
  3. เข้าสู่ขั้นตอนเวียนเทียนรอบที่ 1 เป็นการระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ในขั้นตอนนี้จะสวดมนต์บท “อิติปิโส ภะคะวา”
  4. รอบที่ 2 เป็นการระลึกถึงคุณของพระธรรม จะสวดมนต์บท “สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม”
  5. รอบที่ 3 เป็นการระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ จะสวดมนต์บท “สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ”
  6. เมื่อทำพิธีเวียนเทียนครบ 3 รอบแล้ว ให้นำดอกไม้ธูปเทียน ไปวางไว้ในจุดที่ทางวัดกำหนด
  7. จากนั้นอธิษฐานจิต และกราบลาพระรัตนตรัย 3 ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี

พิธีเวียนเทียนวันมาฆบูชา66

บทสวดในพิธีเวียนเทียน

ขณะที่พุทธศาสนิกชนเวียนเทียน ให้สวดมนต์ด้วย บทสวดสรรเสริญพระรัตนตรัย หรือ บทสวดอิติปิโส วนไปตลอดขณะที่เดินเวียนรอบโบสถ์ โดยบทสวดจะว่าดังนี้

เวียนเทียนรอบที่ 1

นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)

อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ
วิชชาจะระณะสัมปันโน สุขโต โลกะวิทู
อนุตตะโร ปุริสสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ

เวียนเทียนรอบที่ 2

สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก
โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูฮีติ

เวียนเทียนรอบที่ 3

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐปุริสปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเนยโย อัญชะลีกะระณีโย
อนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ

พิธีเวียนเทียน 2566

พิธีเวียนเทียน ประโยชน์ และ อานิสงส์ของการเวียนเทียน

หากเราเป็นชาวพุทธก็จะได้ชื่อว่าเป็นพุทธมามกะที่ดี เพราะปฏิบัติตนตามหลักทางพระพุทธศาสนา แสดงถึงความศรัทธาที่มีต่อพระรัตนตรัย อีกทั้งยังได้สั่งสมบุญบารมีอันเกิดจากการให้ทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา อันจะส่งผลให้ได้รับโภคสมบัติ รูปสมบัติ และปัญญาสมบัติสืบไป และยังได้ชื่อว่าได้บูชาพระรัตนตรัยด้วยการบูชาอย่างยิ่ง ย่อมได้มงคลในชีวิตตลอดไป

การได้เวียนเทียนในวันมาฆบูชานั้น ถือได้ว่าพุทธศาสนิกชนจะได้บูชาพระรัตนตรัยทั้ง 2 อย่าง คือ อามิสบูชา (การบูชาด้วยสิ่งของ เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น) และ ปฏิบัติบูชา (บูชาด้วยการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน เช่น การสวดมนต์ ฟังเทศน์ เป็นต้น)

นับว่าเป็นการสั่งสมบุญใหญ่ ยิ่งถ้าหากเราสามารถรักษาใจให้ผ่องใส และระลึกถึงบุญได้ก่อนจะถึงวันมาฆบูชา ในระหว่างวัน และหลังวันมาฆบูชา ย่อมจะทำให้บุญที่ได้ทำมานั้นทับทวีคูณเพิ่มมากขึ้น

พิธีเวียนเทียนวันมาฆบูชา66

ความสำคัญของ พิธีเวียนเทียน ชาวพุทธต้องรู้เวียนวันไหนบ้าง

จริง ๆ แล้ว พิธีเวียนเทียนไม่ได้จัดขึ้นแค่ในวันมาฆบูชาเท่านั้น ข้อมูลจากกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม และเว็บไซต์ธรรมะไทย อธิบายไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นกุศลพิธีอย่างหนึ่ง ที่พุทธบริษัทพึงปฏิบัติในเบื้องต้นอย่างสามัญ

พิธีกรรมเวียนเทียนนั้น สามารถทำได้ในวันสำคัญทางศาสนา 4 วันด้วยกัน คือ วันมาฆบูชา, วันวิสาขบูชา, วันอาสาฬหบูชา, วันอัฐมีบูชา (วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)

ดังนั้น หากมีโอกาสและสามารถจัดงานภายในวัดได้ ก็อยากจะขอเรียนเชิญผู้มีบุญทุกท่านร่วมประกอบพิธีเวียนเทียน ให้ครบทุกวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

หากใครไม่สะดวกก็สามารถเข้าร่วมเวียนเทียนแบบออนไลน์ได้ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ และที่สำคัญอย่าลืมนึกถึงคุณของพระรัตนตรัยอันเป็นแก่นแท้ของการประกอบพิธีด้วย

พิธีเวียนเทียน 2566

แนะนำเว็บไซต์เวียนเทียนออนไลน์ พิธีเวียนเทียน 2566

1. สนุกสายบุญ เวียนเทียนออนไลน์ คลิกที่นี่

2. เวียนเทียนออนไลน์.com คลิกที่นี่

พิธีเวียนเทียน 2566

อ้างอิง : dmc.tv watnyanaves.net

Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button